บันทึกหน้าแรกของเจ้าหน้าที่ใหม่ ‘เมื่อฉันได้ไปอุ้มผาง’

บันทึกหน้าแรกของเจ้าหน้าที่ใหม่ ‘เมื่อฉันได้ไปอุ้มผาง’

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสลงพื้นที่ครั้งแรก เพื่อศึกษาดูงานในฐานะเจ้าหน้าที่ใหม่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งในครั้งนี้เรามีจุดประสงค์หลักเพื่อไปเยี่ยมเยือน และมอบสิ่งของที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แก่ชาวบ้านที่ศูนย์ผ้าทอจอมป่า อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 

ด้วยระยะทางที่ไกลบวกกับเส้นทางระหว่างอำเภอแม่สอดไปยังอำเภออุ้มผาง เป็นทางขึ้นเขามีความลาดชัน และจำนวนทางโค้งที่เยอะ ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างนาน 

เมื่อรถวิ่งออกห่างกรุงเทพฯ มากเท่าไหร่ ความเจริญทางวัตถุก็มีให้เห็นน้อยลง ในทางกลับกันความเจริญทางธรรมชาติมีให้เห็นมากขึ้น แต่เมื่อได้มองวิวที่นอกหน้าต่างก็ทำให้รู้สึกคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทางได้บ้าง กว่าจะถึงอุ้มผางก็มืดค่ำเสียแล้ว คืนนี้เราพักกันที่รีสอร์ทในตัวเมืองอุ้มผาง เพราะพรุ่งนี้จะมีภารกิจเดินทางไปยังศูนย์ผ้าทอจอมป่าในเวลาเช้าตรู่

ในเช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2563 พวกเราได้เดินทางมาถึงศูนย์ผ้าทอจอมป่า วันนี้มีกำหนดการพบปะพูดคุยกับตัวแทนชาวบ้านกลุ่มสมุนไพรและกลุ่มผ้าทอจอมป่า ด้วยความที่ฉันเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ จึงไม่ทราบมาก่อนถึงรายละเอียด เลยสอบถามความเป็นมาของผ้าทอจอมป่าได้ความว่า เป็นผ้าทอพื้นถิ่นของพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่วและปกาญอ ซึ่งการทอผ้าถือเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของหญิงสาวชาวกะเหรี่ยง ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น 

โดยหญิงสาวทุกคนจะต้องทอผ้าใส่เอง ซึ่งลักษณะของผ้าทอจะทำขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในทุกขั้นตอนกระบวนการล้วนผ่านการถักทอด้วยมือ ทำให้มีความรู้สึกว่า กว่าจะได้ผ้ามาสวมใส่แต่ละชิ้นต้องใช้เวลา และความยากลำบาก กลายเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ 

ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้มองเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเข้าไปช่วยส่งเสริมผลักดันให้ผ้าทอพื้นถิ่นสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน เกิดโครงการผ้าทอจอมป่า ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ผ้าทอกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น และถือเป็นการอนุรักษ์ให้สืบทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

นอกจากนี้คณะของเรายังได้เข้าไปพบปะกับตัวแทนชาวบ้านกลุ่มสมุนไพรรักษาป่า ซึ่งในตอนแรกฉันเกิดความสงสัยว่า การปลูกสมุนไพรจะช่วยรักษาป่าได้ยังไง จึงได้นั่งฟังบทสนทนาระหว่างตัวแทนชาวบ้าน และพี่เอก (เอกวิทย์ เตระดิษฐ์) ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ความว่า การที่มูลนิธิเข้าไปส่งเสริมการปลูกสมุนไพรให้กับคนในพื้นที่ เนื่องด้วยแต่เดิมชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบพื้นที่ป่า ยังคงทำกินด้วยการอาศัยหาของป่ามาดำรงชีพ 

ทำให้ชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน  นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวบ้านในยุคนั้นนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นกลายเป็นปัญหาไม่รู้จบ

ดังนั้นทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงเริ่มระดมทุน เพื่อพัฒนาโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศร่วมกับกรมป่าไม้มา ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยทางมูลนิธิสืบฯ มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางประสานงาน เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ อีกทั้งยังเข้าไปช่วยส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน 

เมื่อชาวบ้านมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงไม่ต้องเข้าไปเบียดเบียนพื้นที่ป่าเพื่อทำกิน ถือเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าแบบยั่งยืน ตามแนวคิดที่ว่า ‘คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้’ กลายเป็นโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ในและนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ทางมูลนิธิสืบฯ ได้เข้าไปส่งเสริมการพืชปลูกสมุนไพรรักษาป่า โดยวัตถุประสงค์เพื่อลดการทำลายป่า และคืนสุขภาพที่ดีให้แก่ชุมชน 

จากพบปะพูดคุยในครั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า โดยมีแนวคิดที่ว่า ‘การรักษาน้ำรักษาป่า’ คือความยั่งยืนของแหล่งอาหาร และที่อยู่ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านได้มีความเข้าใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า และปฏิบัติตนอยู่ภายใต้กรอบกติการ่วมกัน  มีการแบ่งแยกแนวเขตอนุรักษ์กับพื้นที่ทำกินอย่างชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่กับชาวบ้านสามารถร่วมกันรักษาป่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เสร็จสิ้นภารกิจพบปะกับชาวบ้าน คณะของเราจึงเดินทางต่อ เพื่อมอบสิ่งของจำเป็นให้กับเจ้าหน้าที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันต่อไป

จากการลงพื้นที่ครั้งแรกของฉันถือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และยังมีอะไรที่ฉันต้องเรียนรู้อีกมากในบทบาทเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ แน่นอนว่าการที่ฉันได้มีโอกาสไปอุ้มผางในครั้งนี้ ทำให้ฉันมองเห็นภาพการทำงานของมูลนิธิฯ ได้ชัดเจนขึ้น ทำให้รู้ว่าการทำงานของฉันไม่ใช่แค่การนั่งทำงานในห้องสี่เหลี่ยม แต่มีป่าเป็นห้องทำงานอีกหนึ่งที่

ก่อนหน้านี้ฉันเคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ที่การทำงานของฉันเป็นไป  เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำทุกสิ่งเพื่อตัวเอง โดยไม่ค่อยได้คิดถึงสิ่งรอบ ๆ ตัวเท่าไหร่ ในวันนี้ฉันมีโอกาสได้เดินทางเข้าป่า ได้ไปสัมผัสธรรมชาติ ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กลง และมองโลกได้กว้างขึ้น มองเห็นสิ่งรอบตัวมากขึ้น เห็นสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่ต่างอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติ ได้เห็นความงดงามและความเขียวขจีผืนป่า ฉันรู้สึกรัก และอยากที่จะเก็บรักษาความงดงามนี้ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

นับเป็นก้าวแรกชองฉันในการทำงานเพื่อรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม งานที่ไม่ได้ทำเพื่อแค่ตัวฉันเอง แต่เป็นงานที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะภาพความสวยงามของสิ่งปลูกสร้าง และความเจริญทางวัตถุ นั่นเทียบไม่ได้เลยกับความงดงามของธรรมชาติ และธรรมชาติไม่ได้ให้แค่ความงดงามเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความยั่งยืนในการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราใช้ดื่มกิน อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ล้วนผลิตมาจากธรรมชาติ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราควรให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากกว่าความเจริญทางวัตถุนิยม

อุ้มผางสอนให้ฉันเห็นความสำคัญของ การอยู่ร่วมกันของคนกับป่า โดยเราจะต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองอย่างเท่า ๆ กัน ในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ฉันรู้สึกประทับใจและขอขอบคุณชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ที่ร่วมกันรักษาผืนป่าไว้ด้วยวัฒนธรรมและอาชีพของตนเอง เพราะผืนป่าไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติ

สุดท้ายนี้ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังคงทำงานเพื่อธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่า ต่อไปด้วยความต่อเนื่อง สืบสานปณิธานเราทำงานให้พี่สืบ ซึ่งทุกเม็ดเงินจากการสนับสนุนของทุกท่าน คือการสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติให้กับคนไทย

ร่วมสนับสนุนการทำงานและรักษาป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 


บทความ จุฑาทิพย์ หล้ามูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายระดมทุน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร