จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา พบว่า ขยะมูลฝอยชุมชนมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในรอบสองปีที่ผ่านมา คนไทยสร้างขยะเฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน
ในจำนวนนั้น หากเปลี่ยนปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการกำจัด ทั้งการกลบและเผาทำลาย ขยะเหล่านั้นก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 0.5 กก. CO₂e
แม้ดูเป็นตัวเลขที่น้อยนิด แต่หากเปลี่ยนจากเป็นวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี เปลี่ยนจากเรื่องราวส่วนบุคคล เป็นครอบครัว เป็นชุมชน จังหวัด และประเทศ แม้จะมาจาก ‘ขยะเล็กน้อย’ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาระดับโลก
เพราะการปล่อยแม้เพียงเล็กน้อย หากทำพร้อมกันทั้งประเทศ ต่อให้รณรงกันปลูกต้นไม้ (และลงมือทำจริงแค่ไหน) ธรรมชาติก็คงช่วยไว้ไม่ไหว
…
มิถุนายน 2568 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เปิน และโรงเรียนอนุบาลแม่เปิน ในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเริ่มต้นดำเนินโครงการ ‘ชุมชนแม่เปิน Low Carbon’
หลักการของโครงการว่าด้วยเรื่อง ‘การลดปริมาณขยะในชุมชน’ ตำบลแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ให้เป็นระบบ ผ่านกระบวนการจัดการในรูปแบบธนาคารขยะ ที่จะตั้งขึ้นในโรงเรียนอนุบาลแม่เปิน
มีเป้าหมายปลายทาง เพื่อสร้างการจัดการขยะอย่างถูกวิธี มีเรื่องราวระหว่างทาง เช่น การแยกขยะ การส่งต่อไปยังปลายทาง การจัดการกองทุนใช้สอย ที่สุดท้ายจะไม่พบขยะระเกะระกะ หรือไม่ไปจบที่หลุมฝังกลบเป็นกองพะเนินเทินทึก
และที่สำคัญในท้ายที่สุด ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากภาคขยะ หนึ่งในตัวการวิกฤตโลกรวน โดยสามารถคำนวนออกมาเป็นตัวเลขได้ ว่าลดไปเท่าไหร่
ยุทธนา เพชรนิล หัวหน้างานป่าอนุรักษ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนแม่เปิน Low Carbon เล่าที่มาของโครงการว่า แผนงานหรือโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างความพร้อมรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ HSBC
“มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการจัดการอย่างเป็นระบบ และการสร้างแรงจูงใจในการจัดการขยะ เช่นการคัดแยกขยะ การรีไซเคิลขยะ นำไปสู่การจัดตั้ง ธนาคารขยะ และกองทุนธนาคารขยะในโรงเรียน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เยาวชนในระยะยาว ในการกำจัดขยะแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบที่ยั่งยืน จึงได้ร่วมกันพัฒนาโครงการ ‘ชุมชนแม่เปินคาร์บอนต่ำ’ โดยเริ่มดำเนินโครงการ ตั้งแต่ ปี 2568 – 2569 เพื่อส่งเสริมให้เครือข่ายชุมชนและโรงเรียน โดยเฉพาะพื้นที่โรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งคือโรงเรียนอนุยบาลแม่เปิน ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 600 คน นั้นหมายถึงมีเยาชนอย่างน้อย 600 ครอบครัวอยู่ในกลุ่มเป้าหมาย โครงการดังกล่าว” ยุทธนาเล่า
…
โครงการชุมชนแม่เปิน Low Carbon ทำอะไรบ้าง ?
ยุทธนา ผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบายว่า โครงการนี้เน้นไปในเรื่องการจัดการขยะที่ต้นทาง แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย เรื่องแรก การจัดการขยะและหมุนเวียนนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ของขยะที่ทำการคัดแยกอย่างเป็นระบบ ในรูปแบบธนาคารขยะ
โดยมีผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจในการสร้างความร่วมมือ เพื่อพัฒนาและต่อยอดเยาชนในโรงเรียน และชุมชนให้ได้ดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สร้างการมีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกสาธารณะในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ที่สาธารณะ ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน
“ในตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดตั้งธนาคารขยะที่โรงเรียนอนุบาลแม่เปิน ที่ต้องตั้งกองทุน ออกแบบหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น การปันผลกำไร ไปจนถึงเรื่องการจัดทำบัญชีรับฝาก ขาย รวมถึงการจัดประชุมอบรมวิธีบริหารจัดการทีมบริหารธนาคาร ขยะ ของทีมบริหารจัดการนักเรียน ครู ที่ต้องออกแบบร่วมกับทางโรงเรียน”
ส่วนเรื่องการจัดการขยะ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เปิน รับอาสาเป็นผู้รับผิดชอบ หาแหล่งรับซื้อที่มีปลายทางกำจัดขยะอย่างถูกต้อง แต่ถ้าให้ดียิ่งกว่า คือหนทางนำไปสู่การรีไซเคิลเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯให้ได้มากที่สุด
สำหรับกิจกรรมส่วนที่สอง เป็นงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รับเป็นเจ้าภาพหลัก คือ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ
ภารกิจงานคือ โดยส่งเสริมให้ชุมชน และสถานศึกษาได้มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในเรื่องต่างๆ อาทิ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และมีการจัดการขยะหมุนเวียนเป็นทรัพยากรนำกลับมาใช้ใหม่ สนับสนุนให้โรงเรียนอนุบาลแม่เปินและชุมชนอำเภอแม่เปินเป็นพื้นที่คาร์บอนต่ำ จนไปสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำในที่สุด
โดยสุดท้ายจะมีการตรวจวัดปริมาณคาร์บอนจากการจัดการขยะและการรีไซเคิลขยะอย่างเป็นระบบ
…
หมายเหตุ : ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 -วันที่ 1 กรกฎาคม 2569
อ้างอิง
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม