ไฟป่าอินโดนีเซีย กับปัญหามลพิษข้ามพรมแดน

ไฟป่าอินโดนีเซีย กับปัญหามลพิษข้ามพรมแดน

ท่ามกลางแรงโหมของไฟป่าที่ลุกลามไปทั่วประเทศออสเตรเลีย และในขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศต่างพยายามหาทางป้องกันไฟในแอมะซอน ประเทศเพื่อนบ้านของอินโดนีเซียเองก็กำลังเผชิญสถานการณ์หมอกควันข้ามพรมแดนจากไฟป่าบนเกาะสุมาตราและบอร์เนียวอีกครั้ง กลายเป็น ไฟป่าที่อินโดนีเซีย กับปัญหามลพิษข้ามพรมแดน

อินโดนีเซียได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินภายใประเทศไปแล้วอย่างน้อยหกจังหวัด และทางการได้ให้ข่าวว่าทำการจับกุมผู้ต้องหาเกือบ 200 คนที่มีความเกี่ยวข้องสาเหตุการเกิดไฟป่า

แต่กระนั้นในฐานะประเทศที่ต้องตกอยู่ภายใต้ม่านหมอกจากมลภาวะควันไฟอย่างสิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ รัฐบาลของมาเลเซียได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยว่า อินโดนีเซียล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาไฟป่า

ทางด้านหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของอินโดนีเซียเตือนว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งนำไปสู่ความกังวลว่าภัยพิบัติหนนี้อาจเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

 

เหตุใดไฟจึงไหม้

ไม่ต่างจากกรณีเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในป่าดงดิบแอมะซอนของบราซิล พื้นที่หลายแห่งในอินโดนีเซียได้ถูกเผาโดยเจตนาสำหรับปรับปรุงพื้นที่เพื่อทำการเกษตร

“ไฟป่าที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เรียกว่า การเผาป่าเพื่อตัดไม้ทำลายป่า ไฟถูกจุดในป่าฝนเขตร้อน หรือในป่าทุติยภูมิเพื่อล้างพื้นที่ ซึ่งเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของการทำเกษตรขนาดเล็กและขนาดใหญ่” David Bowman ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์อัคคีภัย กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

“อาจเป็นการลักลอบเผาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการเผาเคลียร์พื้นที่เพื่อกำจัดพืชพรรณต่างๆ ออกไป ไว้สำหรับสวนป่าอย่างน้ำมันปาล์ม”

 

ไฟหลายแห่งถูกจุดโดยเจตนาเพื่อล้างพื้นที่สำหรับการเกษตรรวมถึงสวนปาล์มน้ำมัน / PHOTO Reuters: Willy Kurniawan

 

ประเทศอินโดนีเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งพื้นที่การผลิตส่วนใหญ่มาจากสุมาตราและกาลิมันตัน

เมื่อปีที่ผ่านมา ความรุนแรงของไฟและผลกระทบจากหมอกควันได้ลดลงจากในอดีต แต่การกลับมาของเอลนีโญในปี 2562 นี้ เป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าฤดูแล้งจะยังยาวนานออกไป ซึ่งหมายความว่าสถานการณ์ไฟป่าปีนี้อาจเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ใหญ่เมื่อปี 2558

สถานการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในปีนี้เพิ่มมากขึ้นถึง 70% เกิดขึ้นบนพื้นที่พรุที่เสื่อมโทรม และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลออกสู่ชั้นบรรยากาศ

 

ผลกระทบจากไฟป่าก่อให้เกิดสิ่งใด

ประชาชนในจังหวัดที่ผลิตน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากไฟป่า / PHOTO Greenpeace: Ulet Ifansasti

 

การเผาป่าพรุและพื้นที่ป่าไม้มีผลต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

ในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมปี 2558 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากไฟป่าในอินโดนีเซียปล่อยมลพิษสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเกิดมลพิษรายวันจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด คิดเป็น 20 เท่าของประเทศอินโดนีเซีย

จากการศึกษาผลกระทบไฟป่าของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและโคลัมเบีย ระบุว่า เหตุการณ์ในปี 2558 นั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 100,000 คน ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในสถานที่ที่มีควันปกคลุม ทัศนวิสัยสามารถมองเห็นได้เพียงประมาณ 300-500 เมตร Ratri Kusomohartono นักกิจกรรมรณรงค์ของกรีนพีชให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังจากเดินทางกลับจากมาลิมันตันกลาง

“มันดูจะเลวร้ายมากกว่าปี 2558 เสียอีก”

ที่เมืองปาลังการยาเมืองหลวงของกาลิมันตันกลาง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย มีดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) สูงถึง 2,000 – ตามค่ามาตรฐาน AQI มากกว่า 300 ถือว่าเป็นอันตราย

นอกเหนือจากผลกระทบด้านสาธารณสุขที่รุนแรงแล้ว ไฟป่ายังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของอินโดนีเซีย จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า พื้นที่ป่าปกคลุมของอินโดนีเซียลดลงเกือบหนึ่งในสี่นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา

“หมู่เกาะอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่บอร์เนียว เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ที่ปราศจากไฟ แต่เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์เข้าไปทำลายและเผาเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้พื้นที่ป่าฝนค่อยๆ ลดน้อยลง” David Bowman กล่าวเสริม

นอกจากนี้ การตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย นำไปสู่ภัยคุกคามร้ายแรงในอนาคตต่อสายพันธุ์ต่างๆ เช่น ลิงอุรังอุตัง เสือ และหมีหมา

 

เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ Orangutan Foundation International อุรังอุตังทำการฝึกอบรมอุรังอุตังเด็ก อุรังอุตังของอินโดนีเซียกำลังใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและการล่าสัตว์ที่ผิดกฎหมาย / PHOTO ABC News: Adam Harvey

 

ทำไมมาเลเซียและสิงคโปร์จึงแสดงท่าทีไม่พอใจ

ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา สถาการณ์ไฟป่าในปีนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มอย่างกาลิมันตันกลางและตะวันตก รวมถึงจัมบีบนเกาะสุมาตรา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

แม้ระดับค่ามลพิษที่วัดออกมาจะไม่มากเท่ากับที่อินโดนีเซียเผชิญ แต่ประชากรในสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ต่างได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซียถึงกับเคยกล่าวออกมาว่าเขารู้สึกอึดอัดใจเมื่อต้องไปมาเลเซียหรือสิงคโปร์เพราะสถานการณ์หมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อทั้งสองประเทศ

Yeo Bee Yin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาเลเซีย แกนนำที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาหมอกควัน กล่าวว่า มันเป็นความล้มเหลวของกรุงจาการ์ตาในการป้องกันไฟป่า

แต่ Siti Nurbaya Bakar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย กลับปฏิเสธปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งยังอ้างว่ามาเลเซียก็เป็นแหล่งผลิตมลพิษจากควันไฟเช่นกัน

Yeo Bee Yin จึงได้โต้ตอบกลับไปทางเฟสบุ๊กว่า Siti Nurbaya ไม่ควรปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น

 

มาเลเซียได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนบ้านว่าล้มเหลวในการป้องกันหมอกควัน / PHOTO AP: Vincent Thian
ประชาชนในสิงคโปร์ได้รับคำเตือนว่าให้อยู่แต่ในบ้านพักตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา / PHOTO Reuters: Feline Lim

 

สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์ ได้รายงานสถานการณ์หมอกวันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อยู่ในระดับที่เลวร้ายที่สุดในรอบสามปีที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้

Masagos Zulkifli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ กล่าวว่า การกลับมาของปัญหาหมอกควันเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนถึงความจริงจังในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียนมายาวนานหลายปี

“มันก่อให้เกิดมลพิษในอากาศที่เราหายใจ และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Masagos Zulkifli กล่าวเสริม

“นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องจริงจังกับการแก้ไขปัญหาและสร้างความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำให้ภูมิภาคอาเซียนปลอดจากหมอกควันภายในปี 2563”

 

อินโดนีเซียแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ในการดำเนินการตามแผนระยะสั้น อินโดนีเซียได้ส่งนักดับเพลิงและอาสาสมัครนับพันคนลงไปในท้องที่สุมาตราและกาลิมันตันแล้ว และทางรัฐบาลเองก็ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์หลายสิบลำไปทิ้งระเบิดน้ำเพื่อช่วยดับไฟในกาลิมันตัน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนร่วมในการเผาป่าไปแล้ว 185 คน

“นี่ถือเป็นมาตรการสุดท้าย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดควรเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุ” Dedi Prasetyo โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย กล่าว

หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี 2558 อินโดนีเซียได้ประกาศว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ซึ่งรัฐบาลแจ้งว่าในปีที่ผ่านมาตัวเลขการทำลายป่าลดลงจากเดิมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2560

แต่ทางด้านนักวิจารณ์ได้วิพากษ์ถึงปัญหาว่า กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างถูกต้องใดใดเลย

“บริษัทต่างๆ และรัฐบาลเอาแต่ตำหนิชุมชน” Ratri Kusomohartono นักกิจกรรมรณรงค์ของกรีนพีช กล่าว

“แต่สิ่งที่เราได้ยินจากชุมชนในพื้นที่ คือ คนที่จุดไฟเผาป่าล้วนได้รับเงินตอบแทนจากบริษัท สำหรับชุมชนแล้วเงินก้อนโตที่ได้รับสามารถสร้างแรงจูงใจให้กล้าเผาป่าพื้นที่ของประเทศได้”

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบปดี Joko Widodo ได้ประกาศพักชำระหนี้ในพื้นที่ที่ป่าถูกทำลายเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการฟื้นคืนพื้นที่ป่าพรุและผืนป่าปฐมภูมิ

แต่กรีนพีซให้ความเห็นว่า เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ โดยอ้างว่า 1 ล้านเฮกตาร์ในพื้นที่พักชำระหนี้ได้ถูกเพลิงไหม้ตั้งแต่ปี 2558-2561 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาป่านั่นหละ

 

พื้นที่ป่าในอินโดนีเซียลดลงเกือบหนึ่งในสี่นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา / PHOTO : Reuters: Nova Wahyudi

 

อะไรเป็นสิ่งที่จะทำต่อ

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอเป็นอุปสรรคสำคัญในการป้องกันการเผาป่า

เมื่อต้องเผชิญกับการวิจารณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอินโดนีเซียแสดงข้อเรียกร้องถึงบริษัทจากมาเลเซียและสิงคโปร์บางแห่งว่ามีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อการเกิดเพลิงไหม้ในรีเยาและกาลิมันตันตะวันตก

ขณะเดียวกันทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างก็ยินดีให้ความช่วยเหลือในการดับไฟครั้งนี้

“ไฟป่าจะต้องถูกดับลงโดยเร็วที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาเลเซียกล่าว “ทางมาเลเซียเสนอที่จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นต่อรัฐบาลอินโดนีเซีย” เช่นเดียวกับรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ก็พร้อมจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ด้วยเช่นกัน

แต่ในมุมมองของนักกิจกรรมจากกรีนพีซให้ความเห็นว่า ต่อให้โยนทรัพยากรเท่าไหร่ลงในเปลวเพลิงก็ไม่น่าจะดับไฟได้สำเร็จจนกว่าจะถึงช่วงฤดูฝนในเดือนพฤศจิกายน

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง Indonesia battles forest fires, criticism from neighbours over toxic haze