เตรียมความพร้อมการเก็บข้อมูลชุมชน เพื่อรักษาบ้านของสัตว์ป่า

เตรียมความพร้อมการเก็บข้อมูลชุมชน เพื่อรักษาบ้านของสัตว์ป่า

8 – 9 มีนาคม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การเก็บข้อมูลชุมชน แก่เจ้าหน้าที่องค์กร เจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันออก และชุมชน เพื่อเรียนรู้วิธีการสังเกตและศึกษาพฤติกรรมและผลกระทบจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ นำไปสู่การบริหารจัดการเพื่อรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลก

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การเก็บข้อมูลชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตามแผนงานยุทธศาสตร์ที่ 7 ขององค์กร ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการสำคัญในการทำโครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก (โครงการเสือ) ดำเนินการโดย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program หรือ UNDP) ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รับมอบหมายมาจัดการดูแลร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยเป็นการรวมทั้ง 2 แผนกิจกรรมมาไว้ในงานเดียวกัน

รูปแบบของกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การเก็บข้อมูลชุมชน เป็นการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรื่องของการศึกษานิเวศและการเก็บข้อมูลชุมชน โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนคือ (1) เก็บข้อมูลของสัตว์ป่าเป็นการศึกษาระบบนิเวศ ประเภทสัตว์ป่า จากการจำแนกรอยเท้าสัตว์ ร่องรอยสัตว์ป่า (2) กิจกรรมมนุษย์ คือ สังเกตการจำแนกกิจกรรมมนุษย์ในชุมชน

ผู้เข้าร่วมอบรมประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และอาสาสมัครและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจาก 7 กลุ่มบ้านในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ดำเนินการฝึกอบรมโดย ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ นักวิชาการป่าไม้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนงานวิชาการการ ซึ่งเคยผ่านการทำดุษฎีนิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลชุมชนในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกมาก่อน

ขั้นตอนการอบรมประกอบไปด้วยการเรียนรู้ทั้งทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งการศึกษาแบบฟอร์มบันทึกข้อมูล (Data Sheet) ทำความเข้าใจลักษณะพื้นฐานของข้อมูลสัตว์ป่า กิจกรรมภายในชุมชน ภัยคุกคามรอบชุมชน ไปจนถึงกระบวนการบันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม แล้วจึงลงพื้นที่ทดสอบความเข้าใจตามที่ได้อบรมมา เก็บข้อมูลรอยเท้าสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม กองมูล ชนิดสัตว์ป่า ประเภท จำนวน ความเก่าใหม่ของร่องรอย การกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) การกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มบันทึกข้อมูล รวมถึงและหาข้อบกพร่องเพื่อปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปปฏิบัติงานจริง

ดังที่กล่าวไปการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้สอดรับกับกิจกรรมของโครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้กำหนดแผนงานที่จะเก็บข้อมูลในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกใน 2 มิติใหญ่ๆ ประกอบไปด้วย

การเก็บข้อมูลกิจกรรมมนุษย์ในชุมชน ว่าประกอบอาชีพอะไร ดำรงชีพอย่างไร ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าเป็นอย่างไร หรือมีการดำรงชีพอย่างไร ซึ่งตรงตามยุทธศาสตร์ของมูลนิธิสืบฯเรื่องการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนทำให้สามารถวางแผนงานได้ว่าควรหยิบวิสาหกิจอะไรเข้าไปเติมในชุมชนได้ เพื่อที่จะแก้ไขปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชุมชนไม่ให้เสื่อมหายไป เป็นการศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนว่าสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้จริงหรือไม่

อีกส่วนคือ การเก็บข้อมูลด้านภัยคุกคาม ผลกระทบต่อจำนวนประชากรสัตว์ป่าและพื้นที่ป่า จะได้ข้อมูลเพื่อนำมาวางแผนการทำงานได้อย่างถูกต้องโดยใช้ข้อมูลที่ได้มาด้วยกระบวนการที่ได้รับการยอมรับตามหลักวิชาการ ระดับประเทศ

สำหรับการดำเนินการเก็บข้อมูลชุมชน มูลนิธิสืบนาคะเสถีรจะเริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก 2 ครั้ง แบ่งเป็นช่วงฤดูร้อน และฤดูฝน ในฤดูร้อนจะเริ่มเก็บข้อมูลปลายเดือนมีนาคมนี้ ส่วนการเก็บข้อมูลในฤดูฝนจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม

เหตุที่ต้องเก็บข้อมูลในทั้ง 2 ช่วงฤดู เนื่องมาจากแต่ละฤดูกาลจะแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างฤดูร้อนกับฤดูฝนว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นตัวกำหนดปัจจัยของการเกิดกิจกรรมมนุษย์หรือไม่ ส่วนด้านสัตว์ป่าจะส่งผลต่อการวิเคราะห์ว่าจำนวนประชากรสัตว์ป่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามช่วงเวลาที่มีกิจกรรมมนุษย์แตกต่างกันมีผลกระทบที่แตกต่างกัน

สำหรับกิจกรรมที่กล่าวมาทั้งการฝึกอบรมไปจนถึงการนำความรู้ที่ได้ไปเก็บข้อมูลจริง ตลอดจนเมื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์สังเคราะห์ออกมาเสร็จเป็นที่เรียบร้อย มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีเป้าหมายในภาพใหญ่ว่า ข้อมูลที่ได้จะเป็นงานวิจัยเชิงวิชาการที่สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ หรือในบริบทที่สูงกว่านั้นก็สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อการดูแลรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าต่อไป

 

ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านบัตรสะสมแต้มบางจาก

 


เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร