การเก็บข้อมูลหาความสัมพันธ์ของกิจกรรมมนุษย์และสัตว์ป่า

การเก็บข้อมูลหาความสัมพันธ์ของกิจกรรมมนุษย์และสัตว์ป่า

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทั้ง 7 กลุ่มบ้าน เดินเก็บข้อมูลรอบหมู่บ้านในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เพื่อรวบรวมข้อมูลเหยื่อของเสือโคร่งและความเข้มข้นของกิจกรรมมนุษย์

กิจกรรมนี้เป็นการดำเนินการโครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

จากการอบรม วางแผนการทำงาน และชี้แจงกับชาวบ้าน จึงนำไปสู่การลงมือปฏิบัติงานจริงในวันที่ 21-28 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นการเดินจับพิกัดเขตพื้นที่รอบที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากิน การเดินสำรวจการกระจายของเสือโคร่งและเหยื่อ และตีแปลงสำรวจข้อมูลความเข้มข้นของกิจกรรมมนุษย์

โดยเฉพาะการเดินสำรวจการกระจายของเสือโคร่งและการตีแปลงสำรวจข้อมูลความเข้มข้นของกิจกรรมมนุษย์ในแต่ละหมู่บ้าน ได้จัดแบ่งทีมออกเป็น 10 ทีม ทีมละ 4-7 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก 1-2 คน เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 1-2 คน และ ชรบ.หรือชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นๆ 1-2 คน เพื่อเดินเก็บข้อมูลรอบหมู่บ้านวันละ 7-10 เส้นทางการสำรวจ ซึ่งบางหมู่บ้านอย่างเช่น บ้านยูไนท์และกรูโบ มีถึง 20 เส้นทาง การแบ่งเส้นทางการสำรวจครั้งนี้กระทำในลักษณะคล้ายดาวกระจาย จุดเริ่มต้นเส้นทางการเดินระหว่างเส้นทางห่างกันโดยประมาณ 500 เมตร เพื่อครอบคลุมพื้นที่ และแต่ละเส้นทางมีระยะขจัดอยู่ที่ 5 กิโลเมตร

โดยการเก็บข้อมูลการสำรวจการกระจายของเสือโคร่งและเหยื่อจะมีลักษณะเป็นการรวบรวมข้อมูลเป็นเส้นตรงตามระยะการเดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลพื้นฐานของสัตว์ป่า ทั้งประเภทของป่า ร่องรอยสัตว์ป่า และการเก็บข้อมูลจากการตีแปลงสำรวจความเข้มข้นของกิจกรรมกรรมมนุษย์ในพื้นที่นั้นมีจุดประสงค์เพื่อสังเกตกิจกรรมของชุมชน การดำรงชีพ และการใช้ประโยชน์ของชุมชนว่ามีลักษณะอย่างไร

ตลอดการเดินสำรวจทั้ง 60 เส้นทาง ได้แก่ บ้านยูไนท์ บ้านแม่จันทะใหม่ บ้านแม่จันทะเก่า บ้านทิบาเก บ้านซ่องแปะ บ้านตะละโค่ง และบ้านกรูโบ พบทั้งร่องรอยสัตว์ป่า อาทิ รอยตีนเก้ง รอยมูลกวาง รอยตีนหมี รอยตีนเลียงผา รอยปศุสัตว์ รอยการตัดไม้ไผ่ ปลอกกระสุน เป็นต้น

และการเก็บข้อมูลครั้งต่อไปจะมีขึ้นอีกในช่วงฤดูฝนเพื่อสังเกตความแตกต่างระหว่างฤดูร้อนกับฝนว่าสภาพอากาศนั้นจะเป็นหนึ่งในปัจจัยการเกิดกิจกรรมมนุษย์หรือไม่และกิจกรรมมนุษย์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลถึงสัตว์ป่าที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่หรือไม่อย่างไร

เมื่อเก็บข้อมูลดังกล่าวเสร็จสิ้นจะนำไปสู่การวิเคราะห์ออกมาเป็นงานวิจัยเชิงวิชาการที่จะสามารถนำไปใช้ประเมินได้ว่ากิจกรรมของชุมชนมีความสัมพันธ์อย่างไรกับการใช้ประโยชน์พื้นที่รอบหมู่บ้านของสัตว์ป่าโดยเฉพาะสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งรวมไปถึงงานวิจัยเชิงวิชาการนี้จะสามารถใช้ประเมินการเข้าไปสนับสนุนงานด้านวิสาหกิจชุมชนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ว่าควรมีทิศทางอย่างไรจึงจะสามารถอยู่กับป่าได้โดยยึดโยงผลประโยชน์ของชุมชนและสัตว์ป่าเข้าไว้ร่วมกัน

โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีเป้าหมายในภาพใหญ่ว่า ข้อมูลที่ได้จะเป็นงานวิจัยเชิงวิชาการที่สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อการดูแลรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าต่อไป

 

ร่วมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านช่องทางบัตรเครดิต

 


รายงาน พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร