หรือเมืองใหญ่ไม่ควรมีรถยนต์ ?

หรือเมืองใหญ่ไม่ควรมีรถยนต์ ?

ไม่กี่ปีมานี้เกิดกระแสตื่นเต้นเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ หลากหลายโครงการผลิบานทั่วทั้งสหราชอาณาจักรโดยมีเป้าหมายคือการฟื้นประชากรสัตว์ป่าและสนับสนุนพื้นที่การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะการขยายตัวของพื้นที่การเกษตรส่งผลร้ายต่อพื้นที่ชนบท ว่าแต่เราควรจัดการกับเมืองใหญ่อย่างไร?

เมืองใหญ่ก็ไม่ต่างจากระบบนิเวศ เพราะที่แห่งนี้ทั้งสลับซับซ้อนและหลากหลาย เป็นพื้นที่ของกิจกรรมมากมาย ครั้งหนึ่งพื้นถนนเคยเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่ทำงาน เล่น สังสรรค์ และคมนาคม

Rebecca Solnit กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับท้องถนนได้อย่างยอดเยี่ยมในหนังสือที่ชื่อว่า Wanderlust เธออธิบายว่า “คำว่าพลเมืองมีคำว่าเมืองอยู่ในนั้น นั่นหมายความว่าเมืองในอุดมคติจะต้องจัดระเบียบตามความเป็นพลเมือง นั่นคือการมีส่วนร่วมกับสาธารณะ” และนั่นคือสิ่งที่ครั้งหนึ่งเมืองเคยเป็น

เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป ที่ดินในชนบทถูกแปลงให้เป็นพื้นที่การเกษตร เช่นเดียวกับท้องถนนในเมืองที่ถูกปรับให้มีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือการนำพาผู้คนให้ไปถึงจุดหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อเป้าหมายอื่นๆ จึงกลายเป็นการกระทำที่ขัดต่อจุดประสงค์หลัก แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีประโยชน์ คงไม่มีใครเถียงว่าการเดินทางที่รวดเร็วภายในเมืองนั้นสร้างประสิทธิภาพได้อย่างไร แต่ประโยชน์ดังกล่าวก็มาพร้อมกับต้นทุนที่ต้องจ่าย พื้นที่เมืองซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของทุกคนแต่ปัจจุบันกลับถูกยึดครองโดยรถยนต์ทั้งที่กำลังขยับหรือจอดทิ้งไว้

ในเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นบ้านของเรา มีพื้นที่จอดรถมากพอๆ กับจำนวนผู้คน หากเรานำพื้นที่จอดรถดังกล่าวมาเรียงต่อกันมันก็จะกว้างกว่าอัมสเตอร์ดัมด้วยซ้ำ พื้นที่ดังกล่าวเป็นของสาธารณะแต่กลับไม่สามารถนำมาใช้อื่นใดได้ คุณอาจแปลกใจเมื่อได้อ่านเพราะเนเธอร์แลนด์นั้นโด่งดังในฐานะประเทศแห่งจักรยานของโลก แน่นอนว่าเรามีเลนจักรยานและลานจอดจักรยานเช่นเดียวกัน แต่พื้นที่เหล่านั้นก็ลดทอนเป้าหมายของท้องถนนให้เหลือเพียงหนึ่งเดียวคือการขนส่ง คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเราได้ทำให้เมืองใหญ่กลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

การพัฒนาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อรถยนต์เริ่มบุกเมือง (ในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 1920s ส่วนในยุโรปที่ราว 1950s) สาธารณชนก็มองว่าพวกเราควรจะปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น แต่คนเดินถนนก็ยังต้องสำคัญอันดับหนึ่ง

แต่ผ่านไปราวหนึ่งทศวรรษ Peter Norton ผู้เขียนหนังสือ Fighting Traffic ก็ระบุว่าแนวคิดเรื่องเมืองที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับรถยนต์เริ่มเป็นที่แพร่หลาย คนค้าขายเริ่มไม่ได้รับอนุญาตให้ขายของตามท้องถนน แต่ต้องถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น เด็กๆ ไม่สามารถเล่นนอกบ้านได้ และต้องเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ ว่าให้ระมัดระวังรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แทนที่จะคาดหวังให้คนขับขี่คอยระมัดระวัง คนเดินถนนถูกจำกัดพื้นที่เหลือเพียงฟุตปาธ นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแปลงสภาพเมืองให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หากมองไปบนท้องถนน คุณเห็นอะไรบ้าง? คุณอาจเห็นรถยนต์เคลื่อนที่เป็นขบวนยาวเหยียด หรือเลนจักรยานสำหรับการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คุณอาจเห็นลานจอดรถ ที่จอดจักรยาน แต่ไม่มีตรงไหนเลยที่เด็กๆ จะเล่นด้วยกันได้ เราไม่เหลือพื้นที่สำหรับการเป็นพลเมือง

แล้วเรามีทางเลือกอื่นหรือเปล่า? เมืองใหญ่หลายแห่งก็เริ่มที่จะ ‘ฟื้นฟู’ เช่นบาร์เซโลนาที่เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้พื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกันโดยยึดคืนท้องถนนจากรถยนต์ แม้ว่ารถยนต์จะยังเข้าเมืองได้ตามปกติ แต่ผู้ขับขี่ต้องตระหนักว่ารถเป็นเพียงผู้ใช้งานพื้นที่สาธารณะรายหนึ่งเท่านั้นโดยไม่ได้สำคัญอันดับหนึ่งอีกต่อไป

โกรนิงเกน (Groningen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองแห่งนี้มีชื่อเสียงในการขอคืนพื้นที่จากรถจักรยาน โดยมีการบังคับใช้แนวทางการใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยระบุว่าการคมนาคมเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายเป้าหมายของท้องถนน เรายังควรใช้พื้นที่นั้นเพื่อสุขภาพ ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม รวมถึงศักยภาพของเมืองในการรับมือวิกฤติภูมิอากาศ ส่วนปารีสก็มีผังเมือง 15 นาที ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสร้างชุมชนที่อยู่ได้ด้วยตนเอง โดยที่ทุกอย่างสามารถเดินเท้าหรือปั่นจักรยานไปถึงภายใน 15 นาที

แต่นี่เพียงพอหรือเปล่า? เราต่างเคยชินกับการหลบทางเพื่อให้รถยนต์สัญจร บางทีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อาจจำเป็นเพื่อให้เกิดการปรับวิธีคิด จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราห้ามรถยนต์เข้าเมืองแบบเด็ดขาด?

พื้นที่บางส่วนในเมืองใหญ่นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้จริงโดยประสบความสำเร็จอย่างสูง แม้ว่าจะเป็นการชั่วคราวก็ตาม เช่น วันห้ามใช้รถยนต์ การปิดการจราจรเพื่อวิ่งมาราธอน หรือการปิดถนนเพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ในบางพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เป็นเรื่องถาวร ตัวอย่างเช่นในเมืองอูเทรกต์ (Utrecht) คลองดั้งเดิมถูกถมเพื่อสร้างเป็นถนนในปี 1970 แต่ปัจจุบันได้ฟื้นกลับคืนมาเป็นคลองเช่นเดิมในปี 2020 สร้างความพึงพอใจให้กับผู้อยู่อาศัยอย่างยิ่ง Eelco Eerenberg นายกเทศมนตรีในขณะนั้นกล่าวว่า “ตอนนี้เราได้คลองกลับมาแล้ว คลองแห่งนี้เชื่อมโยงเมืองเข้าด้วยกัน สิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ในผืนน้ำไม่ว่าจะเป็นสถานี เวทีคอนเสิร์ต โรงละคร และพื้นที่สีเขียว”

และก็ยังมีอีกหลายเมืองที่ปลอดรถยนต์เสมอ เช่น เวนิซ หนึ่งในเมืองที่สวยที่สุดและเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก

ขณะที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับการตระหนักถึงมลภาวะจากการขับขี่รถยนต์ ตอนนี้อาจเป็นเวลาที่เหมาะสมในการหาทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อฟื้นฟูเมืองให้กลับมาเป็นพื้นที่ชุมชนเช่นในอดีต และยุติความเลวร้ายของค่านิยมเชิงเดี่ยว

ลองจินตนาการว่าคุณมองออกไปนอกหน้าต่างแล้วแทนที่จะเห็นลานจอดรถหรือการจราจรยาวเหยียด คุณจะมองเห็นแปลงผักชุมชน คนจับกลุ่มสังสรรค์ พื้นที่กิจกรรมของเด็กๆ ดอกไม้ป่าที่ดึงดูดเหล่าแมลง โดยที่รถยนต์เป็นส่วนหนึ่งของระบบดังกล่าว ไม่ใช่ความสำคัญอันดับหนึ่งอีกต่อไป


ถอดความและเรียบเรียงจาก The big idea: should cars be banned from cities?

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก