สร้างเรือนเพาะชำที่บ้านคลองแบ่ง จุดเริ่มต้นงานฟื้นฟูระบบนิเวศแนวกันชนผืนป่าตะวันตก

สร้างเรือนเพาะชำที่บ้านคลองแบ่ง จุดเริ่มต้นงานฟื้นฟูระบบนิเวศแนวกันชนผืนป่าตะวันตก

วันที่17-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ บ้านคลองแบ่ง ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ สร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้  เพื่อเตรียมการรองรับกล้าพันธุ์ไม้ที่จะนำมาปลูกเพื่อฟื้นฟูแนวลำห้วยลดการชะล้างพังทลาย 

โดยมีเป้าหมายของต้นไม้ที่ทำการปลูก ประกอบไปด้วย กล้าไผ่ซางหม่น ไผ่ข้าวหลามกาบแดง เมล็ดผักหวาน ต้นไม้สัก ไม้ยางนา และพันธุ์ไม้ตามมาตรา 7 อีกจำนวนหนึ่ง 

จากการประชุมหารือร่วมกับชาวบ้านได้ข้อสรุปว่าจะทำการสร้างโรงเพาะชำบริเวณใกล้แหล่งน้ำชุมชน เพื่อเตรียมสำหรับนำพันธุ์กล้าไม้มาปลูกในโรงเพาะชำ และนำพันธุ์ไม้เหล่านั้นไปปลูกตามแนวริมตลิ่ง โดยมีจุดศูนย์กลางเริ่มจาก อาคาร ศาลาร้านค้าชุมชนไปทางทิศเหนือและใต้ด้านละประมาณ 4 กม.รวมระยะทางทั้งสิ้น 8 กม. เพื่อลดการชะล้างการพังทะลายของหน้าดินแนวริมตลิ่ง ซึ่งส่งผลเกิดความเสื่อมโทรมและทำให้แหล่งอาหารตามธรรมชาติหายไป

โดยกิจกรรมนี้ดำเนินการภายใต้โครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก (HSBC) ซึ่งสนับสนุนการสร้างโรงเพาะชำกล้าไม้ในชุมชน และจัดซื้อจัดหากล้าไม้ที่ชุมชนต้องการมาส่งเสริมการปลูก 

กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและชาวบ้านเป็นอย่างดี จึงนับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการฟื้นฟูลำห้วยคลองแบ่ง ให้กลับมามีชีวิตดังเช่นที่มาของชื่อ “คลองแบ่ง (ข้าวกันกิน)” ให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นที่พักเหนื่อยระหว่างการเดินทางไปทำงานและหาข้าวปลาอาหารกันอีกครั้ง

อนึ่ง ลำห้วยคลองแบ่ง เป็นลำห้วยสาขาหนึ่งของแม่น้ำแม่วงก์ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่งของประเทศไทย 

ผู้เขียน สุธาสินี  นุกูลกิจ เจ้าหน้าที่ออกแบบมูลนิธิสืบนาคะเสถียร