แนวเชื่อมป่า 2 หมื่นไร่ เขาสนามเพรียง-คลองวังเจ้า ภารกิจเชื่อมต่อป่าเพื่อสัตว์ป่าและเกื้อหนุนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

แนวเชื่อมป่า 2 หมื่นไร่ เขาสนามเพรียง-คลองวังเจ้า ภารกิจเชื่อมต่อป่าเพื่อสัตว์ป่าและเกื้อหนุนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

แนวเชื่อมต่อป่าหากเปรียบเทียบง่าย ๆ อาจไม่ต่างกับรูปแบบการทำงานของสะพาน ซึ่งมีหน้าที่ในการเชื่อมคนสองฝั่งให้สามารถไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับแนวเชื่อมต่อป่าที่สร้างขึ้นเพื่อให้สัตว์ป่าน้อยใหญ่ได้ไปมาหาสู่ระหว่างกัน

แนวเชื่อมต่อสำหรับสัตว์ป่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ระบบนิเวศป่าไม้สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เพราะการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าจากป่าพื้นที่หนึ่งไปยังป่าอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่ได้ส่งเสริมแค่เฉพาะเรื่องการขยายพันธุ์สัตว์ป่าเท่านั้น แต่พืชพรรณที่เป็นอาหารสัตว์ป่าก็จะมีโอกาสในการแพร่พันธ์ุอีกด้วย

ภารกิจของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในครั้งนี้คือการผนวกรวมทั้งสองผืนป่าเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการจัดการพื้นที่ป่าสงวนและแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สะพานที่จะเชื่อมต่อผืนป่าระหว่างเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าเขาสนามเพรียง และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าเข้าด้วยกัน โดยแบ่งเป็นพื้นที่ 3 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าชุมชน และพื้นที่ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ (พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน) รวมพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 20,000 ไร่

ผ่านการทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ องค์กรส่วนท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหนองบัวสามัคคี ชุมชนหนองแดน ชุมชนปางขนุน และชุมชนบ้านไร่พิจิตร อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ระหว่างกลาง เขาสนามเพรียง-คลองวังเจ้า จำนวน 6,000 ไร่ โดยจะยกระดับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้หันมาปลูกไม้ผล หรือไม้เศรษฐกิจ เพื่อปิดพื้นที่โล่งกว้างในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวตลอดทั้งปี

ในปีนี้โครงการอยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูลชุมชน เพื่อสำรวจพื้นที่และประเมินศักยภาพของชาวบ้านในการส่งเสริมการปลูกไม้ผลและไม้เศรษฐกิจ ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้จะดูความพร้อมในสองด้านหลัก ๆ คือ ความพร้อมของบุคคลและพื้นที่ทำการเกษตร เช่น จำนวนประชากรในครัวเรือน ข้อมูลพืชผลที่กำลังปลูกอยู่ ข้อมูลรายรับ รายจ่าย และหนี้สิน ข้อมูลส่วนที่สอง ด้านพื้นที่ จะดูในเรื่องของแหล่งน้ำและสภาพหน้าดิน ว่าเหมาะแก่การปลูกพืชชนิดใดบ้าง เพื่อนำข้อมูลชุดนี้ไปศึกษาความพร้อมของชาวบ้านอีกครั้ง

นายยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า เมื่อได้ข้อมูลชุดนี้แล้ว จะมีการจัดกลุ่มตามความพร้อมของแต่ละบุคคล เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งเสริมอาชีพต่อไป เช่น กลุ่มที่พร้อมที่สุดจะสามารถปลูกพืชพันธุ์ได้เลย ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า (ปี 2564) ส่วนกลุ่มที่มีความพร้อมน้อยลงมาก็จะส่งเสริมเรื่องแหล่งน้ำ ปรับปรุงดิน คู่ขนานกันไป

นายยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

นายบัญญัต ยอดนวล หนึ่งในชาวบ้านบ้านหนองบัวที่เข้าร่วมโครงการ ระบุว่า ในปีนี้ทดลองเข้าร่วมโครงการเพียง 1 ไร่เท่านั้น สนใจปลูกต้นไผ่แซมในไร่กล้วยที่ปลูกเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากต้นกล้วยสามารถให้ผลผลิตที่สมบูรณ์เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น หลังจากนั้นจำเป็นต้องตัดทิ้งเพราะมีหนอนกอเข้ามากัดกิน กล้วยที่ได้จะไม่สมบูรณ์ ไม่คุ้มค่าต่อการซื้อขาย โดยพื้นที่ที่นายบัญญัตเลือกเข้าร่วมโครงการ คือบริเวณหลังสวน ติดกับแหล่งน้ำและเขาคุด ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน

ด้านนางพยอม หลั่งอุทก มีพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ สนใจเข้าร่วมโครงการ 3 ไร่ พื้นที่ทำกินส่วนใหญ่จะปลูกมันสำปะหลังและลำไย นางพยอม ระบุว่า หากทางโครงการจะช่วยเหลือพันธุ์ไม้ อยากได้เป็นต้นไผ่ ซึ่งปลูกแซมเข้าไปในสวนมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพืชเชิงเดี่ยว เก็บเกี่ยวครั้งเดียว หลังจากนั้นพื้นที่ก็จะรกร้างว่างเปล่า จนกว่าจะมีความพร้อมในการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป หากมีการปลูกต้นไผ่แซมเข้าไป จะสามารถปล่อยให้ต้นไผ่โตไปอีกได้ เพราะไผ่ใช้เวลา 3 ปี กว่าจะเก็บผลผลิตไปขาย ระหว่างนี้ก็สามารถหมุนเวียนปลูกพืชอื่น ๆ ทดแทน

นายนริศ บ้านเนิน ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่คุ้มครอง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า พื้นที่ใน 4 ชุมชน (ชุมชนหนองบัวสามัคคี หนองแดน ปางขนุน และบ้านไร่พิจิตร) เป็นพื้นที่ คทช. ในลุ่มน้ำชั้น 3 ของกรมป่าไม้ ที่ชาวบ้านสามารถทำกินได้ตามกฎหมาย ตามนโยบายของกรมป่าไม้พยายามผลักดันให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โครงการนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะยกระดับพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่ป่า โดยไม่กระทบกับปากท้องของชาวบ้าน

“เจตนาคือเราจะร่วมกับชุมชนในการฟื้นฟูพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นป่าเศรษฐกิจ สองคือเกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างปกติ สุดท้ายคือให้พื้นที่ตรงนี้มีความเชื่อมโยงกันด้านระบบนิเวศ อาจไม่ถึงกับมีสัตว์ป่าเดินผ่าน แต่ระบบนิเวศเกิดการเกื้อกูลกันโดยอัตโนมัติ อย่างเช่นมีผีเสื้อ หรือนกบางชนิดจากเขาสนามเพรียงบินเข้าไปในป่าเศรษฐกิจที่ชุมชนทำกินอยู่มันก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว” นริศกล่าว

 


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร