อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด: สัญญาณการทำลายป่าอนุรักษ์ครั้งใหญ่ภายใต้ EEC (Eastern Economic Corridor)

อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด: สัญญาณการทำลายป่าอนุรักษ์ครั้งใหญ่ภายใต้ EEC (Eastern Economic Corridor)

“โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” แม้สันเขื่อนจะอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ แต่จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเขาสิบห้าชั้น กว่า 7,500 ไร่ ซึ่งเป็นป่าที่ราบต่ำและเป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญของช้างป่า กระทิง กวางป่า และสัตว์ป่าอื่นๆ ที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดปัจจุบัน ได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเดิม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 นับเป็นการเห็นชอบโครงการที่จะทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ที่สุด ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
.

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA)โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ของกรมชลประทาน ซึ่งกำลังเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทย เนื่องจาก โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดนั้น ถึงแม้สันเขื่อนจะอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ แต่จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเขาสิบห้าชั้น กว่า 7,500 ไร่ ซึ่งเป็นป่าที่ราบต่ำและเป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญของช้างป่า กระทิง กวางป่า และสัตว์ป่าอื่นๆ ที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก

กระผม ในฐานะอดีตผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีส่วนร่วมในการนำเสนอชี้แจงข้อมูลผลกระทบด้านนิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่าของโครงการนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่มติที่ประชุมในครั้งนั้น ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเจ้าของโครงการ หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ต่อไป

ซึ่งข้อเสนอแนะด้านป่าไม้และสัตว์ป่าได้ชี้แจงสรุปว่า “พื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเขาสิบห้าชั้น มีลักษณะเป็นป่าดิบแล้งที่ราบต่ำ ส่วนใหญ่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 60 เมตร ซึ่งบริเวณที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับช้างป่าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และพบร่องรอยการใช้พื้นที่ของช้างป่าเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ สามารถถ่ายภาพช้างฝูงใหญ่ได้ถึง 60-80 ตัว และยังมีแหล่งน้ำขนาดเล็กและแหล่งหญ้าสำหรับช้างป่าได้ใช้อย่างสมบูรณ์ เพื่อช่วยลดปัญหาช้างป่าออกมารบกวนราษฎรในอำเภอแก่งหางแมวอย่างได้ผลดี”

นอกจากนี้ ในคราวนั้นยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ ให้ความคิดเห็นขอให้ทบทวนนโยบายการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดเพื่อนำน้ำไปช่วยแผนการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (โครงการอีอีซี) ที่จังหวัดระยอง ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศในพื้นที่คลองวังโตนดได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังมีการเสนอให้เพิ่มเติมรายละเอียดในการวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนให้ชัดเจน และเห็นควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของโครงการ อย่างเปิดเผยและทั่วถึง

แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดปัจจุบัน ก็ได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเดิม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 โดยไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดก่อนแต่ประการใด และถือเป็นการเห็นชอบโครงการที่จะทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ที่สุด ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่สังคมไทยต้องคอยจับตาถึงอนาคตของพื้นที่อนุรักษ์ โดยสัญญาณที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1. หน่วยงานด้านพัฒนา เห็นพื้นที่อนุรักษ์ไม่มีความหมาย หากต้องทำลายเพื่อการพัฒนา: การกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่ป่าคุ้มครอง (Protected area) โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นการตั้งกติกาของสังคมว่า ประเทศไทยจะคุ้มครองพื้นที่ป่าธรรมชาติจากความโลภและความไม่พอเพียงของมนุษย์จากการพัฒนาต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทำหน้าที่ดูแลรักษา และพวกเขาเหล่านั้นได้เสียสละ บางครั้งถึงแก่ชีวิต เพื่อต่อสู้รักษาป่าจากผู้มีอิทธิพลในหลายระดับ เพื่อยืนหยัดรักษาป่าให้คนไทยทั้งชาติ

แต่ที่ผ่านมากลับปรากฏว่า หน่วยราชการอื่นๆ โดยเฉพาะกรมชลประทาน กลับเสนอโครงการทำลายป่าอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำอย่างไม่หยุดหย่อน ผ่านขบวนการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่หลายครั้งเป็นไปอย่างฉาบฉวยและไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะผลกระทบด้านป่าไม้และสัตว์ป่า มีการจัดทำเพียงเพื่อให้ครบขบวนการ และใช้แรงกดดันในระบบราชการ และทางการเมือง เพื่อผ่านโครงการในคณะกรรมการหลายระดับ

ซึ่งโดยหลักการแล้วหน่วยราชการอื่นๆ ด้านการพัฒนา ควรมีความตระหนักอย่างยิ่งในเรื่องนี้ ไม่ควรพัฒนาโครงการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือหากจำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยงการทำลายป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างยิ่ง และมีการระบบการประเมินผลกระทบที่จริงจัง และมีคุณภาพสูง

2. หน่วยงานด้านพัฒนาไม่เชื่อว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติ ในภาวะโลกร้อน และวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติ: หากไม่ใช่คนเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ก็จะเห็นชัดว่าโลกในปัจจุบัน กำลังเกิดวิกฤติการณ์ภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจนมากขึ้นทุกวัน ตัวอย่างชัดมากในปีนี้ เช่น พื้นที่โลกในเขตอบอุ่นปีนี้มีอุณหภูมิพุ่งทะลุสถิติหลายแห่ง บางแห่งอุณหภูมิพุ่งสูงเกือบ 50C มีคนร้อนตายเป็นจำนวนมาก มีไฟป่าลุกลามหนักขึ้นหลายเท่าในหลายๆ พื้นที่ รวมทั้งประเทศไทยในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ส่วนภาวะน้ำแข็งละลายจากแถบขั้วโลก เป็นไปอย่างรวดเร็วเกินคาด เช่น เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีน้ำแข็งละลายจากเกาะกรีนแลนด์ภายในวันเดียวเป็นปริมาณมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏว่าก่อน

รัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงภาวะนี้ จึงรณรงค์ให้รักษาป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อช่วยเก็บกักคาร์บอน และรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับโลก แต่หน่วยราชการไทยด้านพัฒนา กลับคิดแต่โครงการทำลายป่าสร้างอ่างเก็บน้ำไม่หยุดหย่อน

ในโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะต้องมีการตัดไม้ออกจากพื้นที่น้ำท่วมเป็นแสนต้น แต่ผู้เสนอโครงการก็ไม่รู้สึกสะทกสะท้าน คิดแต่ผลตอบแทนจากการก่อสร้างในระยะสั้น โดยไม่พยายามคิดหาเทคนิคและวิธีการที่จะพัฒนาโดยไม่ทำลายป่าไม้

3. หน่วยงานด้านพัฒนา ไม่สนใจอนาคตสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์: หากดูพื้นที่ประเทศไทยโดยรวมในปัจจุบัน เราในฐานะมนุษย์ใช้พื้นที่เพื่อการพัฒนาจนกระทั่งเหลือพื้นที่เพียงไม่เกิน 7-8% ของพื้นที่ประเทศ ให้ช้างป่าได้มีโอกาสอยู่อาศัย และเหลือพื้นที่เพียง 3% ให้เสือโคร่งได้ดำรงพันธุ์

ส่วนวัวแดงก็ยิ่งวิกฤติ คือเหลือพื้นที่ให้วัวแดงใช้เพียง 1% ของพื้นที่ประเทศ พื้นที่เหล่านั้นถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเปรียบเสมือนเขตอภัยทาน ให้ชีวิตอื่นๆ ได้มีโอกาสดำรงอยู่ในแผ่นดินไทย ซึ่งเราไม่ควรมีการโครงการพัฒนาใดๆ ในพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของสัตว์ป่าอีกแล้ว

นอกจากนี้ การรักษาสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลกเหล่านี้ ยังเป็นคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลไทยให้ไว้กับชาวโลกในรูปของอนุสัญญามรดกโลก อนุสัญญาคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (CITES) และปฏิญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่หน่วยงานพัฒนาของไทยกลับไม่สนใจประเด็นเหล่านี้ และยังคงเสนอโครงการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลกอย่างต่อเนื่อง และมักมีการตั้งคำถามแบบเชิงประชดใส่คนคัดค้านว่า “จะเอาคน หรือจะเอาสัตว์ป่า” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทิฐิและความไม่เข้าใจการจัดการพื้นที่ของประเทศในองค์รวม ของหน่วยงานด้านพัฒนา ว่าตรงไหนควรพัฒนา ตรงไหนควรเก็บรักษา
.

แผนที่แสดงภาพพื้นที้น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ซ้อนทับที่อยู่อาศัยและหากินของช้างป่า

.
ในขั้นตอนถัดไป โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด จะต้องถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้พิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณ ในที่นี้ จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารในรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิจารณานโยบายและแนวทางการพัฒนาในอนาคตอย่างรอบคอบอย่างยิ่ง โดยไม่ควรสนับสนุนให้มีโครงการพัฒนาเพื่อทำลายป่าอนุรักษ์เป็นผืนใหญ่อีกต่อไป

หรือหากโครงการพัฒนาต้องรุกล้ำพื้นที่ป่าอนุรักษ์บ้าง ควรมีการพิจารณาการทำประเมินผลกระทบให้ได้จริงจังและมีมาตรฐานสูง ครอบคลุมทางเลือกหลายๆ ทาง โดยให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบด้านป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศที่เปราะบางเป็นกรณีพิเศษ และเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นที่ครอบคลุมสังคมในหลายระดับในอนาคต

และขอเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ใส่ใจกับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างจริงจัง เพราะการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่านั้นที่จะทำให้อนาคตของประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างแท้จริง ภายใต้ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลกที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ

 

 


โดย ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2557-2563