การไหลของตะกอนไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จะลดลงประมาณ 97% ภายในปี 2583

การไหลของตะกอนไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จะลดลงประมาณ 97% ภายในปี 2583

‘สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง’ กำลังเกิดผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

ภายในปี 2583 การไหลของตะกอนไปยัง ‘สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง’ จะลดลงประมาณ 97% ส่งผลต่อผลผลิตในแม่น้ำ ธรณีสัณฐานวิทยา สัณฐานของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ โดยสาเหตุหลักมาจากการสร้างเขื่อนปิดกั้นทางน้ำ

เขื่อนเป็นเครื่องมือเก่าแก่และเป็นที่นิยมมากที่สุดในการจัดการน้ำจืด เมื่อมีปัญหาเราก็ ‘ปิดกั้น’ มันเสีย เขื่อนแห่งแรกของโลกมีชื่อว่า Jawa ยาวกว่า 100 กิโลเมตรและมีอายุกว่า 5,000 ปี ว่ากันว่าชาวจีนมีคำพูดว่า “ผู้ใดกำหนดน้ำได้ ผู้นั้นปกครองประเทศได้” นั้นคือคำกล่าวในยุคสมัยนั้น ในยุคที่ทรัพยากรยังมีเพียงพอต่อความต้องการที่สอดคล้องกับประชากรในห้วงเวลาหนึ่ง

การดูแลสิ่งแวดล้อมจึงดูเป็นเรื่องไกลตัว รู้สึกว่าใช้เท่าไหร่ก็ยังไม่เกิดผลกระทบ ประกอบกับยังไม่มีการศึกษาหรืองานวิจัยมาศึกษาถึงผลกระทบ ข้อดีข้อเสีย อย่างถี่ถ้วน

แต่ปัจจุบันเครื่องมือการจัดการน้ำแบบนี้อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ผลกระทบจากการสร้างในยุคนั้นกำลังส่งผลในยุคนี้ ยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ทำให้เราสามารถทราบถึงผลกระทบจากงานวิจัยต่างๆ งานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่า การปิดกั้นทางน้ำนั้น ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณปากแม่น้ำนั้นลดลง เนื่องจากขาดแคลนตะกอน

โดยเขื่อนป้องกันตะกอนไม่ให้ไหลไป ส่งผลให้ผืนดินเสียความสมบูรณ์ เกิดการทรุดตัว การกัดเซาะ น้ำท่วม การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และเมื่อตะกอนหายไป พลังงานจากน้ำที่เคยใช้พัดพาตะกอน จึงเปลี่ยนเป็นพลังทำลายกัดเซาะตลิ่งทั้งสองข้างรวมทั้งพื้นท้องจนแม่น้ำลึกขึ้นกว้างขึ้น 

ส่วนตะกอนที่ทับถมอยู่ในน้ำนิ่ง ช่วยให้สาหร่ายเซลล์เดียวเจริญเติบโตได้ดีขึ้น จนแสงไม่สามารถส่องไปถึงด้านล่าง ขาดออกซิเจน จนน้ำไปสู่การเน่าเสียของน้ำในที่สุด

และผลกระทบสุดท้ายของการฝืนธรรมชาติจะย้อนกลับมาหาเราในที่สุด บ้านริมน้ำพังทลายจากการกัดเซาะชายฝั่ง สัตว์น้ำบางสายพันธุ์มีจำนวนลดลงจนนำไปสู่การสูญพันธุ์ ระบบนิเวศค่อยๆ พังทลายลงอย่างช้าๆ 

การฝืนธรรมชาติดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกับการกู้เงินมาใช้ เรากู้เงินมาลงทุนเพื่อขยายเศรษฐกิจ ตอบสนองความต้องการของเรา เราสร้างหนี้โดยความฝันที่ว่าจะหาเงินมาได้มากกว่าที่กู้ไว้ และจะใช้คืนภายหลัง 
และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่สิ่งแวดล้อมแบกรับภาระนี้ไม่ไหว การพังทลายที่เป็นห่วงโซ่ก็จะเกิดขึ้น หากเราไม่ชดเชยสิ่งที่กู้ยืมมา 


เรื่อง อัครวิชญ์ จันทร์พูล

อ้างอิง