พบฉลามครีบขาวกำลังทรมานจากโรคผิวหนังลึกลับในประเทศมาเลเซีย

พบฉลามครีบขาวกำลังทรมานจากโรคผิวหนังลึกลับในประเทศมาเลเซีย

นักชีววิทยาทางทะเลกำลังสอบสวนโรคผิวหนังลึกลับที่ทำให้ฉลามครีบขาว (whitetip reef sharks) เจ็บป่วยในประเทศมาเลเซีย รายงานเบื้องต้นระบุว่าสาเหตุอาจเกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น
.

ฉลามครีบขาวได้ชื่อนี้มาจากจุดสีขาวที่ปลายครีบด้านบน เราสามารถพบเห็นฉลามชนิดนี้รวมตัวกันเป็นฝูงรอบๆ แนวปะการังในช่วงเวลากลางวัน อีกทั้งยังเป็นที่นิยมเยี่ยมชมในหมู่นักดำน้ำ พวกมันจะออกหากินในเวลากลางคืนโดยเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นปลาขนาดเล็กและสัตว์อื่นๆ

ภาพถ่ายของฉลามตัวหนึ่งที่บริเวณหัวมีรอยจุดและบาดแผลกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ช่างภาพใต้น้ำบันทึกภาพนั้นได้ที่ชายฝั่งรัฐซาบะฮ์ เกาะบอร์เนียว

หลังจากนั้นไม่นาน นักดำน้ำ ทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มอนุรักษ์ ก็เริ่มเห็นฉลามที่มีโรคดังกล่าวในแทบทุกกลุ่มที่พวกเขาพบเจอที่เกาะสิปาดันสถานที่ดำน้ำที่มีชื่อเสียงและอยู่ใกล้กัน 

หลังจากความพยายามวินิจฉัยว่าอะไรคือสาเหตุของความเจ็บป่วย ทีมวิจัยพบว่าอุณหภูมิบนผิวน้ำทะเลที่เกาะสิปาดันเพิ่มขึ้นเป็น 29.5 องศาเซลเซียสในเดือนพฤษภาคมซึ่งเพิ่มขึ้นราว 1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2528

“เราแทบจะสามารถตอบได้เลยว่าอุณหภูมิมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราพบฉลามป่วยที่สิปาดัน” เดวีส์ ออสติน สปีจี (Davies Austin Spiji) นักชีววิทยาทางทะเลอาวุโส จากกลุ่มอนุรักษ์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร รีฟ การ์เดียน (Reef Guardian) ให้สัมภาษณ์ เขาตัดปัจจัยเรื่องการรบกวนของมนาย์ออกเนื่องจากสิปาดันเป็นเขตคุ้มครองทางทะเลซึ่งการประมงเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างเด็ดขาด อีกทั้งยังไม่มีชุมชนหรืออุตสาหกรรมอยู่ใกล้เคียง

โมฮาเม็ด ชาริฟฟ์ โมฮาเม็ด ดิน (Mohamed Shariff Mohamed Din) ศาสตราจารย์ด้านสัตวแพทยศาสตร์ทางน้ำ มหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซียระบุว่า รายงานการพบเห็นฉลามป่วยนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับรายงานปะการังฟอกขาวในพื้นที่เดียวกัน “เราไม่สามารถมองข้ามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น” เขากล่าวสรุป

อย่างไรก็ดี การศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มรูปแบบยังไม่ประสบผลสำเร็จ

มาเบล มาสจาจี-มัตสึโมโตะ อาจารย์อาวุโสจากสถาบันวิจัยด้านชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยมาเลเซียซาบะฮ์ให้สัมภาษณ์ว่า เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทีมวิจัยได้พยายามจับปลาฉลามบางตัวเพื่อเป็นตัวอย่างในการทดลองแต่คว้าน้ำเหลว “ถ้าเรามีตัวอย่างฉลาม อย่างน้อยเราก็จะสามารถค้นหาเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดบาดแผลดังกล่าวได้” มัตสึโมโตะกล่าวและเสริมว่าทีมจะพยายามอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Malaysia’s reef sharks stricken with mystery skin disease

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก