เดินตามรอยวัวแดงที่สลักพระ ด้วยความหวังในงานอนุรักษ์ของคนรุ่นต่อไป

เดินตามรอยวัวแดงที่สลักพระ ด้วยความหวังในงานอนุรักษ์ของคนรุ่นต่อไป

– ระหว่างเดินเข้าป่า –

 

“แม้ไม่ได้สนใจวัวแดงเป็นพิเศษ แต่เพราะวัวแดงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราจึงอยากเรียนรู้และเข้าใจมันให้มากขึ้น”

เหตุผลแสนสั้น เรียบง่าย ได้ใจความ ที่เป็นเหตุให้ สุภาวดี ชื่นใจดี หรือ โบ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคม มานั่งอยู่ตรงนี้ ร่วมกับเยาวชนที่อาสาเข้าร่วมกิจกรรมค่ายกิจกรรมรักษ์วัวแดง รักษ์สลักพระ ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จ.กาญจนบุรี

สุภาวดี ชื่นใจดี หรือ โบ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคม

หากเปรียบเด็กเสมือนผ้าขาว การเปิดโอกาสให้พวกเขาเลือกได้ว่าอยากทำอะไรอยากเป็นอะไรก็คงเหมือนการให้โอกาสเด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะเลือกสีที่ตนจะถูกแต่งแต้มได้ตามใจ ซึ่งการให้โอกาสเด็กสมัครใจมาเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาธรรมชาติเองยิ่งทำให้พวกเขาใฝ่รู้ในสิ่งที่เขาสนใจและตั้งใจได้ดีกว่าการถูกบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรม

เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุจัดเตรียมกิจกรรมให้เยาวชนได้สนุกสนานพร้อมสอดแทรกความรู้ไปกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเมล็ดพันธุ์บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ เรียนรู้การใช้กล้องส่องนนก การสังเกตและจำแนกชนิดของนก การอยู่กันเป็นกลุ่มช่วยดูแลกัน การสังเกตร่องรอยสัตว์ และเรียนรู้การติดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า

รวมถึงพาเยี่ยมชมคอกวัวแดง แนะนำวัวแดงแต่ละตัว และสอนเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับวัวแดง ทั้งวิธีการสังเกต จุดเด่น อาหาร และลักษณะพื้นอาศัย โดยไม่ลืมแนะนำวัวแดงแต่ละตัว โดยมีเจ้าหล่อวัวแดงขนาดใหญ่ผู้เป็นพ่อพันธุ์ยืนแทะเล็มใบไม้ใบหญ้าอย่างเอร็ดอร่อยอยู่เบื้องหน้า

วัวแดงเพศผู้
วัวแดงเพศเมีย

วัวแดงตัวผู้มีลักษณะหนอกสูง บริเวณหน้าผากมีแผ่นหนังหยาบเรียกว่ากระบังหน้า เขาตัวเมียจะมีขนาดเล็กและแคบกว่าตัวผู้ ลำตัวขนสีน้ำตาลแดง ปากสีขาว วงขาวที่ปรากฏบริเวณก้น สวมถุงเท้าสีขาวสูงถึงเข่า และมีจุดสีขาวบริเวณเปลือกตา สีลำตัวของตัวผู้จะมีสีน้ำตาลแดง และเข้มขึ้นตามอายุ และจะออกเป็นสีขาวเมื่อแก่

พวกมันพยายามถอยห่างจากผู้มาเยือน เจ้าหล่อองอาจหน่อยยืนสะโอดสะองเคี้ยวเอื้องไม่ใคร่สนใจแขก ในขณะที่เจ้าตัวตัวเล็กๆ หน่อย เมียงมองกลัวๆ กล้าๆ จะขยับเข้ามากินใบปอกะสาของโปรดของเจ้าวัวแดง “พวกมันมักจะขี้อายจึงพยายามหลบเลี่ยงผู้คน” เจ้าหน้าที่เล่าก่อนชักชวนให้น้องๆ เยาวชนเว้นระยะห่างจากกรงช่วงหนึ่ง พวกมันจึงขยับเข้ามากินใบและกิ่งก้านอย่างเอร็ดอร่อย

ในบรรดากิจกรรมต่างๆ สุภาวดี ชื่นใจดี กระตือรือล้นและยืนยันด้วยดวงตาเป็นประกายว่า “ชอบเดินทางไกลมากที่สุด”

ส่องนกระหว่างเดินทาง

การเดินทางไกลโดยมีจุดเริ่มต้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุไปยังหน่วยสลักพระซึ่งตั้งอยู่ใจกลางป่าสลักพระ ด้วยการเดินเท้า 9 กิโลเมตร พร้อมขนสัมภาระติดตัวไปเท่าที่จำเป็น ทั้งอาหาร น้ำ พละกำลัง และกำลังใจ โดยไม่ลืมกล้องดูนกสำหรับส่องนกระหว่างการเดินทางพร้อมมีพี่เลี้ยงจากเจ้าหน้าที่คอยประกบข้างคอยตอบคำถามและอธิบายเรื่องราวต่างๆ ในธรรมชาติ

“การเดินทางไกลมันเป็นความท้าทาย ระหว่างทาง เราเจอนั่นเจอนี่สนุกดีค่ะ ทั้งโป่ง รอยตีนสัตว์ ขนนกสีดำ ขนไก่ป่า”

รอยตีนละมั่ง

โดยก่อนเริ่มการเดินทางคุณเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ไม่ลืมที่จะเตือนและย้ำสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อย่างกรายเข้าไปยังพื้นที่ป่า บ้านของสัตว์ป่า ว่าเราเข้าไปอย่างแขกก็ควรเคารพเจ้าบ้าน ใช้เสียงให้น้อยที่สุดไม่ให้รบกวนสัตว์ป่า

ทิศทัวน์ของป่าที่กำลังผลัดใบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

ทิวทัศน์ภายในป่าโอบล้อมไปด้วยสีสันแห่งฤดูกาลผลัดใบ ส้มบ้าง เหลืองบ้าง เขียวบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไปแสดงให้เห็นถึงความพยายามดำรงชีวิตของต้นไม้เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลที่แห้งแล้ง ลำห้วยเย็นฉ่ำขั้นระหว่างทาง 5 สาย ช่วยให้คณะเดินทางได้คลายความร้อนจากสภาพอากาศ แสงแดดที่ร้อนระอุ

การเดินทางราวกับว่าไม่มีจุดสิ้นสุด ก้าวข้ามเนินสูงบ้าง ต่ำบ้าง ลุยน้ำบ้าง “ใกล้ถึงหรือยัง” ถูกนำมาใช้ทุก 3 กิโลเมตร พร้อมกันนั้นจะมีเสียงของพี่เลี้ยงให้กำลังใจทำนองว่า อีกแปปเดียว ไม่ไกลหรอก อีกนิดนึง แม้เหนื่อยล้าก็ยังมีเสียงคลอเบาๆ “วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ฉันเจอเสือตัวใหญ่…” บทเพลงฮิตเคล้าคลอเสียงนก แว่วทำนองวนลูปไปเป็นระยะ เป็นบทเพลงติดปากของเหล่านักเดินทางตัวน้อย

ไม่รู้ว่าอาการน้องเป็นอย่างไรบ้าง แต่ผู้เขียนแขนที่แบกสัมภาระที่มีทั้งอาหาร น้ำดื่ม กล้องถ่ายรูปพร้อมเลนส์อีกสามตัวพาให้พละกำลังเริ่มอ่อนล้า ราวกับน้ำหนักกระเป๋ากล้องจะเพิ่มขึ้น ทั้งที่น้ำก็ดื่มลดลงไปแล้ว ขายังคงเดินหน้าท้าทายความลาดชันโดยเฉพาะ 3 กิโลเมตร ก่อนถึงจุดหมายปลายทาง

ถ่ายภาพรอยตีนสัตว์ในโป่ง

โทรศัพท์มือถือใช้ประโยชน์ได้เพียงการถ่ายภาพเมื่อสัญญาณโทรศัพท์เดินทางไปไม่ถึงในป่า รอยตีนสัตว์กีบปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง แต่ก็อาจน้อยกว่าจำนวนกองมูลช้างที่ยิ่งเดินเข้าใกล้หน่วยสลักพระ มูลช้างยิ่งเยอะขึ้น ยิ่งดูสดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกันคำขู่เพื่อนร่วมทางยิ่งพาให้หวาดเสียวมากยิ่งขึ้น

 

– ใครว่าปลายทางคือจุดสิ้นสุดของการเดินทาง
สำหรับครั้งนี้นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง –

 

หลังเก็บสัมภาระไว้ที่พักเสร็จ กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ถูกยกขึ้นมาสาธยายให้เยาวชนได้เรียนรู้การใช้งาน วิธีการติดตั้ง และเตรียมปูนปลาสเตอร์สำหรับหล่อรอยตีนสัตว์เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงจึงพาเด็กๆ เดินเข้าไปในป่าอีกราว 1.5 กิโลเมตร แบ่งกันไปดูรอยตีนสัตว์ต่างๆ และชวนกันดูรอยช้างที่ขุดดินโป่งกลายเป็นร่องลึกชัดเจน

โป่งที่เต็มไปด้วยรอยตีนช้างและสัตว์กีบ

แต่ละกลุ่มช่วยกันเลือกรอยตีนสัตว์ที่ชอบแล้วหล่อ มีทั้งรอยตีนที่มีลักษณะเป็นอุ้งตีนสัตว์ รอยกีบ ทั้งกวาง ละองละมั่ง กระทิง เป็นต้น รวมถึงปล่อยให้กลุ่มเยาวชนโหวตเลือกจุดที่อยากติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า และคอยลุ้นผลว่าจะมีอะไรเข้ากล้องบ้างในเช้าวันรุ่งขึ้นที่ไปเก็บกล้องกลับมา

เสรี นาคบุญ สอนวิธีการใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์

หนึ่งวันยังดำเนินไปอย่างยาวนาน ภายหลังการติดตั้งกล้องเสร็จ เจ้าหน้าที่เปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามความสมัครใจเลือกว่าจะไปปรับปรุงโป่งหรือจะช่วยกันทำฝายที่ใช้วัสดุธรรมชาติ

โดย สุภาวดี ชื่นใจดี เลือกที่จะช่วยปรับปรุงดินโป่งซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยมาก เริ่มจากการนำแร่ธาตุก้อนใหญ่มาช่วยกันทุบ แต่ด้วยความสนใจใคร่รู้เธอจึงชิมแร่ธาตุที่ทุกคนกำลังช่วยกันทุบอยู่ให้คลายความสงสัย ในขณะที่คนอื่นขำกับการกระทำของเธอและผู้เขียน แน่นอนว่ามันมีรสเค็มคล้ายกับเกลือ ตระเตรียมเสร็จจึงนำแร่ธาตุที่ได้ไปโรยที่โป่งธรรมชาติซึ่งอยู่ใกล้บริเวณทุ่งสลักพระ

“เราเข้าใจว่าน้องๆ เหนื่อยล้า บางคนมีรอยขีดข่วนบาดแผล ความเหน็ดเหนื่อยปรากฏชัดเจน การเดินทางเก้ากิโลเมตรรวมถึงเดินไปติดตั้งกล้องรวมระยะทางไปกลับวันนึงกว่าสิบสองกิโลเมตร มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเรื่องธรรมชาติ” หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ทอดน้ำเสียงเว้นช่วงให้เยาวชนได้ใช้เวลาตรงนั้นขบคิดตาม “นอกจากจะได้เห็นธรรมชาติ นกสัตว์ต่างๆ ยังได้เรียนรู้ คนอดทนมากจะบ่นน้อย คนอดทนน้อยจะบ่นมาก เราไม่ต้องการชี้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด แต่อยากให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และสิ่งที่น่าแปลกใจคือเราสามารถเดินมาถึงเป้าหมาย และได้มาร่วมกันเรียนรู้และปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ที่ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะได้รับ และยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ภูมิคุ้มกันทางปัญญาให้กับเยาวชน”

เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้จากการมาร่วมค่ายครั้งนี้ว่าได้อะไรบ้าง สุภาวดี ชื่นใจดี บอกว่า “ได้เยอะมาก ทั้งการเดินทาง การอยู่อาศัย การอยู่กับเพื่อนร่วมทีม การมีพี่เลี้ยงคอยดูแล อย่างการเดินทางเราก็จะได้เห็นรอยเท้าสัตว์ ขี้ใหม่ขี้เก่า รอยตีนใหม่รอยตีนเก่า” ตามความเข้าใจของน้องก็คือ “รอยใหม่ๆ จะไม่มีใบไม้ปิด รอยเก่าๆ ก็จะมีใบไม้ปิด ประมาณนั้น ได้ความรู้เรื่องแหล่งอาหารของสัตว์ สัตว์ป่าบางชนิดอาศัยพื้นที่โล่งกว้าง บ้างก็คอยกินโป่ง บางโป่งเจ้าหน้าที่ก็จะปรับปรุงให้สัตว์สามารถใช้ประโยชน์ได้”

แม้การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์จะถูกจำกัดด้วยเรื่องของเวลาที่ทำให้โอกาสได้เห็นภาพสัตว์ป่าเข้ากล้องได้ยากเพราะตั้งกล้องทิ้งไว้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จึงไม่อยากให้เยาวชนคาดหวังอะไรมาก แต่ผิดคาดเนื่องจากหลังการเก็บกล้องได้ภาพที่ปรากฏคือสัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์บริเวณที่เยาวชนเลือกไปติดตั้งไว้

ภาพสัตว์ป่าจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ฝีมือเยาวชนสร้างความประทับใจได้อย่างมาก รวมถึงภาพการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติและติดตามความคืบหน้าวัวแดงที่ถูกปล่อยออกไป

“การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ความประทับใจพี่ๆ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ แม้พี่จะไม่ใช่พี่เลี้ยงประจำกลุ่มเขาก็จะคอยให้คำแนะนำ คอยช่วยเหลือกันทุกอย่างเลย” เยาวชนกล่าวทิ้งท้ายระหว่างเขียนสิ่งที่นักเรียนอย่างพวกเธอสามารถจะทำได้เพื่ออนุรักษ์วัวแดง อาทิ การนำข้อมูลไปเผยแพร่เพื่อให้คนอนุรักษ์, สอดส่องดูแลวัวแดงไม่ให้เกิดการล่า, ดูแลป่าซึ่งเป็นบ้านและแหล่งอาหารของวัวแดงให้สมบูรณ์, ไม่บุกรุกที่อยู่อาศัยของวัวแดง, ไม่เผาป่า, สร้างแหล่งเรียนรู้ ทำค่ายเกี่ยวกับวัวแดง พร้อมบอกเล่าการอนุรักษ์สู่รุ่นต่อไป

การเดินทางไกล 9-12 กิโลเมตร ของพวกเราแม้จะเทียบไม่ได้เลยกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เดินทางลาดตระเวนไกล หลายวันหลายคืน เส้นทางลำบาก สัมภาระที่แบกไปพร้อมภาระหน้าที่ที่สำคัญ ซึ่งยังไม่กล่าวถึงการเผชิญอันตรายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ แต่ระหว่างการทำกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เราสามารถซึมซับ เข้าใจ ภารกิจของเจ้าหน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง

ในขณะที่เจ้าหน้าที่พร้อมลาดตระเวนเพื่อปกป้องความอุดมสมบูรณ์ภายในป่าสลักพระ รอบๆ ก็มีมวลชนรวมถึงเยาวชนที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญร่วมกันสอดส่องดูแลจากภายนอกเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรักษาป่าและสัตว์ป่าได้คงอยู่ต่อไป

 


เรื่อง/ภาพ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร