ถอดรหัสเลข 30 จากวงพูดคุย ‘งานอนุรักษ์กับสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป’ รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร

ถอดรหัสเลข 30 จากวงพูดคุย ‘งานอนุรักษ์กับสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป’ รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร

สำหรับเวทีพูดคุยในหัวข้อ ‘งานอนุรักษ์กับสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป’ ถือเป็นกิจกรรมที่สามารถบ่งบอกแนวคิดการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในยุคปัจจุบัน และทิศทางอนาคตไว้ครบถ้วน ภายใต้แนวคิด 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ‘การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง’

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์สิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นกระแสหลัก จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นหลาย ๆ อย่าง ข่าวสารที่เรารับรู้ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การที่เยาวชนออกมาเรียกร้อยให้ผู้นำประเทศ ต้องหันมาแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง เรื่องของวิกฤตการสูญพันธุ์ที่ได้ยินอยู่บ่อย ๆ เรียกได้ว่าแทบจะเป็นข่าววันเว้นวัน เพราะฉะนั้นย้อนกลับไป 30 ปี สิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นในเรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง ที่มองเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความสนใจเฉพาะด้าน ที่จะมองว่าในเรื่องของป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นหลัก

ซึ่งหากมองเป็นปัจจุบันในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นสิ่งแวดล้อมได้ถูกขยับ มาเป็นเกณฑ์กลางในวงพูดคุยของทุก ๆ คน อาทิ รัฐบาล เอกชน ผ่านข้อตกลงนานาชาติที่เปรียกว่า ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นตกลงในการแก้ปัญหา สภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่เรื่องของนักอนุรักษ์อย่างเดียวแล้ว แต่เป็นประเด็นทางสังคมที่ทุกคนต้องมองร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนไปสู่อนาคตข้างหน้า นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากการถือกำเนิดของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว

“ที่น่าสนใจปีนี้เป็นปีครบรอบ 30 ปี ของมูลนิธิสืบฯ ซึ่งผมรู้สึกว่า ตัวเลข 30 มันมีความหมาย อย่างในปี ค.ศ. 2030 หรือว่าอีก 10 ปี ข้างหน้าก็เป็นปีที่ถือกำหนดในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามข้อตกลงเมื่อ 5 ปี ที่แล้ว ดังนั้นมันกลายเป็นปลายทางที่ประเทศต่าง ๆ จะออกมานำเสนอว่า เราได้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนายั่งยืนแล้วหรือยัง”

ลำดับความสำคัญของเลข 30 ในส่วนที่สองคือ ประชาคมโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อเพิ่มโอกาสในการควบคุณอุณหภูมิของโลกไม่ให้แย่ลงกว่าเดิม ซึ่งตามระบุของความตกลงปารีสกล่าวว่าอุณภูมิที่จะทำให้โลกปลอดภัย จะต้องไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ความน่าสนใจของเลข 30 ส่วนที่สามคือ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยระบุว่า อย่างน้อยโลกควรจะปกป้องพื้นที่ทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งที่ผ่านมาประชาคมให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมบนบกเยอะ ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลถูกละเลย เพราะฉะนั้นถ้าจะอนุรักษ์ระบบนิเวศของโลกให้เดินหน้าต่อไปได้ ต้องเพิ่มระดับการอนุรักษ์ทางทะเลให้ได้ตามเป้าดังกล่าว

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม

“จึงเป็นที่น่าสนใจมากว่า มูลนิธิสืบฯ จะก้าวต่อไปใน 10 ปีข้างหน้าในรูปแบบไหน ซึ่งพอเราพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่าองค์กรอย่างมูลนิธิสืบฯ มีบทบาทสำคัญมาก และมันไม่ใช่เรื่องของคนที่สนใจเรื่องป่าไม้และสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียวแล้ว ดังนั้นการทำงานของมูลนิธิสืบฯ จึงเป็นความเชื่อมโยงทั้งหมดกับสังคมเมืองโดยตรง ระบบการผลิต ระบบการบริโภค และภาวะต่าง ๆ มากมาย เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ทุกคนทำไปมันไม่ใช่แค่เรื่องของผืนป่าตะวันตกอีกต่อไปแล้ว แต่มันคือประเด็นการอนุรักษ์อันยั่งยืนและเกี่ยวข้องกับทุกคน ” ดร.เพชร มโนปวิตร กล่าว

ขณะที่ ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความเห็นว่า การอนุรักษ์ในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ย้อนกลับไปสมัยที่สืบ นาคะเสถียร ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงนั้นป่าไม้และสัตว์ป่าถูกมองว่า เป็นต้นทุนทรัพยากรที่มีปริมาณมหาศาล และมองว่าเป็นสินค้า หรือสิ่งที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กลับประเทศไทยได้ ซึ่งสืบ นาคะเสถียรเองได้ออกมาเรียกร้อง และต่อต้านกระแสความคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ถ้าเราใช้อย่างไม่คำนึงถึงหลักความเป็นไป ทรัพยากรเหล่านี้มันต้องหมดสิ้นลงแน่

กระทั้งการจากไปของสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิสืบฯ จึงเกิดขึ้น และได้สานต่องานของหัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้ง ต่อไป โดยในช่วงแรกของการทำงาน มูลนิธิสืบฯ ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักให้กับสังคม เพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ถึงเรื่องราวการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ซึ่งจะนำไปสู่จิตสำนึกในการปกป้องรักษา

ซึ่งการสื่อสารของมูลนิธิสืบฯ ได้ออกมาในรูปแบบที่คุ้นชินตาคือ การรณรงค์ การคัดค้านต่าง ๆ และกลายเป็นภาพติดตาว่ามูลนิธิสืบฯ เป็นองค์กรหลักในการทำงานปกป้องพื้นที่ทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง และผืนป่าตะวันตก โดยความเป็นจริงแล้วมูลนิธิฯ ให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ แต่คิดว่าพื้นที่ป่าตะวันตกเป็ฯฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งหากบริเวณดังกล่าวโดยทำลายไป พื้นที่อื่น ๆ อาจหมดควาหวังในการที่จะรักษาดูแลต่อไป จนนำไปสู่ในเวลาต่อมาที่ผู้คนหมู่มากเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญกับ การดูแลรักษาป่าไม้และสัตว์ป่า

ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ทั้งนี้ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีความเห็นที่สอดคล้องกับ ดร. เพชร มโนปวิตร ว่าปัจจุบันกาล มูลนิธิสืบฯ อาจจะต้องมองภาพงานอนุรักษ์ก้าวขึ้นกว่าผืนป่าตะวันตก เพราะทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมถูกผนวกรวม หรือกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ กลไกทางสังคม ทางการตลาด ในระดับมหภาคมากขึ้น ซึ่งคิดว่าการปูพื้นโดยการสร้างความตระหนักให้กับสังคมในช่วงที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้คนเริ่มให้มาให้ความสนใจกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเพิ่มมากขึ้น ตามบทบาทที่ตัวเองรับผิดชอบตามกำลังศักยภาพของตัวเอง

“ที่ผ่านมามูลนิธิสืบฯ ได้สร้างฐานงานอนุรักษ์ให้มันแข็งแรงแล้ว ก้าวต่อไปของเราคือการก่ออิฐก้อนต่อไป เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และหาวิธีการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นระดับมหภาคต่อไป”

สามารถรับชมวงพูดคุย ‘งานอนุรักษ์กับสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป’ งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ฉบับเต็มได้ที่ยูทูปช่อง SEUB CHANNEL และติดตามคอนเทนต์ได้ที่ Facebook page มูลนิธิสืบนาคะเสถียร


เรียบเรียงเนื้อหา ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
บันทึกวีดีโอ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร