ลาดตระเวนรักษาป่าสงวนแห่งชาติ รอบผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง

ลาดตระเวนรักษาป่าสงวนแห่งชาติ รอบผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง

ทุกๆ เดือน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะสนับสนุนกิจกรรมการลาดตระเวนเพื่อดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบริเวณรอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยเป็นการลาดตระเวนร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 กรมป่าไม้ และคณะกรรมการป่าชุมชน กว่า 20 ชุมชน และเมื่อการลาดตระเวนเสร็จสิ้นก็จะจัดประชุมหารือถึงผลที่ได้จากการลาดตระเวนเพื่อวางแผนในการดูแลป้องกันพื้นที่ต่อไปในอนาคต

สำหรับผืนป่าห้วยขาแข้ง เป็นที่ทราบกันดีว่าผืนป่าแห่งนี้อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ยากหาที่ใดเปรียบ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่มีคุณค่าในฐานะแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์ป่านานาชนิด และเป็นผืนป่าที่สัตว์ป่าสามารถกระจายตัวไปได้รอบบริเวณเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ภายใน

อย่างไรก็ตาม ด้านทิศตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านี้มีอาณาเขตติดกับพื้นป่าสงวนแห่งชาติและเป็นที่ตั้งของชุมชนหลายแห่ง ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดภัยคุกคามจากภายนอกเข้าไปสู่ภายในก็ใช่ว่าจะเป็นศูนย์เสียทีเดียว การดูแลป้องกันพื้นที่รอบข้างจึงถือเป็นงานสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้

จากความสำคัญตรงนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้วางแผนงานเพื่อสนับสนุนกิจกรรมลาดตระเวนพื้นที่ป่าสงวนโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้แก่พื้นที่มรดกโลก ขณะเดียวกันก็เป็นการดูแลพื้นที่ป่าสงวนจากการบุกรุกในคราวเดียวกัน

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

ภารกิจของ การพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก็คือ การสนับสนุนงานลาดตระเวนให้แก่หน่วยป้องกันรักษาป่าของกรมป่าไม้

สำหรับพื้นที่ป่าสงวนที่ประชิดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมลาดตระเวนให้แก่ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 (บ้าน กม.53) จัดทีมเพื่อป้องปรามภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรให้การสนับสนุนในเรื่องงบประมาณงานลาดตระเวน

แต่การดูแลรักษาป่าโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ฝ่ายเดียวอาจไม่สำเร็จ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน งานลาดตระเวนเพื่อดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรอบผืนป่ามรดกโลก จึงได้ชักชวนคณะกรรมการป่าชุมชนรอบๆ พื้นที่เข้ามาร่วมลาดตระเวนด้วย

เพราะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรอบๆ ห้วยขาแข้งนั้นเป็นป่าชุมชนเกือบ 100%

และมีคณะกรรมการที่ดูแลพื้นที่อย่างแข็งขัน เคารพกฎกติกา และตระหนักถึงความสำคัญในการมีป่าเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนให้สามารถส่งต่อไปถึงลูกหลานได้ในอนาคต

การลาดตระเวนร่วม 3 ฝ่าย ของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 และคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านห้วยรัง

งานลาดตระเวนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรอบผืนป่าห้วยขาแข้งนี้ จะแบ่งการทำงานออกตามโซนพื้นที่ชุมชน มีเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 (บ้าน กม.53) เป็นแกนหลักในการชักชวนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมต่องานอนุรักษ์

วันไหนหน่วยป้องกันรักษาป่าจะไปลาดตระเวนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านใด ก็จะชวนหมู่บ้านนั้นไปร่วมลาดตระเวนด้วย สลับหมุนเวียนกันไปจนครบตามจำนวนชุมชน

เป็นต้นว่า ในเดือนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 14 ก.พ. หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 (บ้าน กม.53) ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เดินลาดตระเวนกับคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านเขาเขียว พอวันที่ 16 ก.พ. เจ้าหน้าที่จากภาครัฐก็ไปเดินร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านห้วยรังต่อ

และแน่นอนว่า ยังมีเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมาร่วมลาดตระเวนด้วยอีกแรง

รูปแบบของการเดินลาดตระเวนก็ไม่ได้แต่ย่ำเท้าไปตามทางจนหมดวัน ยังมีการบันทึกข้อมูลโดยใช้เครื่องจับพิกัดจีพีเอส บันทึกเส้นทางการเดินและจดบันทึกถึงสิ่งที่พบระหว่างการเดินลาดตระเวนตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด ในบางครั้งก็เป็นการเดินตามแนวเขตป่าชุมชนหรือแนวเขตป่าสงวน เพื่อตรวจตราว่าพื้นที่แนวเขตมีการบุกรุกเพิ่มเติมหรือการขยายพื้นที่ออกไปหรือไม่

เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านเขาเขียว ลาดตระเวนขอบแนวเขตผืนป่า

เมื่อการเดินลาดตระเวนไม่ได้มีเพียงฝ่ายรัฐ แต่ยังมีชุมชนเข้ามาร่วมด้วย ก็จะทำให้ชุมชนเข้าใจสภาพของพื้นที่ตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเวลาเจอปัญหาในพื้นที่ป่าชุมชนของตัวเอง ชุมชนก็จะตระหนักถึงความสูญเสียนั้น และนำไปสู่การวางแนวทางเพื่อรักษาป่าชุมชนต่อไป

และเมื่อการลาดตระเวนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในแต่ละเดือนจบลง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็จะชักชวนเจ้าหน้าที่และประชาชนทั้ง 3 ฝ่ายมาร่วมประชุมรายงานผลที่พบ และหารือถึงแนวทางการป้องกันภัยคุกคามกันอีกครั้ง เพื่อวางแนวทางในการรักษาป่าด้วยกัน

หากพื้นที่บริเวณไหนพบว่ามีภัยคุกคามมาก ก็จะวางแนวทางป้องกันในพื้นที่นั้นเป็นพิเศษ เช่น อาจเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนให้มากขึ้น

19 ก.พ. 2561 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 และคณะกรรมการป่าชุมชนกว่า 20 หมู่บ้าน ร่วมประชุมสรุปผลงานลาดตระเวนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561

สำหรับโครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เพิ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2559 โดยในปีแรกเป็นการพัฒนาด้านข้อมูลพื้นที่ และเริ่มพัฒนาการลาดตระเวนขึ้นมาในปี 2560 จนเกิดเป็นรูปธรรมการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจนและเข้มแข็งขึ้นในปี 2561

แม้การทำงานสามารถดำเนินไปด้วยดี มีการพัฒนารูปแบบการลาดตระเวนให้มีความเข้มข้นและรัดกุมมากขึ้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวันนี้ภัยคุกคามจากการล่าสัตว์ตัดไม้ในพื้นที่ป่าสงวนประชิดป่าห้วยขาแข้งยังมีให้พบเห็นอยู่ ทั้งจากร่องรอยการทำไม้ ร่องรอยปืนผูกที่ติดตั้งไว้ดักสัตว์ป่า (บางครั้งคราวซวยเป็นของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนที่บังเอิญไปชนโดยไม่ได้ตั้งใจ)

และถึงแม้จำนวนที่พบจะมีไม่มาก แต่เพียงหนึ่งก็อาจนำไปสู่ความสูญเสียที่คาดไม่ถึง

ฉะนั้นแล้วงานพัฒนางานอนุรักษ์ผืนป่าสงวนแห่งชาติเพื่อเป็นป่ากันชนป้องกันภัยคุกคามที่จะเข้าไปสู่ผืนป่ามรดกโลกและยังเป็นการรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเอาไว้ไม่ให้ลดน้อยลง จึงเป็นงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรพยายามผลักดันให้เกิดรูปธรรมการรักษาป่าที่เข้มแข็ง

โดยใช้งานลาดตระเวนและการบริหารข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำงานในกิจกรรม

 

ติดตามเรื่องราวงานดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดได้ที่ โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

ร่วมสนับสนุนกิจกรรมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านแอพพลิเคชั่น SCB EASY

 


บทความ เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร