วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการจัดการน้ำทางเลือก (ไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์)

วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการจัดการน้ำทางเลือก (ไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์)

12-15 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงพื้นที่ศึกษา เก็บข้อมูล การพัฒนาแหล่งน้ำระดับครัวเรือน และการจัดการน้ำทางเลือกของอบต.ลาดยาว เพื่อวางแผนพัฒนารูปแบบการจัดการน้ำทางเลือกให้แก่พื้นที่แม่วงก์-ลาดยาว ก่อนผลักดันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในระดับนโยบาย

ตามแผนงานยุทธศาสตร์ที่ 1 วิชาการและงานเฝ้าระวังสถานการณ์ผืนป่าและสัตว์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังคงให้ความสำคัญต่อกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์

แม้สถานะในปัจจุบัน กรมชลประทานจะถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านแหล่งน้ำ (คชก.) ไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 แล้วก็ตาม แต่การทำงานในวาระนี้และเรื่องเกี่ยวเนื่องยังไม่สิ้นสุด

หากติดตามงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในช่วงของการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ จะเห็นว่าในระยะหลังมานี้จะมีเรื่องของการจัดการน้ำทางเลือกแทนที่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในผืนป่าอนุรักษ์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่หลายครั้ง

กล่าวคือ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรพยายามที่จะหาทางออกอื่นๆ เพื่อรักษาไว้ ไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนทั้งต่อคนและผืนป่า สัตว์ป่า

โดยในปี 2561 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พุ่งเป้าหมายงานว่าจะนำเสนอโมเดลการจัดการน้ำทางเลือกออกมาให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด ทั้งการทำข้อมูลในระดับนโยบายตลอดจนการผลักดันการจัดการในระดับท้องถิ่น

อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สำรวจข้อมูลใน 4 พื้นที่หลัก คือ แม่วงก์ตอนบน แม่วงก์ตอนกลาง แม่วงก์ตอนล่าง และอำเภอลาดยาว โดยการสำรวจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การเก็บข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการการใช้น้ำในพื้นที่เพาะปลูกของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเก็บข้อมูลการจัดการทางเลือกของอบต.ลาดยาวที่เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วในบางจุด

ในส่วนแรก การเก็บข้อมูลเกษตรกร เป็นการศึกษาการจัดการน้ำในระดับครัวเรือน ซึ่งพบว่าปัจจุบันในแต่ละพื้นที่มีเกษตรกรที่สามารถทำการเกษตรและบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องรนอเขื่อนขนาดใหญ่ และมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างเพียงพอ

เนื้อหาข้อมูล เช่น ขนาดพื้นที่เพาะปลูก ต้นทุนการผลิต อย่างค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ ปริมาณการใช้น้ำในแต่ละช่วงเวลา แหล่งน้ำที่ใช้ รายได้เฉลี่ยต่อวัน ต่อเดือน และต่อปี ฯลฯ

สำหรับส่วนการบริหารจัดการน้ำในระดับท้องถิ่นที่ดำเนินการโดยอบต.ลาดยาวนั้น เป็นการศึกษาว่าที่ได้เริ่มการจัดการน้ำใหม่นั้นดำเนินการอย่างไร และได้ผลอย่างไรในระยะเริ่มต้นที่ผ่านมา เช่น การทำคันกั้นน้ำ การขุดลอกคูคลอง ทำแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

จากการสำรวจข้อมูลที่ได้มาในเบื้องต้น (อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล) หัวหน้าฝ่ายวิชาการระบุว่า แม้พอจะเห็นโมเดลที่สามารถนำไปใช้ได้จริง แต่ก็ยังจำเป็นต้องเก็บข้อมูลที่หลากหลาย เนื่องจากโมเดลที่สำเร็จในพื้นที่หนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปใช้ในอีกพื้นที่ได้ ใช่ว่าการจัดการน้ำในพื้นที่แม่วงก์ตอนบนจะสามารถนำมาใช้ในพื้นที่แม่วงก์กลางหรือตอนล่างได้ ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ในเขตอำเภอเดียวกันก็ตาม เพราะแต่ล่ะพื้นที่ (4 พื้นที่ที่สำรวจ) มีสภาพดินหรือสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน

จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาในหลายๆ พื้นที่ประกอบก่อนนำเสนอรูปแบบการจัดการน้ำไปสู่ประชาชนจริง

นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลยังต้องทำซ้ำอีกครั้งในฤดูกาลที่แตกต่าง เช่นในฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำมากกว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อดูว่าระบบต่างๆ สามารถนำไปใช้งานได้จริงตลอดทั้งปีหรือไม่

ปัจจุบันมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกำลังนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางเพื่อดำเนินงานในระยะต่อไป ก่อนนำโมเดลการจัดการน้ำต่างๆ ที่ได้เสนอให้แก่ท้องถิ่น และผลักดันในเชิงนโยบายในอนาคต

 

ร่วมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านแอพลิเคชั่น SCB EASY

 


รายงาน อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร