‘พญาแร้ง’ เทศบาลประจำผืนป่า: สัตว์แห่งความหวังกับปฐมบทแห่งการฟื้นฟูคืนสู่ธรรมชาติ

‘พญาแร้ง’ เทศบาลประจำผืนป่า: สัตว์แห่งความหวังกับปฐมบทแห่งการฟื้นฟูคืนสู่ธรรมชาติ

หากพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘หน้าที่’ หลายคนคงเข้าใจถึงกิจที่พึงกระทำซึ่งในสังคมมนุษย์ หน้าที่เกิดจากสิ่งที่เป็นผลพวงของความรับผิดชอบ สำหรับ ‘ป่า’ อันถือเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ หรือหากมองในเชิงสังคมวิทยาก็อาจหมายถึง ‘ชุมชน’ ที่มากไปด้วยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดล้วนมีหน้าที่ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยผู้ที่มีชื่อว่าธรรมชาติ 

ยกตัวอย่างกิจที่พึงกระทำของสัตว์ป่าตามทฤษฎีห่วงโซ่อาหารคร่าว ๆ อย่างเสือโคร่งที่เป็นสัตว์กินเนื้อ ผู้คอยทำหน้าที่ควบคุมจำนวนประชากรสัตว์กินพืชด้วยการจับกิน รวมถึงกวางที่คอยแทะเล็มหญ้าเพื่อกำจัดวัชพืช ซึ่งวงจรดังกล่าวจะไม่สมบูรณ์เลยหากขาดผู้คอยทำหน้าที่ ‘ชะล้าง’ ระบบนิเวศให้คงความสะอาด 

‘พญาแร้ง’ จึงได้เข้ามารับหน้าที่นี้ตามบทบาทที่ได้รับจากธรรมชาติ ในฐานะ ‘เทศบาลประจำป่า’ ผู้มีหน้าที่ทำความสะอาด โดยการกินซากสัตว์ที่ตายแล้ว   

ใครคือพญาแร้ง

พญาแร้งเป็นนกขนาดใหญ่ เป็นสัตว์ในวงศ์เหยี่ยว (Family Accipitridae) หรือนกวงศ์ผู้ล่า (Bird of Prey) มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มักหากินอยู่ตามพื้นที่โล่งแจ้ง โดยมักจะบินร่อนเป็นวงกลมบนท้องฟ้าระดับสูง สามารถร่อนกลางอากาศอยู่นานนับชั่วโมง โดยไม่ต้องกระพือปีก พบมากในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย จีน พม่า และอินโดจีน

สำหรับเมืองไทยเรื่องราวของพญาแร้งเคยถูกบันทึกผ่านงานเขียนสารคดีของ พงศกร ปัตตพงษ์ เรื่อง ‘แร้งไทยในวิกฤต’ ในขณะที่ผู้เขียนเป็นผู้ช่วยวิจัยภาคสนาม โครงการวิจัยเพื่อความยั่งยืนของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ราวปี 2535 ซึ่งในช่วงนั้น พงศกรได้มีโอกาสเก็บรวบรวมข้อมูลและบันทึกพฤติกรรมผ่านภาพถ่าย โดยมี ‘แร้งหัวแดง’ (Red – Headed Vulture) หรือพญาแร้งเป็นพระเอกของเรื่อง มีฉากเป็นผืนป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเคยเป็นแหล่งพบ ‘แร้ง’ ถึง 3 ชนิด ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว และเเร้งสีน้ำตาล

Photo : Chaiyan Kasorndorkbua

สำหรับแร้งในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ตามสายวิวัฒนาการแล้วถือเป็น ‘แร้งโลกใหม่’ ที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับนกกระสามากกว่า ‘แร้งโลกเก่า’ ที่พบในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา 

ซึ่งแร้งโลกใหม่จะมีการใช้จมูกสูดหากลิ่น เพื่อหาซากกินเป็นอาหาร ในสหรัฐอเมริกาเคยมีการศึกษา ด้วยการวางเหยื่อล่อไว้ในพุ่มไม้หนาทึบ ซึ่งไม่มีทางมองเห็นซากด้วยการใช้สายตาจากมุมสูง แต่แร้งในแดนตะวันตกนั้นสามารถรับรู้ และลงมากินซากนั้นจนได้ 

ในขณะที่แร้งโลกเก่านี้จะมีการใช้สายตาในการหาซากกิน ซึ่งต่างจากแร้งโลกใหม่ที่จะใช้จมูกในการหาอาหาร โดยพงศกรเคยพูดคุยกับอดีตคนงานลาดตระเวน ซึ่งเคยทำงานในพื้นที่มานับ 10 ปี คู่สนทนาของเขาเล่าว่า จากประสบการณ์คราวหนึ่งเขาได้ท่องแดนไพรผ่านป่าดิบที่ยอดไม้สูงขึ้นหนาทึบ มีซากกวางซากหนึ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากเบื้องบน แต่ก็มีแร้งหลายตัวลงมาจิกกิน 

นายเทศบาลที่ชื่อว่า ‘พญาแร้ง’

“แม้เขาจะเป็นนกนักล่า แต่วิธีการหาอาหารของแร้งไม่เหมือนกับเหยี่ยวหรือนกอินทรี เขาไม่ฆ่าสัตว์อื่น แต่จะรอเวลาให้สัตว์ตาย แล้วก็กินเนื้อจากซากสัตว์เหล่านั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงมีหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศ เป็นนกเทศบาลประจำผืนป่า”

ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายเรื่องการทำหน้าที่ของพญาแร้งในฐานะนกเทศบาลว่า พญาแร้งเป็นผู้ที่ทำให้ระบบนิเวศในผืนป่าเกิดความสมดุล และคงความหลากหลายทางชีวภาพ หากที่ไหนมีพญาแร้งพื้นที่แห่งนั้นจะต้องมีซากสัตว์ และแสดงว่าต้องมีสัตว์ป่าผู้ล่าอาศัยอยู่ ทำให้เห็นว่านกเทศบาลตัวนี้ คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่

นอกจากการมีอยู่ของพญาแร้งจะแสดงให้เห็นถึงความครบครันของธรรมชาติแล้ว การกำจัดซากสัตว์ของพญาแร้ง ย่อมเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นและอาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้น ๆ ซึ่งหากมองในมุมด้านสุขอนามัย พญาแร้งจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะผู้ดูแลสุขภาพของผืนป่าให้ปลอดภัยปราศจากโรคร้าย

แม้พญาแร้งจะมีหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในธรรมชาติ แต่ในด้านความเชื่อของมนุษย์ สัตว์ตระกูลแร้งมักถูกมองในแง่ลบเกี่ยวกับเรื่องความตาย และถือเป็นสัตว์อัปมงคล หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ อธิบายว่า เดิมทีคนไทยได้รับข้อมูลเรื่องความเชื่อมากกว่าหลักข้อเท็จจริง เพราะในอดีตการพัฒนาด้านการวิจัยสัตว์ป่ายังมีน้อย และส่วนใหญ่เรื่องราวของสัตว์กินซากชนิดนี้ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อออกไปในด้านลบมาโดยตลอด

ดังนั้นจึงมีความเชื่อฝังลึกว่า พญาแร้งหรือแร้งชนิดอื่น ๆ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอัปมงคล แต่เชื่อว่าหากวงการวิชาการและองค์กรสื่อสารมวลชน ร่วมมือกันเผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณูปการของพญาแร้ง ประชาชนหรือคนในชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า จะมีมุมมองและทัศนคติที่ดีขึ้นต่อสัตว์ตระกูลนกล่าเหยื่อชนิดนี้

Photo : Chaiyan Kasorndorkbua

โศกนาฏกรรมกลางป่าห้วยขาแข้ง

ตามปฏิทินสากลเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นเดือนแห่งความรัก ที่ผู้คนมักจะแสดงความห่วงใยและส่งความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ แต่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 ได้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นกลางผืนป่าที่นับได้ว่าอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

พงศกรได้พูดถึงเหตุการณ์ในวันนั้นผ่านสารคดีของเขาว่า สิ่งที่ได้พบเห็นวันนั้นคือ ซากเก้งที่ถูกตัดแบ่งครึ่งทางหัวหนึ่งชิ้นทางหางอีกหนึ่งชิ้น ซึ่งเก้งเคราะห์ร้ายไร้ชีวิตตัวดังกล่าวถูกเจาะด้วยมีดเป็นรูพรุนแต่ละรูนั้นถูกบรรจุด้วย ‘ยาพิษ’ จากฝีมือของพรานป่า เพื่อหวังล่อเสือโคร่งให้มาแทะเล็มก่อนจะสิ้นใจด้วยฤทธิ์มัจจุราชที่มาในสภาพของยาเกล็ดสีม่วง อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับด่างทับทิม แต่อันตรายกว่าประมาณ 1 ล้านเท่า เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ฟูราดาน’

พรานหัวใสคาดหวังว่า เสือโคร่งจะลงมากินเหยื่ออาบยาพิษแล้วสิ้นใจลงโดยปราศจากการยิงด้วยกระสุนปืน ส่งผลให้ได้รับแผ่นหนังเสือที่ไร้รอยตำหนิ แต่เหตุกลับตาลปัตรไป เมื่อผู้เคราะห์ร้ายหาใช่เจ้าลายพลาดกลอน แต่เป็นนกเทศบาลผู้ทำหน้าที่กำจัดซากสัตว์

ในเหตุการณ์ครั้งนั้นป่าห้วยขาแข้งต้องสูญเสียพญาแร้ง อันเป็นสมาชิกตัวสำคัญของระบบนิเวศที่ตายลงจากพิษของฟูราดาน ผู้เขียนบันทึกสิ่งที่เขาพบเห็นว่า บริเวณโดยรอบของซากเก้งนั้น ถูกรายล้อมไปด้วยซากพญาแร้ง กระจัดกระจายไปทั่วอาณาบริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ ซึ่งโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในวันนั้น ถือเป็นการปิดฉากตำนานนกเทศบาลประจำป่าห้วยขาแข้ง   

Photo : Phongsakorn Pattaphong

ปฐมบทแห่งการฟื้นฟูพญาแร้ง

ราว 30 ปี ที่พญาแร้งสูญพันธุ์หายจากผืนป่าประเทศไทย โศกนาฏกรรมในวันแห่งความรักเมื่อปี 2535 ถูกหยิบยกเป็นบทเรียนให้กับคนแวดวงอนุรักษ์ โครงการ ‘การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ จึงถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กร ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อฟื้นฟูและขยายพันธุ์พญาแร้งคืนสู่ผืนป่าห้วยขาแข้ง 

เริ่มต้นได้มีการนำพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่มีอยู่ในประเทศ 5 ตัวมาผสมพันธุ์เพื่อให้เกิดหน่อเนื้อในการขยายพันธุ์และปล่อยคืนสู่ผืนป่า โดย ชัยอนันต์ โภคสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้อธิบายว่า ความหวังของโครงการตอนนี้คือ ‘ป๊อก’ พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์นครราชสีมา ที่ถูกย้ายมาเทียบคู่กับ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียที่อยู่ในการดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 

“ความหวังของเรา คืออยากให้เขามีลูกและทำรังวางไข่ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีกระบวนการศึกษาวิจัยแล้วว่า ห้วยขาแข้ง เป็นสถานที่ที่เหมาะสมและอำนวยต่อการฟื้นฟูพญาแร้งที่สุด เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และในอดีตเคยเป็นถิ่นฐานอาศัยของพญาแร้งเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว” ชัยอนันต์ กล่าว

ภาพคณะทำงานโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งคืนถิ่นอาศัยของประเทศไทย

ในขณะที่ ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ กล่าวว่า เรื่องการฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่วงการอนุรักษ์ต้องทำ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักทางวิชาการที่ว่า พญาแร้งเพศเมียเป็นผู้ครอบครองอาณาเขต และเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าตัวเองจะเลือกเพศผู้ตัวใดเป็นคู่ครอง 

ดังนั้นตอนนี้จึงต้องให้ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียที่ไม่เคยต้องมือชายใดมาก่อน ทำความรู้จักมักคุ้นกับ ‘ป๊อก’ ซึ่งทางศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ให้พญาแร้งเพศผู้ที่ถูกอิมพอร์ตจากเมืองย่าโม อาศัยอยู่กรงข้าง ๆ มิ่งโดยมีเพียงรั้วตาข่ายโปรงแสงกั้นไว้ เพื่อให้ทั้งคู่มองเห็นซึ่งกันและกันได้

มิ่งพญาแร้งเพศเมีย
ป๊อกพญาแร้งเพศผู้

ในระหว่างการดูใจนี้ นักวิจัยจะต้องคอยเก็บข้อมูลและติดตามพฤติกรรมของทั้งคู่ ว่าพร้อมที่จะ ‘เข้าหอ’ แล้วหรือยัง ซึ่งหากป็อกและมิ่งมีเคมีตรงกันและพร้อมที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ทางคณะทำงานก็จะย้ายทั้งคู่มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และเข้าสู่การผสมพันธุ์ในกรงขนาดใหญ่ที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นในบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

“หากถึงขั้นตอนการผสมพันธุ์ เราจะย้ายทั้งคู่เข้าไปที่กรงขนาดใหญ่ที่หน่วยซับฟ้าผ่า เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ เพราะเราหวังว่าในอนาคตทั้งคู่จะผลิตลูกออกมาได้ ซึ่งจากข้อมูลพญาแร้งจะวางไข่ครั้งละ 1 ใบ และมีวงรอบการผสมพันธุ์ทุก 2 ปี (คือวางไข่ปีเว้นปี) ตอนนั้นเราก็จะดำเนินการเลี้ยงลูกของพวกมันให้โตข้ามปี แล้วก็ปล่อยสู่ธรรมชาติ ซึ่งมิ่งและป๊อกจะทำหน้าที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เป็นบรรพบุรุษของประชากรพญาแร้งในป่าห้วยขาแข้งต่อไป

แม้แสงแห่งความสำเร็จจะยังไม่สว่างเรืองรอง แต่คณะทำงานทุกคนยังคงดำเนินภาระหน้าที่ของตนเองต่อไปด้วยความหวัง บนพื้นฐานแนวคิด ‘ทำให้ถึงที่สุด’ เพื่อให้พญาแร้งสามารถกลับมาโบยบินบนน่านฟ้าผืนป่าห้วยขาแข้ง และทำหน้าที่เป็นนกเทศบาล คอยดูแลระบบนิเวศตามบทบาทที่ธรรมชาติได้สรรค์สร้างต่อไป

 


ภาพเปิดเรื่อง โครงการ ‘การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร