ทำไมโลกถึงเสี่ยงต่อการไม่บรรลุเป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทำไมโลกถึงเสี่ยงต่อการไม่บรรลุเป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมาย ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ในระดับนานาชาติอาจเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายเนื่องจากประเทศเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ส่งแผนลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกฉบับใหม่นับตั้งแต่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26

จวบจนปัจจุบัน มีเพียงประเทศสมาชิกภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียง 16 จาก 197 ประเทศที่ส่งแผนการฉบับปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) โดยทุกประเทศมีกำหนดที่จะต้องส่งแผนการฉบับใหม่ภายในวันที่ 23 กันยายนนี้

พรรคแรงงานของอังกฤษได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่แม้จะเป็นประธานการประชุม COP ครั้งที่ผ่านมา แต่กลับเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเพราะไม่ได้ส่งแผน NDC ฉบับใหม่

นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเกรงกว่าการประชุม COP27 เดือนพฤศจิกายนปีนี้ในประเทศอียิปต์อาจไม่มีความก้าวหน้ามากนัก หากยังไม่มีการปรับปรุง NDC ของแต่ละประเทศ

Mia Moisio จากสถาบัน NewClimate กล่าวว่า “เป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไร้ความก้าวหน้าในปี 2022 นี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่น่ากังวลอย่างยิ่ง อีกทั้งประเทศที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลกก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะปรับปรุง NDC แต่อย่างใด

“เราเหลือเวลาอีกไม่ถึงสี่เดือนก่อนการประชุม COP27 รัฐบาลทุกประเทศต้องดำเนินการด้านนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว หากยังไม่ดำเนินการ ประเทศเหล่านี้จะไม่เหลือความน่าเชื่อถืออีกต่อไปในการเจรจาต่อรอง”

กระทรวงยุทธศาสตร์ธุรกิจ พลังงานและอุตสาหกรรมของประเทศอังกฤษเพิ่งปรับลดเงินทุน 100 ล้านปอนด์จากการสนับสนุนโครงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนานาชาติ นักวิจารณ์ระบุว่าเงินก้อนนี้อาจใช้สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้น การตัดสินใจดังกล่าวส่วนทางกับสถาบันคลังสมอง Overseas Development Institute ที่มองว่าสหราชอาณาจักรสนับสนุนเงินทุนโครงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียง 71% ของ “สัดส่วนที่เป็นธรรม”

คำประกาศหลายอย่างก็ยังไม่มีประเทศลงชื่อเพิ่มขึ้นมากสักเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น คำประกาศยุติการตัดไม้ทำลายป่าที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นข้อตกลงครั้งสำคัญ แต่มีเพียงสี่ประเทศที่ลงชื่อเพิ่มเติมนับตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้วคือวาติกัน นิคารากัว สิงคโปร์ และเติร์กเมนิสถาน

Kerry McCarthy หัวหน้าทีมฝ่ายค้านทีมตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระบุว่า “รัฐบาลนี้ควรจะนั่งที่นั่งคนขับระหว่างการดำรงตำแหน่งประธาน COP26 แต่พวกเขากลับนั่งหลับที่พวงมาลัย รัฐบาลที่ไร้ศักยภาพนี้ล้มเหลวที่จะชักจูงประเทศส่วนใหญ่ให้ปรับปรุงเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งปฏิเสธที่จะใช้เครื่องมือซึ่งอำนวยให้มันประสบความสำเร็จ

“อังกฤษควรเป็นผู้นำโดยการพิสูจน์ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือทางออกที่ดีที่สุดในการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีจะต้องปรับการทำงานเสียใหม่โดยสนับสนุนทางเลือกที่สะอาดทั้งภายในประเทศและสนับสนุนให้ประเทศอื่นดำเนินการเช่นเดียวกัน”

หมายเหตุ: ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยยังคงใช้ NDC ฉบับที่ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563


ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate targets at risk as countries lag in updating emission goals, say campaigners

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก