โคอาลา ย่ำแย่แต่ยังไม่เข้าขั้นสูญพันธุ์

โคอาลา ย่ำแย่แต่ยังไม่เข้าขั้นสูญพันธุ์

ประเทศออสเตรเลียต้องเผชิญกับวิกฤติไฟป่าที่มาก่อนฤดูกาล เกิดไฟไหม้ในหลายพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศตั้งแต่ซิดนีย์ (Sydney) ถึงอ่าวไบรอน (Byron Bay) เผาไหม้บ้านเรือน ป่าไม้ กระทั่งพื้นที่ชุ่มน้ำ โคอาลา ซึ่งเปรียบเสมือนตราสัญลักษณ์ของออสเตรเลียได้กลายเป็นศูนย์กลางของความสนใจบนพาดหัวข่าว

ถ่ายภาพโดย NATHAN EDWARDS

ภาพของโคอาลาที่ถูกไฟไหม้และใกล้ตายกลายเป็นสัญลักษณ์ของราคาที่ต้องจ่ายของเหตุการณ์ไฟไหม้ “มันไม่ต่างจากสัตว์ตัวน้อยๆ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้” Christine Adams-Hosking นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งควีนส์แลนด์ (University of Queensland) กล่าว “นกสามารถบินหนีได้ จิงโจ้ก็สามารถกระโดดหนีได้อย่างรวดเร็ว แต่โคอาลาเชื่องช้าอย่างมาก ส่วนใหญ่พวกมันมักติดอยู่โดยไม่สามารถหนีได้”

ความสูญเสียของสัตว์ที่ไร้ทางหนีนำไปสู่ข้อกังวลหลายประการรวมถึงความสับสน ในช่วงสิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประกาศที่ไม่ถูกต้องนักว่าโคอาลาได้สูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จนทำให้เข้าสู่ภาวะ “สูญพันธุ์ตามธรรมชาติ (functionally extinct)” ได้กลายเป็นพาดหัวใหญ่และสะพัดในโซเชียลมีเดีย เป็นตัวอย่างที่ดีว่าข้อมูลผิดๆ สามารถเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วแค่ไหนในช่วงวิกฤติ

โคอาลาอยู่ในภาวะเปราะบาง (vulnerable) ต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งอยู่ในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าภาวะใกล้สูญพันธุ์ (endangered) หนึ่งขั้น โดยมีรายงานระบุว่าประชากรโคอาลาราว 350 ถึงหนึ่งพันตัวถูกพบว่าเสียชีวิตในไฟป่าครั้งนี้ทางตอนเหนือของนิวเซาธ์เวลส์ (New South Wales)

แต่ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่าโคอาลายังไม่ตาย “เราจะไม่ได้เห็นโคอาลาเข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์เร็วขนาดนี้” Chris Johnson อาจารย์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยแห่งแทสมาเนีย (University of Tasmania) “ประชากรโคอาลาอาจจะมีแนวโน้มลดลงจากหลายสาเหตุ แต่เรายังไม่ได้อยู่ถึงขั้นที่จะกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ครั่งนี้เพียงครั้งเดียวจะทำให้มันสูญพันธุ์” และนี่คือสถานการณ์ปัจจุบัน

ทำไมโคอาลาได้รับผลกระทบอย่างยิ่งในช่วงฤดูไฟป่าครั้งนี้?

เมื่อกล่าวไฟป่า ทุกอย่างดูจะไม่เอื้อต่อชีวิตโคอาลาสักเท่าไหร่ กลไกป้องกันเพียงหนึ่งเดียวของมันคือการปีนขึ้นสูงไปบนยอดต้นยูคาลิปตัสซึ่งเป็นบ้านของมัน กลไกซึ่งแทบไร้ประโยชน์เมื่อเจอกับไฟป่า

ต้นยูคาลิปตัสเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถปรับตัวกับไฟป่าได้ดีอันดับต้นๆ ของโลก มันสามารถขยายพันธุ์และเติบโตเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นภายหลังไฟป่า ในภาวะไฟป่าปกติ เปลวไฟจะไม่สูงถึงยอดของต้นไป ทำให้โคอาลาสามารถรอดมาได้โดยแทบไม่ได้รับผลกระทบ ตัวเลขสถิติโคอาลาเสียชีวิตจำนวนมากสะท้อนได้อย่างดีถึงภาวะผิดปกติ David Bowman ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไฟป่า (Fire Center Research Hub) มหาวิทยาลัยแห่งแทสมาเนียแสดงความเห็น

ขนาดของไฟป่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียองค์ความรู้ในการจัดการไฟตามวิถีชาติพันธุ์อบอริจินส์ ทำให้มีความรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน “มันมีระดับการเผาไหม้ที่เข้มข้นอย่างมาก” David Bowman ให้สัมภาษณ์

 

ภาพถ่ายโดย NATHAN EDWARDS

ต้นไม้ที่อุดมด้วยน้ำมันทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงและขยายตัวอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจเกิดระเบิดและส่งสะเก็ดไฟกระจายไปทั่วทุกทิศทาง ทั้งที่ขณะนี้ ออสเตรเลียยังอยู่ในฤดูใบไม้ผลิ “ในแง่ของวิกฤติไฟป่า นี้เป็นเพียงภาคต้นเท่านั้น” David Bowman กล่าว เขากังวลว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิมในช่วงมกราคมและกุมภาพันธ์ เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและภัยแล้งรุนแรงขึ้น

ประชากรโคอาลาหลงเหลืออยู่เท่าไหร่?

