ข่าวร้าย! การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทำสถิติใหม่อีกครั้ง

ข่าวร้าย! การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทำสถิติใหม่อีกครั้ง

การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจะทำลายสถิติใหม่ในปี พ.ศ. 2561 แม้ว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะมองเห็นแนวโน้มที่ค่อนข้างนิ่ง แต่สัญญาณล่าสุดบอกกับเราว่าการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่งเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการกลับมาใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้น หมายความว่าโลกกำลังเดินไปตามเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดิม อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าแนวโน้มดังกล่าวยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ หากมีการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และปศุสัตว์

งานวิจัยโดย the Global Carbon Project เผยแพร่ในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ ในประเทศโปแลนด์ ซึ่งเผยแพร่ความแปลี่ยนแปลงของประชาคมโลกร่วม 200 ประเทศที่ลงนามในข้อตกลงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2558 รายงานดังกล่าวระบุถึงระดับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 พ.ศ. 2561 และร้อยละ 1.6 พ.ศ. 2560

 

 

 

แทบทุกประเทศต่างมีส่วนในการเพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากประเทศจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 สหรัฐอเมริการ้อยละ 2.5 และอินเดียร้อยละ 6.3 ในพ.ศ. 2561 ส่วนสหภาพยุโรปยังค่อนข้างคงที่ หลังจากที่ปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

“ปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในระดับโลกเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะหากเราต้องการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราก็ควรจะเปลี่ยนแนวโน้มจากบวก เป็นลบ เพื่อให้เข้าใกล้ศูนย์ในท้ายที่สุด” Corinne Le Quere อาจารย์จากมหาวิทยาลัย East Anglia ผู้นำคณะวิจัยในรายงานฉบับดังกล่าวและแผยเพรในวารสาร Nature ให้สัมภาษณ์ “เรายังมองไม่เห็นโครงการหรือการกระทำที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว”

นานาชาติลงนามในข้อตกลงปารีสโดยจะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 3 องศาเซลเซียส ในขณะที่การเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียสก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหลายประเทศในโลก อ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนง Corinne Le Quere กล่าวเสริมว่า “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่านานาประเทศจะกลับมาพร้อมกับข้อเสนอที่เข้มข้นขึ้นใน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นวาระการประชุมครั้งถัดไป”

ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency: IEA) ก็แสดงให้เห็นถึงปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน Fatih Birol ผู้บริหาร IEA ระบุว่า “แนวโน้มที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นน่าจะเป็นสัญญาณเตือนต่อรัฐบาลนานาประเทศที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว”

“ทุกๆ ปี การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นทำให้ที่อยู่อาศัย และความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านชีวิตอยู่ในความเสี่ยง” Christiana Figueres แถลงในการณรงค์ Mission 2020 เธอคือตัวแทนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ “เราอยู่ในยุคที่นวัตกรรมสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเราต้องมั่นใจว่าทางออกดังกล่าวจะต้องกำชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้” เธออ้างอิงถึงนวัตกรรมอย่างพลังงานหมุนเวียน และรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

อาจารย์ David Reay จากมหาวิทยาลัยแห่ง Edinburgh สหราชอาณาจักรระบุว่า “ตัวการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในระดับโลกข้างต้นมีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ เป็นสัญญาณที่รุนแรงว่าเรากำลังอยู่ในช่วงติดลบ และกำลังจะดิ่งลงไปเรื่อยๆ เพื่อปกป้องอนาคตของพวกเรา ผู้นำในระดับโลกควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว”

Herjeet Singh จากองค์กรไม่แสวงหากำไร ActionAid International ระบุว่าสถิติดังกล่าวน่าจะทำให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมตระหนักถึงความเป็นจริงบ้าง “เพราะบรรยากาศการประชุมดูจะมีแต่การพูดถึงความสำเร็จ”

ข่าวร้ายจากระดับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น มาพร้อมกับแนวโน้มที่น่าตระหนกอีกสองสามอย่าง อ้างอิงจากอาจารย์ David Victor จากมหาวิทยาลัยแห่ง California, San Diego ซึ่งเผยแพร่ผลงานกับคณะวิจัยในวารสาร Nature เช่นเดียวกัน โดยค้นพบว่ามลภาวะฝุ่นละอองในอากาศซึ่งมีความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนวงจรภูมิอากาศระยะยาวของมหาสมุทรแปซิฟิกก็เข้าสู่ช่วงอบอุ่น เขาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง แนวโน้มทั้ง 3 อย่างรวมกันจะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอีก 20 ปีข้างหน้ารุนแรงมากขึ้นไปอีก”

รายงาน The Global Carbon Budget ซึ่งจัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์ 76 ชีวิตจากสถาบันวิจัย 57 แห่งจาก 15 ประเทศ พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2561 คือการใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนและอินเดีย รวมถึงการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมขนส่ง แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ยังไม่ทันความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

“เราเคยหวังว่าประเทศจีนจะเลิกใช้พลังงานถ่านหินอย่างรวดเร็ว แต่สถิติช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด” Jan Ivar Korsbakker จากศูนย์วิจัยภูมิอากาศนานาชาติ (Centre for International Climate Research) ประเทศนอร์เวย์ แสดงความเห็น

 

 

ช่วง 3 ปีหลังจากมีการลงนามในข้อตกลงปารีส สถาบันการเงินทั่วโลกได้ลงทุนมากกว่า 478 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชั้นนำกว่า 120 แห่ง อ้างอิงจากรายงานโดยองค์กรภาคเอกชน Urgewald และ Banktrack โดยธนาคารสัญชาติจีนนับว่าอยู่ในแนวหน้าการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนธนาคารญี่ปุ่นคือผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อ

ในสหรัฐอเมริกา การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นมาจากอากาศที่หนาวและร้อนมากผิดปกติ ทำให้มีความต้องการใช้ระบบปรับอากาศในที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น แต่คาดว่าการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงภายใน พ.ศ. 2562 เพราะแก๊สธรรมชาติ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ราคาถูกกำลังเข้ามาทดแทนถ่านหิน ปัจจุบัน การใช้ถ่านหินลดลงร้อยละ 40 ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และถือว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2512

การเพิ่มขึ้นของการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แม้แต่ในประเทศร่ำรวย และพัฒนาแล้วเป็นสัญญาณที่น่ากังวลอย่างยิ่ง Antonio Marcondes ตัวแทนประเทศบราซิลในการประชุมขององค์การสหประชาชาติระบุว่า “การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็เหมือนการสร้างหนี้บัตรเครดิต ยิ่งเราทิ้งไว้นานมากเท่าไหร่ การแก้ไขปัญหาก็ยิ่งราคาแพงและเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก ‘Brutal news’: global carbon emissions jump to all-time high in 2018 โดย Damian Carrington ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์