คลื่นความร้อนอาร์กติก: ตอนนี้เรารู้อะไรบ้าง?

คลื่นความร้อนอาร์กติก: ตอนนี้เรารู้อะไรบ้าง?

ทวีปอาร์กติกกำลังเผชิญคลื่นความร้อน ปัจจุบันไซบีเรียอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส พื้นผิวที่ปกคลุมโดยน้ำแข็งของมหาสมุทรอาร์กติกลดต่ำสุดเป็นอันดับสองของหน้าประวัติศาสตร์ และปีนี้อาจกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เริ่มจัดเก็บข้อมูล

สำหรับบางคน ข่าวลักษณะนี้อาจทำให้หวาดกลัวจนอยากจะปิดหน้าเว็บไซต์เพราะไม่อยากได้ยินข่าวร้ายเพิ่มเติม แต่สำหรับบางคนอาจกลอกตามองบนแล้วคิดว่า “มันก็แค่สภาพอากาศ”

เราจะทำความเข้าใจปรากฎการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในระดับที่เราแทบไม่รู้สึก ถูกกระทบโดยปัจจัยจำนวนมากเช่นเดียวกับใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน แต่เราสามารถใช้เหตุการณ์คลื่นความร้อนทางเหนือครั้งนี้เพื่อเข้าใจความสลับซับซ้อนของระบบโลก โดยแยกคำถามออกเป็นส่วนๆ เริ่มจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีและสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีคือไฟป่า ไซบีเรียเผชิญกับ “ไฟผีดิบ” ที่ปะทุมาจากผืนดินที่ลุกไหม้อยู่ใต้พื้นพิภพในป่าพรุ นี่คือข่าวร้ายเพราะไฟป่านอกจากจะสร้างมลภาวะทางอากาศแล้ว ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล โดยตลอด 18 เดือนที่ผ่านมาปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณเทียบเท่ากับ 16 ปีก่อน

สาเหตุก็เนื่องจากกระแสลมกรดขั้วโลก (the polar jet stream) ซึ่งเป็นกระแสลมความเร็วสูงซึ่งนำพาสภาพอากาศจากฟากตะวันตกสู่ตะวันออกคล้ายกับสายพานลำเลียง โดยการสลับกันระหว่างลมหนาวและลมอุ่น ความกดอากาศต่ำและความกดอากาศสูง แต่บางครั้งกระแสลมดังกล่าวเกิดหยุดชะงัก ทำให้เกิดสภาพอากาศคงที่เป็นระยะเวลานาน เช่น คลื่นความร้อนที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ระบบขัดข้องหรือไม่?

คำตอบคือเป็นไปได้ กระแสลมกรดเกิดจากความแตกต่างระหว่างอากาศหนาวที่ขั้วโลก และอากาศอุ่นทางตอนใต้ ภูมิภาคอาร์กติกอุ่นเร็วขึ้นกว่าพื้นที่อื่นของโลกด้วยอัตราเร็วเกือบ 2 เท่า ทำให้ความแตกต่างของอุณหภูมิสองพื้นที่ลดต่ำลง จึงเป็นไปได้ที่ระบบดังกล่าวจะขัดข้อง คล้ายกับการเกิดทะเลสาบรูปแอกตามตำราภูมิศาสตร์ในโรงเรียนที่เกิดจากรูปแบบภูมิอากาศที่คงที่เป็นระยะเวลานาน

แล้วทำไมอาร์กติกถึงร้อนเร็วกว่า?

สาเหตุก็เนื่องจากน้ำแข็งในทะเลและหิมะนั้นสว่างมาก เมื่อมันละลายจากสภาวะโลกร้อนจะทำให้แสงส่องกระทบพื้นข้างใต้ที่สีเข้มกว่า ซึ่งพื้นผิวดินและมหาสมุทรนั้นจะดูดซับความร้อนจากแรงอาทิตย์ได้ดีกว่า การสูญเสียพื้นที่สีขาวจึงเร่งปฏิกิริยาให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเร็วขึ้น

ปริมาณน้ำแข็งอาร์กติกที่ลดลงอย่างมากก็เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจากคลื่นความร้อนไซบีเรีย สร้างความผันผวนของปริมาณน้ำแข็งในแต่ละปี โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยออกมา ยิ่งอุณหภูมิโลกสูงขึ้น พื้นผิวน้ำแข็งในมหาสมุทรก็จะลดลง นักวิทยาศาสตร์คาดว่าทวีปอาร์กติกอาจเผชิญกับฤดูร้อนที่ไม่มีน้ำแข็งในมหาสมุทรภายในอีก 30 ปีข้างหน้า

แต่เรายังไม่ได้อยู่ในจุดที่เกินจะแก้ไข น้ำแข็งในมหาสมุทรจะกลับคืนมาได้หากเราทำให้โลกเย็นลงทัน อย่างไรก็ดี เรามีเพียง 3 ทางเลือกที่เป็นไปได้คือ ดึงคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลจากชั้นบรรยากาศมาเก็บไว้ด้วยต้นไม้หรือเทคโนโลยี สะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ในระดับโลก หรือใช้เวลารอคอยหลายชั่วอายุคน

คลื่นความร้อนอาร์กติกครั้งนี้เปรียบเสมือนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซ้ำเติมแนวโน้มที่โลกจะร้อนขึ้น นี่คือสาเหตุที่ปรากฎการณ์ครั้งนี้รุนแรงขึ้น มีโอกาสเกิดบ่อยครั้งขึ้น และน่ากังวลมากขึ้น นี่คือการชิมลางอนาคตของประเทศอย่างรัสเซียหากเรายังคงเดินหน้าเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป

ความหวาดกลัวที่แท้จริงเกี่ยวกับอาร์กติกในระยะยาวมาจากแนวคิดเรื่องความร้อนที่มากขึ้นจากการปล่อยแก๊สมีเธนที่กักเก็บอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งที่ไม่เคยละลายและชั้นตะกอนดินในมหาสมุทร ซึ่งแก๊สมีเธนนับว่าเป็นแก๊สเรือนกระจกที่เข้มข้นที่จะยิ่งทำให้โลกร้อนเร็วขึ้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีคาร์บอนที่กักเก็บอยู่ในชั้นน้ำแข็งราว 2 เท่าของที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศอีกด้วย

ปรากฎการณ์ดังกล่าวสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อชุมชนโดยรอบ สร้างความเสียหายต่อถนนและอาคารเนื่องจากพื้นดินไม่สามารถรับน้ำหนักได้เฉกเช่นในอดีต การละลายของชั้นน้ำแข็งยังมีสาเหตุจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของรัสเซียที่ปล่อยให้เขื่อนเก็บเชื้อเพลิงพังทลาย ทำให้แม่น้ำปนเปื้อนด้วยน้ำมันดีเซลราว 20,000 ตัน

แล้วคลื่นความร้อนไซบีเรีย หรือปรากฎการณ์ในลักษณะนี้จะนำไปสู่สภาวะโลกร้อนอันเลวร้ายหรือไม่?

ผมเห็นความหวั่นใจว่าแก๊สมีเธนจะนำไปสู่วงจรที่ทำให้โลกร้อนเร็วขึ้น รวมถึงแนวคิดที่ว่านักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศไม่คำนึงถึงประเด็นนี้ (แน่นอนว่าเราคำนึงถึง เพียงแต่ไม่ได้รวมอยู่ในแบบจำลองภูมิอากาศชิ้นหลัก) อย่างไรก็ดี หลักฐานจากการรวบรวมมาอย่างยาวนานพบว่าความเสี่ยงอาจน้อยกว่าที่เราคาดไว้

คาร์บอนที่กักเก็บอยู่ในชั้นน้ำแข็งและพื้นที่ชุ่มน้ำอาจปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศราว 100 พันล้านตันภายในศตวรรษนี้ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ แต่คงไม่มีนัยสำคัญมากนักหากเทียบกับปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ 40 พันล้านตันในแต่ละปี ส่วนมีเธนใต้มหาสมุทรก็ยังมีเวลาอีกหลายร้อยปีกว่าจะเริ่มหลุดรอดสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นตราบใดที่เราคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไป ก็ยังคงสบายใจได้ ถึงจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่แก๊สที่กักเก็บไว้ก็จะเพิ่มอุณหภูมิโลกเพียงไม่กี่องศาเซลเซียส

ในขณะเดียวกัน แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำแข็งที่ละลายทุกๆ หนึ่งตันอาจเทียบเท่ากับปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งตันที่เราจะปล่อยได้ หากเราตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เหลือศูนย์ในอีก 30 ปีข้างหน้า ทุกๆ ปี การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของเราจะทำให้เส้นใต้ขยับใกล้เข้ามา ทุกๆ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสาเหตุที่การละลายของชั้นน้ำแข็งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะต่อกลุ่มผู้เปราะบางและพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบทั่วโลก

คลื่นความร้อนอาร์กติกแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ซับซ้อน และเป็นส่วนผสมของอิทธิพลจากทั้งธรรมชาติและมนุษย์ เป็นผลรวมของข่าวร้าย ข่าวที่ร้ายน้อยกว่า และบางครั้งก็เป็นข่าวที่สร้างความหวัง 

เราจึงต้องหลีกเลี่ยงการด่วนสรุปแบบง่ายเกินไป เช่น “เราทุกคนต้องตายกันหมดแน่ๆ” หรือ “มันก็แค่สภาพอากาศ” แต่เปลี่ยนเป็นความพยายามทำความเข้าใจในรายละเอียด อย่างไรก็ดี มันมีหนึ่งเรื่องง่ายๆ ที่เราอาจนำไปบอกเล่าต่อได้ คือทุกๆ การปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เราช่วยกันลด จะเป็นการทำให้โลกเป็นโลกใบเดิมที่คุ้นเคย และเป็นบ้านที่อยู่ได้อย่างสบายกายและใจ

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก The Arctic heatwave: here’s what we know โดย Tamsin Edwards
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง Siberian heat wave alarms scientists