ใน พ.ศ. 2559 ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีประชากรโคอาลาประมาณ 329,000 ตัวในออสเตรเลีย คิดเป็นการลดลงของจำนวนประชากรราว 24 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสามชั่วอายุที่ผ่านมา

“เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะประมาณจำนวนประชากรโคอาลาได้อย่างแม่นยำ แม้แต่ในช่วงเวลาปกติ” Adams-Hosking ระบุพร้อมให้เหตุผลว่าถิ่นอาศัยของโคอาลากระจายอยู่ทั่วออสเตรเลียตะวันออกซึ่งมีมนุษย์อาศัยจำนวนน้อยและมักอยู่บนต้นไม้สูง “ประชากรในบางกลุ่มอาจสูญพันธุ์ในบางท้องถิ่นและบางกลุ่มก็อาจอยู่เป็นปกติ”

ภัยคุกคามหลักของโคอาลาคือการพัฒนาที่ดิน การเสื่อมสภาพของแหล่งอาหาร (การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศทำให้คุณค่าทางสารอาหารในใบยูคาลิปตัสลดลง) ภัยแล้ง การทำร้ายโดยสุนัข และโรคคลาไมเดีย (Chlamydia)

และสุดท้ายคือไฟป่า โคอาลาในบางพื้นที่อาจถูกคุกคามโดยไฟป่า มีความเป็นไปได้ว่าประชากรโคอาลาในบ้างพื้นที่อาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ “แต่มันยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุป” Adams-Hosking กล่าว “เราจำเป็นต้องตรวจสอบแลเฝ้าดูต่อเนื่องอีกหลายปี”

ไฟป่าครั้งนี้เผาถิ่นอาศัยของโคอาลา 80 เปอร์เซ็นต์หรือไม่?

ไม่ใช่ ถิ่นอาศัยของโคอาลากว้างใหญ่มากโดยรวมถึงชายฝั่งด้าตะวันออกของออสเตรเลีย ไฟป่าครั้งล่าสุดในนิวเซาธ์เวลส์และควีนส์แลนด์มีพื้นที่ราวล้านเฮกตาร์ (บางคนอาจประมาณการว่าราว 2.5 ล้านเฮกตาร์) แต่พื้นที่ป่าในฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียซึ่งมีโคอาลาอยู่อาศัยนั้นมีพื้นที่ราว 100 ล้านเฮกตาร์

ยิ่งไปกว่านั้น แค่เหตุผลที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกไฟไหม้ “ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกทำลายและไม่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของโคอาลาได้อีกต่อไป” Grant Williamson นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาภูมิทัศน์จากมหาวิทยาลัยแห่งแทสมาเนียให้ความเห็น

ถ่ายภาพโดย NATHAN EDWARDS

แล้วโคอาลาสูญพันธุ์ตามธรรมชาติแล้วหรือยัง?

“สูญพันธุ์ตามธรรมชาติ (Functionally extinct)” หมายถึงการที่ชนิดพันธุ์ไม่มีจำนวนสมาชิกเพียงพอที่จะผลิตประชากรรุ่นต่อไปได้หรือมีบทบาทในระบบนิเวศ แม้ว่าไฟป่าจะคร่าโคอาลาไปจำนวนมาก “แต่มันยังไม่เพียงพอที่จะระบุว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถานะในภาพรวมของชนิดพันธุ์” Fisher กล่าว

พาดหัวข่าวที่อ้างว่าโคอาลาสูญพันธุ์ตามธรรมชาติอิงจากคำกล่าวของกลุ่มอนุรักษ์โคอาลาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์โต้แย้งข้อความดังกล่าวโดยระบุว่า “มันอยู่ในภาวะถูกคุกคามในบางพื้นที่แต่ไม่ใช่ทั้งหมด” Diana Fisher จากมหาวิทยาลัยแห่งควีนส์แลนด์กล่าว

สำหรับประชากรโคอาลาในบ้างพื้นที่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกไฟป่า โดยเฉพาะทางตอนเหนือของนิวเซาธ์เวลส์ ผลกระทบย่อมเข้าขั้นวิกฤตการณ์ Adams-Hosking กล่าวและระบุเพิ่มเติมว่าประชากรโคอาลาราว 1 ใน 3 ตายในไฟป่า แต่ในขณะเดียวกัน ประชากรในพื้นที่อื่นๆ เช่น บริเวณรัฐทางตอนใต้ของวิคตอเรีย ยังไม่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าใด ๆ

อะไรคือก้าวต่อไป?

“สถานการณ์ของโคอาลาไม่ได้สดใสนัก แม้ว่าในช่วงที่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ไฟป่า” Adams-Hosking กล่าว แม้ว่าจะมีการคุ้มครองโดยรัฐบาล เช่น การล่าโคอาลาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถิ่นอาศัยของโคอาลามีความเปราะบางอย่างยิ่ง เธอยังระบุเพิ่มเติมว่า “ถิ่นอาศัยของโคอาลามีจำนวนน้อยมากที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง หรือคงกล่าวได้ว่าไม่มีเลย” เธอยังกล่าวว่ารัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ “ตราบใดที่ฝ่ายการเมืองยังไม่พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหา สถานการณ์โคอาลาก็คงไม่มีทางดีขึ้น”

ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลโคอาลาในซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของซิดนีย์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากไฟป่า ทำงานช่วยเหลือและรักษาโคอาลาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้ดูแลโคอาลาราว 22 ชีวิต ตามรายงานของสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์

Adams-Hosking และ David Bowman เสนอว่านอกจากการอนุรักษ์พื้นที่แล้ว เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะนำโคอาลาคืนสู่ธรรมชาติหรือการย้ายถิ่นโคอาลา “เราต้องเดินหน้าโครงการนี้ หากเรายังต้องการโคอาลา เราจำเป็นต้องดูแลพวกมัน ก็จำเป็นต้องทำอะไรให้มากกว่าเดิม”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก No, koalas aren’t ‘functionally extinct’—yet โดย NATASHA DALY
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์