มีอะไรอยู่ในเปลวเพลิงที่กำลังแผดเผาผืนป่าแอมะซอน ปอดของพวกเราทุกคน

มีอะไรอยู่ในเปลวเพลิงที่กำลังแผดเผาผืนป่าแอมะซอน ปอดของพวกเราทุกคน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา แฮชแท็ก #PrayForAmazonas กลายเป็นหัวข้อที่มีการทวีตข้อความสูงที่สุดผ่านทางทวิตเตอร์ เนื่องจากมีการเผยแพร่ภาพผืนป่าแอมะซอนที่กำลังถูกเพลิงลุกไหม้ลามมาถึงโลกอินเทอร์เน็ต และกลายเป็นภาพจำที่เรารับรู้มาจนถึงวันนี้เกี่ยวกับประเด็นไฟป่าที่กำลังลุกลามทำลายล้างไปทั่วผืนป่าแอมะซอน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา INPE หรือสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิล ได้ออกมาอธิบายว่า ในปีนี้ได้ตรวจพบการเกิดไฟไหม้มากถึง 39,601 ครั้งในผืนป่าแอมะซอน ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีอาณาเขตอยู่ในประเทศบราซิลมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ป่าแอมะซอนทั้งหมด

นอกจากนี้ยังพบประกายไฟในประเทศบราซิลส่วนที่อยู่นอกผืนป่าแอมะซอนอีกหลายแห่ง ทางสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิลได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปีนี้เป็นปีที่บราซิลเกิดเหตุเพลิงไหม้มากที่สุด คือมากกว่า 75,000 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลการเกิดเพลิงไหม้ในประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 2013

 

ภาพเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าฝนแอมะซอนเมื่อวันอังคาร ใกล้ Porto Velho รัฐ Rondonia ประเทศบราซิล / PHOTO : Ueslei Marcelino – Reuters

 

จากสถิติผืนที่ที่ถูกเพลิงเผาไหม้นั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่พื้นที่ป่าฝนเก่าแก่ที่อยู่ยั้งยืนยงมานาน แต่มักจะเกิดขึ้นจากพื้นที่ที่ถูกบุกรุก มีการตัดไม้เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับทำการเกษตร

จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาของ INPE แสดงให้เห็นว่าในปีนี้การเพิ่มขึ้นของไฟป่าในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2018) มีเพิ่มมากขึ้นถึง 79%

การตัดไม้ทำลายป่าที่มากขึ้นเรื่อยๆ นั้น คือข้อสันนิษฐานที่ชี้นำไปสู่ความย่ำแย่ ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาโลกสูญเสียผืนป่าที่ไปราว 30 ล้านเอเคอร์ ซึ่งในจำนวนนั้นมีพื้นที่ป่าฝนอยู่ราว 8.9 ล้านเอเคอร์ หรือมีขนาดเท่ากับพื้นที่ของประเทศเบลเยี่ยม

เช่นเดียวกัน การทำลายป่าฝนแอมะซอนในประเทศบราซิลนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่การเข้ามารับตำแหน่งปกครองประเทศของประธานาธิบดีฝ่ายขวาคนล่าสุดกับรัฐบาลของเขา ที่ไร้ซึ่งวิสัยทัศน์เรื่องการรักษาป่าและการต่อสู้กับปัญหาลักลอบตัดไม้

 

ที่ดินถูกไฟไหม้ในรัฐ Mato Grosso ประเทศบราซิล / PHOTO : Rogerio Florentino – Shutterstock

 

ประธานาธิบดีคนล่าสุดเล็งเห็นว่า ดินแดนอันกว้างใหญ่ที่ได้รับการคุ้มครองของบราซิล คือ อุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงกลายเป็นที่มาของการประกาศคำมั่นสัญญา ว่าจะเปิดผืนแผ่นดินแห่งนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

และภายในเวลาไม่ถึงที่สิ่งที่ประธานาธิบดีคนนี้คิดไว้ก็ได้เริ่มขึ้นอย่างทันท่วงที

ผืนป่าแอมะซอนในพื้นที่ของบราซิลได้ถูกบุกรุกไปกว่า 1,330 ตารางไมล์ในช่วงครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 2019 ซึ่งมีอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่าช่วงครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 2018 มากถึงร้อยละ 39 ตามข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่เฝ้าติดตามข้อมูลการตัดไม้ทำลายป่าภายในประเทศ

ผืนป่าแอมะซอนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ปอดของโลก” เพราะเป็นผืนป่าที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล คอยทำหน้าที่สร้างออกซิเจนและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อน หากป่าฝนหายไปปริมาณมากจนไม่อาจกู้คืนได้ พื้นที่นี้จะไม่ต่างจากผืนป่าสะวันนา ซึ่งไม่สามารถเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเท่าที่ควรจะเป็น และหมายถึงปอดของโลกก็จะเล็กลงไปด้วย

 

ควันจากไฟไหม้ในป่าฝนแอมะซอนที่ครอบคลุมเมือง Porto Velho, Rondonia ในประเทศบราซิล / PHOTO : CreditRoni Carvalho – Shutterstock

 

อีกประเด็นหนึ่งอันเป็นที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ทำให้เกิดไฟป่าเช่นที่กำลังเกิดขึ้นนี้อยู่หรือไม่ และจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร

ต่อสถานการณ์ไฟป่าในแอมะซอน คงกล่าวได้ว่า ไฟป่าที่กำลังลุกโชนอยู่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มันเกิดขึ้นโดยมีมนุษย์เป็นต้นเหตุโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นสามารถทำให้สถานการณ์ของไฟป่าเลวร้ายลงได้ ในสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งขึ้น ไฟสามารถเผาไหม้ได้ดีและกระจายความรุนแรงไปได้ไกลขึ้นกว่าในสภาพภูมิอากาศที่ปกติ

แต่ในอนาคต ไฟป่าที่เกิดขึ้นนี้จะยิ่งทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายกว่าที่เคยเป็น โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ ต้นไม้มีค่าจำนวนมากที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จะหายไปจากการถูกเพลิงไหม้ และต้นไม้ที่ถูกเผาไหม้จะยิ่งทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีมากขึ้นกว่าเดิม

 

ไฟไหม้เสียหายใน Brasilia ประเทศบราซิล / PHOTO : Adriano Machado – Reuters

 

การที่ผืนป่าธรรมชาติถูกทำลายลงนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่นการเสื่อมโทรมตามวัฏจักรของระบบนิเวศ แต่ประเด็นสำคัญอันเป็นความจริงที่ไม่อาจหลีกหนีพ้น คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามนุษย์คือตัวการสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลายไปมาก เกษตรกรถางพื้นที่ป่าเพื่อทำการเพาะปลูก ขยายพื้นที่ฟาร์ม ด้วยวิธีการเผาทำลายซากพืชสำหรับเปิดหน้าดิน

ก่อนหน้านี้ประเทศบราซิลได้แสดงความพยายามให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในการปกป้องผืนป่าแอมะซอนเพื่อต่อสู้กับปัญหาสภาวะโลกร้อน ในปี ค.ศ. 2004-2012 บราซิลได้ประกาศพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้น มีมาตรการตรวจตราพื้นที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่การทำลายป่าเกิดขึ้นน้อยมากนับตั้งแต่ที่ได้เริ่มมีการจดบันทึกถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2014 เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอย่างหนัก บราซิลจำเป็นต้องพึ่งพิงสินค้าจากภาคการเกษตร เช่น การทำปศุสัตว์เนื้อวัวและการปลูกถั่วเหลือง ซึ่งนั่นได้ส่งผลกระทบสำคัญที่ทำให้เกิดการทำลายป่าครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง

อีกประเด็นที่มีการพูดถึงมาก คือ ชาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีของบราซิล ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอนนี้อย่างไร

เพราะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า นับตั้งแต่ ชาอีร์ โบลโซนาโร เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ เกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะเผาที่ดินเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

สำนักข่าว New York Times ได้เก็บข้อมูลเชิงสถิติ พบว่า การบังคับใช้กฎหมายด้านป่าไม้เพื่อป้องกันการลักลอบทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายในประเด็นด้านบทลงโทษ อย่างค่าปรับ และการยึดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่านั้นลดลงราว 20% ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร กลับโยนความผิดไปให้กับหน่วยงานเอ็นจีโอว่าเป็นต้นเหตุของไฟป่า เขาไม่สนใจข้อมูลหลักฐานการอ้างอิงใดๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมได้ออกมาแสดงความเห็นโต้แย้งเลย

ต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่หน่วยงานดับเพลิงท้องถิ่นกำลังพยายามยับยั้งความรุนแรงของไฟป่ากันอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทว่ารัฐบาลของประเทศกลับไม่แสดงท่าทีใดๆ เพื่อจัดการปัญหาไฟป่าที่กำลังลุกลามปอดของโลกเลยแม้แต่น้อย

 


อ้างอิง Amazon Rainforest Fires: Here’s What’s Really Happening โดย Alexandria Symonds
เรียบเรียง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
PHOTOGRAPH BY UESLEI MARCELINO/REUTERS