สหภาพยุโรป ผู้สมรู้ร่วมคิดในการทำลายป่ากัมพูชา ?

สหภาพยุโรป ผู้สมรู้ร่วมคิดในการทำลายป่ากัมพูชา ?

ภาพถ่ายดาวเทียมเหนือกัมพูชาแสดงให้เห็นพื้นที่สีเขียวที่หดหายไปอย่างต่อเนื่องตลอด 40 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าฝนเขตร้อนส่วนใหญ่ถูกทำลายลงไปจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมาย ช่วง 40 ปีก่อน ไม้ท่อนเหล่านั้นถูกลำเลียงผ่านออกไปทางชายแดนไทย ส่วนในปัจจุบัน ไม้ส่วนใหญ่จะถูกขนไปยังประเทศเวียดนาม

ปัจจุบัน สหภาพยุโรปกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเขตการค้าเสรีของสินค้าไม้จากประเทศเวียดนาม ปริมาณไม้ท่อนที่ลักลอบผ่านชายแดนจากกัมพูชาไปยังเวียดนามก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

ไม้ส่งออกที่ผิดกฎหมาย

รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ระบุว่าพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนในประเทศกัมพูชาลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.1 จากเดิมที่มีมากกว่าร้อยละ 70 เมื่อ พ.ศ. 2511 รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศให้การส่งออกไม้ท่อนผิดกฎหมาย หลังจากทนแรงกดดันต่อภาคประชาสังคมและนานาชาติไม่ไหว แต่อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎหมายลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก

กฎหมายดังกล่าวแทบไม่ส่งผลอะไรต่ออัตราการตัดไม้แบบทำลายล้างในกัมพูชา ในทางกลับกัน การศึกษาขององค์กรภาคเอกชน Forest Trends ระบุว่ามีการขนไม้ออกไปยังประเทศเวียดนามเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำหลังจากการบังคับใช้กฎหมาย

กรมศุลกากรของเวียดนามระบุว่ามีการนำเข้าไม้ 310,232 ลูกบาศก์เมตรจากประเทศกัมพูชาในปี พ.ศ. 2559 แต่ตัวเลขเมื่อปีที่ผ่านมากลับพุ่งสูงขึ้นเป็น 435,764 ลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 40 โดยทั้งสองปีรวมกันจะมีมูลค่าสูงถึง 393.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ Phuc Xuan To นักวิเคราะห์จาก Forest Trends ยังมองว่าตัวเลขดังกล่าวอาจต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากพ่อค้าไม้มักระบุมูลค่าไม้ต่ำเพื่อเลี่ยงภาษี

 

ความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล

รัฐบาลกัมพูชา ยังยืนกรานว่าได้หยุดกระบวนการค้าไม้ผิดกฎหมายขนาดใหญ่ ทั้งที่หลักฐานแทบทั้งหมดชี้ไปในทางตรงกันข้าม อีกทั้งยังปฏิเสธที่จะยอมรับข้อมูลจากประเทศเวียดนาม แต่จากข้อมูลก็เห็นได้ชัดว่า ป่าของกัมพูชาถูกทำลายอย่างเป็นระบบ และสินค้าก็ได้ถูกส่งต่อไปยังประเทศเวียดนามภายใต้การรับรู้ของทั้งสองประเทศ

ในทางกลับกัน สหภาพยุโรปก็มุ่งแต่จะบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับรัฐบาลเวียดนาม ผลจากข้อตกลงดังกล่าวย่อมสร้างความกังขาต่อธรรมาภิบาลทางธุรกิจของเหล่าบริษัทยุโรปที่นำเข้าไม้ท่อน และผลิตภัณฑ์ไม้จากเวียดนาม

กฎหมายในปัจจุบันของสหภาพยุโรประบุว่า ผู้นำเข้ามีหน้าที่ทำให้มั่นใจได้ว่าแม้และผลิตภัณฑ์จากไม้จะต้องมีที่มาซึ่งถูกกฎหมาย แต่ภายใต้ข้อตกลงพิเศษระหว่างสหภาพยุโรปกับเวียดนาม ชื่อว่า Forest Law Enforcement, Governance and Trade (FLEGT) ความรับผิดชอบในการตรวจสอบทั้งหมดจะเป็นของรัฐบาลเวียดนาม ผู้ที่ยินดีจะรับไม้ผิดกฎหมายมูลค่ามหาศาลจากประเทศกัมพูชาอย่างเต็มใจตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

มาตรฐานในการจัดซื้อ

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเวียดนามและสหภาพยุโรปได้ปรึกษาหารือถึงร่างสุดท้ายของข้อตกลงร่วมค้าแบบสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement) ซึ่งใช้เวลากว่า 7 ปีกว่าจะได้ข้อตกลงฉบับดังกล่าว การประชุมครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ซึ่งเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่เพราะเวียดนามปฏิเสธที่จะรับรองว่าไม้ท่อนที่นำเข้ามาเพื่อส่งออกนั้นเป็นไม้ที่ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ดี จุดประสงค์ของ FLEGT คือบังคับให้ประเทศคู่ค้าจัดหาไม้อย่างถูกกฎหมายจึงต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลเวียดนามจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหลังจากลงนามในข้อตกลงดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่างก็เห็นตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาอย่างเห็นผลอาจต้องใช้เวลาอย่างมาก Jago Wadley หนึ่งในนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า “ข้อตกลงนี้ใช้เวลาอย่างมากกว่าจะบรรลุ และการบังคับใช้ก็น่าจะใช้เวลาไม่แตกต่างกัน มันมีบริบทของการเมืองและเศรษฐกิจที่จำเป็นเพื่อผลักดันให้กลไกที่เราคาดหวังทำงานต่อไปได้จริง”

“เราได้ลองอ่านข้อตกลงดังกล่าว และพบว่าน่าจะเป็นข่าวดีเพราะเวียดนามยินยอมที่จะร่างกฎหมายใหม่ที่สร้างเงื่อนไขให้ผู้นำเข้าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้ให้ถูกกฎหมายกับภาครัฐ เช่น กรมศุลกากร หรือกรมป่าไม้”

 

ผลผลิตที่ถูกขโมย

Marcus Hardt ผู้ติดตามอุตสาหกรรมไม้ท่อนในกัมพูชามาร่วมสองทศวรรษ ในมุมมองของเขา ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่ข่าวดีนัก

“ผมยังมองไม่เห็นทางที่เวียดนามจะควบคุมการนำเข้าไม้ท่อนที่ผิดกฎหมายได้ในทางปฏิบัติ รัฐบาลจะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และเป็นศัตรูกับองค์กรภาครัฐด้วยกันเอง รวมถึงต้องจัดการทหารชายแดนซึ่งทรงอิทธิพลและมีส่วนข้องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมค้าไม้ผิดกฎหมายอีกด้วย” เขาระบุ

นอกจากนี้ เขายังตั้งคำถามกับความหวังที่ว่าปัญหาจะถูกแก้ไขโดยการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ

“การตัดไม้ผิดกฎหมายจะต้องเป็นอาชญากรรม ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิค ต้นไม้ที่ถูกส่งออกอย่างผิดกฎหมายก็ไม่ต่างจากผลผลิตที่ถูกขโมยออกจากประเทศ โดยการช่วยเหลือของภาครัฐเวียดนาม ซึ่งอำนวยความสะดวกการลักลอบขนทรัพย์สินของราชการจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศตัวเอง” เขาสรุป

 

ร่วมมือเพื่อคอร์รัปชัน

นักกิจกรรม Ouch Leng มองว่ามีความเกี่ยวโยงระหว่างความก้าวหน้าของข้อตกลงระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป และสัญญาณที่ชัดเจนว่าไม้ท่อนจำนวนมากกำลังถูกขนข้ามประเทศ

“การร่วมมือเพื่อคอร์รัปชันโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานที่ดูแลชายแดน พร้อมกับความต้องการไม้ท่อนของสหภาพยุโรป เป็นต้นเหตุของการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายในกัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาไม่ได้ให้ความสำคัญแม้แต่น้อยในการอนุรักษ์ป่าไม้ ในทางกลับกัน รัฐบาลกัมพูชาแทบจะอยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมนี้ด้วยซ้ำ” เขาแสดงความเห็น

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Is the EU complicit in the destruction of Cambodia’s forests?
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์