แรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก

แรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก

28 กุมภาพันธ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ร่วมกับคณะกรรมการชุมชน ประชุมชี้แจง “โครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก” เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

โครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก เป็นโครงการภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งมีกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF4) สนับสนุนงบประมาณ มีเป้าหมายในการสนับสนุนงานพิทักษ์ผืนป่าและถิ่นที่อยู่ของเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลก ผ่านการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน การสร้างแรงจูงใจแก่ชุมชนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นอาชีพสามารถพออยู่พอกินลดการพึ่งพิงป่า ตลอดจนร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปสู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะดำเนินการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตามลำดับ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ วัดแม่จันทะ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, นริศ บ้านเนิน ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่คุ้มครอง, ยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก, Dr.David Jame L. Smith ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลา สัตว์ป่า และชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ จากมหาวิทยาลัย Minnesota, พลวีร์ บูชาเกียรติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการชุมชนทั้ง 7 กลุ่มบ้าน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ประกอบด้วย บ้านยูไนท์ บ้านกรูโบ บ้านแม่จันทะใหม่ บ้านแม่จันทะเก่า บ้านทิปาเก บ้านตะละโคล่ง และบ้านซ่องแป๊ะ ได้หารือกิจกรรมโครงการ ทบทวนแนวพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน คณะกรรมการกติกา สถานการณ์สัตว์ป่า รวมถึงการเก็บข้อมูลพื้นฐานชุมชนเพื่อใช้ในการทำงานร่วมกันต่อไป

รตยา จันทรเทียร กล่าวว่า การที่เราเข้าไปประชุมกับชาวบ้าน เพื่อชี้แจงถึงกิจกรรมโครงการที่จะเกิดขึ้น และชักชวนให้ชาวบ้านให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการเดินสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่ของสัตว์ป่าบริเวณใกล้เคียงหมู่บ้าน การดึงชุมชนเข้ามาร่วมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของงาน และร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและช่วยกันอนุรักษ์ดูแลป่าและสัตว์ป่า

สิ่งสำคัญคือชุมชนที่จะเข้ามาดูแล ภาณุเดช เกิดมะลิ มองว่า การที่ชุมชนจะต้องเข้ามาดูแลนั้นต้องมองว่าทำอย่างไรในการสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านรู้สึกอยากที่จะมีส่วนในการดูแลสัตว์ป่าในพื้นที่ที่เป็นบ้านของเราทุกคน ก็คือเป็นบ้านของสัตว์ป่าและเราทุกคน ซึ่ง UNDP ได้มอบหมายให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเข้ามาเป็นตัวกลางในการประสานงานกับชุมชนและเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการเคลื่อนงานในพื้นที่นี้ก็คือเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและตะวันตกที่ทำงานร่วมกับชุมชน

“สิ่งที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำเป็นเพียงงานส่วนหนึ่งของโครงการ ซึ่งส่วนงานของมูลนิธิฯ คือการหารือว่าชุมชนจะอยู่ในพื้นที่อย่างไรให้อยู่ได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ โดยมีเส้นการใช้ประโยชน์ชุมชนตามโครงการจอมป่า (เส้นขาว) ที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ขยายพื้นที่ไปนอกเส้นขาว การดูแลส่วนนี้หัวใจสำคัญอยู่ที่คณะกรรมการชุมชน ซึ่งหมู่บ้านก็จะไปเน้นเรื่องการสร้างกติกาในการดูแลร่วมกับคณะกรรมการชุมชน จะมีการสนับสนุนชุดลาดตระเวน รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือให้เขาสามารถมาเดินลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการทำงานอนุรักษ์ และการดูแลกติกาที่เราตกลงไว้ร่วมกันได้ โดยต่อไปก็จะมีการส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ชาวบ้านสามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง และจะมีการเสริมสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์ ดังนั้นหัวใจในการทำงานก็คือทำแล้วจะต้องรักษาทั้งคน สัตว์ป่า และป่าไม้ ที่อยู่ในพื้นที่ให้ได้ด้วย” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าว

ภายหลังการประชุมได้มีการจัดอบรมการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานในการใช้ประโยชน์พื้นที่รอบหมูบ้านของสัตว์ป่าและกิจกรรมชุมชนเอง โดยมี ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ พร้อมอบรมวิธีการเก็บข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ตัวแทนคณะกรรมการชุมชนแต่ละกลุ่มบ้าน และเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก่อนจะเริ่มดำเนินการสำรวจพื้นที่จริงในวาระต่อไป

ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่าการทำงานร่วมกันนี้จะช่วยเสริมสร้างความกลมเกลียว โดยกล่าวว่า “จะมีการเดินสำรวจเส้นทางทั้ง 60 เส้น ในระยะ 5 กิโลเมตร ว่าพบสัตว์หรืออาหารของเสือเป็นอะไรบ้าง แต่สิ่งที่มันได้ไม่ใช่แค่ข้อมูลเรื่องเหยื่อของเสือเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของความกลมเกลียวระหว่างชาวบ้าน ผู้พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นสามก้อนที่จะช่วยกันดูแลรักษาป่า

สิ่งที่เราหวังคือได้ความกลมเกลียวของเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้าน ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะงานที่เราทำตั้งแต่โครงการจอมป่าก็คือการก่อให้เกิดสันติสุขในผืนป่า และนี่คือการฟื้นสันติสุขในป่า ซึ่งเมื่อจบโครงการจอมป่าเจ้าหน้าที่และชาวบ้านก็อาจห่างกันไปบ้าง แต่อย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องอยู่ร่วมกัน การดำเนินโครงการนี้เองก็จะดึงพวกเขาให้กลับมาใกล้ชิดและกลมเกลียวกันอีกครั้ง แต่ผลที่สุดของเรื่องนี้คือจะเป็นการรักษาป่า รักษาสัตว์ป่า และรักษาคน”

โดยการดำเนินโครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกนี้จะมีเครื่องมือในการติดตามและประเมินผล ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ได้ว่าทำแล้วสัตว์ปลอดภัยจริงหรือไม่ สัตว์ป่าสามารถอยู่ร่วมกับเราได้จริงไม่ และเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งเรื่องของป่าไม้ สัตว์ป่า รวมถึงชุมชนในพื้นที่เอง และจะนำไปสู่การรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้เป็นฐานในการทำงานต่อๆ ไป

 


รายงาน พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร