2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

นาซ่าได้เผยคลิปวีดีโอตัวใหม่ แสดงให้เห็นภาพรวมการเกิดไฟป่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่มีแนวโน้มมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสาเหตุมาจากการทำเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คลิปวีดีโอความยาว 30 วินาที ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมในการทำแผนที่การเกิดไฟป่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2543-2562 โดยข้อมูลที่เผยแพร่นี้เป็นปริมาณความถี่ที่เกิดไฟป่าขึ้นในแต่ละวัน (ไม่ใช่ขนาดความรุนแรง) ที่ตรวจพบในทุกๆ 1,000 ตารางเมตร โดยพื้นที่สีขาวหมายถึงเกิดไฟไหม้มากถึง 30 ครั้งต่อวัน พื้นที่สีส้ม เกิดไฟไหม้เฉลี่ย 10 ครั้งต่อวัน และสีแดงคือเกิดน้อยสุด 1 ครั้งต่อวัน

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเกิดในแต่ละฤดูกาล เช่น ฤดูร้อนในอเมริกาเหนือและยุโรป การเผาป่าเพื่อทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมในอเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกา

 

 

นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มระยะยาว ในการขยายตัวของพื้นที่ทำการเกษตรในป่าเขตร้อนแถบแอฟริกากลางและอินโดนีเซียของช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และการเพิ่มขึ้นของไฟป่าทางซีกโลกเหนือเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยนาซ่าได้ระบุว่า “แอฟริกาเป็นทวีปแห่งไฟโดยแท้จริง” ดังค่าเฉลี่ยในหนึ่งวันของเดือนสิงหาคม ดาวเทียมตรวจพบข้อมูลการเกิดไฟไหม้ได้มากกว่า 10,000 ครั้งทั่วโลก โดยร้อยละ 70 เกิดขึ้นในแอฟริกา

สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสื่อและสาธารณชนให้ความสนใจกันมากในประเด็นการเกิดไฟป่าในแอมะซอนประเทศบราซิลนั้น หากอ้างอิงข้อมูลจาก Weather Source จะพบว่าจริงๆ แล้ว บราซิลเป็นประเทศที่เกิดไฟป่ามากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยประเทศที่เกิดไฟป่ามากที่สุด คือ แองโกลา ที่เกิดไฟป่ามากถึง 6,902 ครั้งในเวลา 48 ชั่วโมง อันดับ 2 คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโต เกิดไฟป่า 3,395 ครั้ง และประเทศบราซิลเกิดไฟป่า 2,2127 ครั้ง โดยก่อนหน้านี้ ในช่วง 1 สัปดาห์ของเดือนมิถุนายนทั่วทั้งทวีปแอฟริกาเกิดไฟป่ามากถึง 250,000 ครั้ง มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่วีดีโอของนาซ่าแสดงข้อมูลรายละเอียดจำนวนการเกิดไฟป่าในระดับภูมิภาคบนแผนที่โลก ทางด้านนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้ ระบุว่า จำนวนพื้นที่ที่ถูกไฟป่าเผาไหม้ในแต่ละปีนั้นลดลงประมาณ 25% นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เพราะการเติบโตของจำนวนประชากรและการพัฒนาพื้นที่กระจายไปสู่ทุ่งหญ้าหรือสะวันนา รวมถึงการนำเครื่องจักรเข้ามาจัดการพื้นที่เพื่อทำการเกษตรที่มากขึ้น

James Randerson นักวิทยาศาสตร์จาก University of California, Irvine ผู้จัดทำวีดีโอปริมาณการเเกิดไฟป่า กล่าวว่า แม้จำนวนพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้จะลดลง แต่เราก็ยังเห็นการเกิดไฟป่าเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 


เรียบเรียงจาก A Look at Two Decades of Wildfires Globally in Just 30 Seconds
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์