ดอยหลวงเชียงดาว….กับเรื่องราวที่เปลี่ยนไป

ดอยหลวงเชียงดาว….กับเรื่องราวที่เปลี่ยนไป

จากตัวเมืองเชียงใหม่ สู่อำเภอเชียงดาว เราใช้เวลาเกือบสามชั่วโมงในการเดินทางไปตามถนนที่เต็มไปด้วยหมอกหนาทึบในตอนเช้า

ก่อนเดินทางเข้าไปยังสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เราแวะซื้อเสบียงกันที่ตลาดก่อนถึงตัวอำเภอ

เมื่อพ่อค้ารู้ว่าเราเดินทางมาเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “วันนี้หนาวกว่าทุกวันเลยนะ ตั้งแต่เช้าแล้ว หมอกลงทึบมาก ขึ้นยอดดอยน่าจะหนาวสุดๆไปเลย”

เรื่องความหนาวเย็นนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราค่อนข้างเตรียมตัวรับมือมาอย่างดี ส่วนอีกเรื่องนั้น เห็นจะเป็นเรื่องการขับถ่าย

ในปีนี้ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีการจัดระเบียบการจองทริปเดินป่าศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว และระเบียบการเข้าไปใช้พื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวใหม่ ส่วนเรื่องที่เป็นที่พูดถึงกันมากเห็นจะเป็นเรื่องของชุดขับถ่ายและห้องสุขาที่มีรูปแบบประหลาด ไม่เป็นที่คุ้นตาของนักท่องเที่ยวนัก

 

ห้องสุขา ที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวจัดเตรียมไว้ให้ / ภาพจาก Fb : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

โดยก่อนเริ่มต้นเดินป่าศึกษาธรรมชาตินั้น นักท่องเที่ยวจะต้องทำการลงทะเบียนอีกครั้งตามรายการที่จองมาก่อนล่วงหน้า หลังจากนั้นจะต้องเข้าฟังการบรรยายเพื่อแนะนำกฎระเบียบข้อปฏิบัติที่ต้องพึงกระทำเมื่อเข้าไปใช้พื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว และที่สำคัญคือการสาธิตการใช้อุปกรณ์ขับถ่าย โดยเจ้าหน้าที่ ได้จัดชุดอุปกรณ์ขับถ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวโดยใน 1 ชุด ประกอบด้วย ถุงปัสสาวะ ขนาด 600 cc. จำนวน 3 ถุง ถุงถ่ายหนัก 4 ถุง และทิชชู่ 2 แพ็ค

 

ชุดถุงขับถ่ายที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวจัดเตรียมไว้ให้

 

นี่คือเรื่องน่าตื่นเต้นของการมาเยือนดอยหลวงเชียงดาวครั้งนี้ และนอกจากเราต้องตั้งใจฟังการสาธิตแล้ว จะต้องจำให้ได้ว่าถุงไหนต้องเอาลงกลับมาด้วย ถุงไหนที่สามารถทิ้งไว้ด้านบนได้

ในส่วนของถุงปัสสาวะ จะมีผงให้ใส่ลงไปในถุงเมื่อเราทำธุระเสร็จแล้ว โดยเจ้าผงนี้จะทำให้ของเหลวกลายจับตัวเป็นวุ้น (นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งเรียกว่าการทำวุ้นมะพร้าว ฮ่าๆๆ) เมื่อทำธุระเสร็จแล้วเราจะต้องเก็บถุงปัสสาวะนี้กลับลงมาด้วย เพราะเจ้าถุงนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานมากจะต้องนำลงมาจัดการด้านล่าง ไม่เหมือนกับถุงดำที่ใช้ถ่ายหนัก สามารถย่อยสลายได้โดยใช้เวลา 6 เดือน ส่วนนี้เจ้าหน้าที่จะขุดหลุมสำหรับทิ้งถุงถ่ายหนักเอาไว้ด้านบน เมื่อเราทำธุระเสร็จแล้ว สามารถนำถุงไปใส่ไว้ในหลุมได้เลย เจ้าหน้าที่จะทำการฝังกลบหลุมในภายหลัง

เมื่อฟังการบรรยายเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาออกเดินทางด้วยรถ 4WD อีกชั่วโมงกว่าๆไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าเด่นหญ้าขัดเพื่อเริ่มเดินเท้าระยะทาง 8.5 กิโลเมตร ขึ้นสู่ยอดดอย

ตลอดเส้นทางเดินเท้าเราได้พบกับสภาพป่าที่หลากหลาย พรรณไม้ที่มีเฉพาะดอยหลวงเชียงดาว นกตัวน้อยส่งเสียงร้องทักทายตลอดสองข้างทาง แม้ระยะทางจะค่อนข้างไกล แต่ตลอดสองข้างทางนั้นสวยงามเกินจะบรรยาย มองไปด้านหน้า ก็พบกับทิวทัศน์ที่สวยงาม ภูเขาสลับซับซ้อน ฉากหลังเป็นท้องฟ้าสบายตา

 

พรรณไม้ที่พบได้ระหว่างทาง
ทิวทัศน์ที่สวยงานระหว่างทางขึ้นสู่ยอดดอย
ภูเขาตระหง่านแข็งแกร่งมั่นคง

 

เมื่อมองย้อนกลับไปด้านหลัง ก็จะพบกับความงามในอีกมุมมองหนึ่ง บางทีก็เป็นภูเขาลูกเดียวกันนั่นแหละ แต่พอหันกลับมามองอีกที ฉากหลังมันเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะมองไปด้านหน้า หรือย้อนกลับมาด้านหลัง ความงดงามของสถานที่แห่งนี้ก็ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง

ช่วงเวลาสิบโมงกว่าๆจนถึงช่วงบ่าย เป็นการเริ่มต้นเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสถานที่แห่งนี้ ตลอดเส้นทางเราจะได้พบกับนักท่องเที่ยวต่างมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน อาจมีผลัดกันนำ ผลัดกันแซงบ้าง ตามจังหวะการเดินของแต่ละคน สิ่งหนึ่งที่มีให้กันเสมอคือรอยยิ้ม

บ่ายสามโมงตรง เราเดินทางมาถึงบริเวณจุดตั้งแคมป์ “อ่างสลุง” พื้นที่บริเวณนี้ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ตั้งแคมป์ของนักท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่ฯผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาประจำการในช่วงฤดูท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว มีโซนห้องสุขาไว้คอยบริการ 2 โซน โซนละ 5-6 ห้อง สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆไม่มีให้ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวให้พร้อมมาล่วงหน้า

 

แคมป์พักบริเวณอ่างสลุง
ทิวทัศน์จากมุมจุดสูงสุดดอยหลวงเชียงดาว
ยอดเขาสามพี่น้องและยอดพีระมิด ยามพระอาทิตย์ใกล้ลาขอบฟ้า

 

เมื่อจัดแจงกางเต้นท์เรียบร้อยแล้วพวกเรามุ่งหน้าขึ้นสู่จุดชมวิวยอดดอย ทางเดินในระยะนี้ไม่ไกลนัก แต่ชันใช้ได้เลยแหละ เดินเรื่อยๆครึ่งชั่วโมงก็ถึงจุดสูงสุด

ระหว่างโหนตัวขึ้นแง่งหินก้อนหนึ่ง สายตาก็เหลือบไปเห็นเจ้ากวางผา ยืนสง่าอยู่บริเวณสันเขาอีกลูกหนึ่ง ด้านขวามือ

เจ้าตัวนี้ เป็นกวางผาที่นับว่าเจอได้ง่าย ในระยะใกล้ที่สุดตั้งแต่ที่เคยเจอมา ส่วนที่ยากที่สุดนั้นเห็นจะเป็นดอยม่อนจอง อาจด้วยจำนวนประชากรกวางผาที่เชียงดาวแห่งนี้มีมากถึง 100 ตัว จึงมีโอกาสเจอได้มากกว่าที่อื่นๆ

เกือบชั่วโมงเต็มๆที่เรานั่งดูเจ้ากวางผาเดินเล่นไปตามก้อนหินบนสันเขา เดินข้ามก้อนนั้น กระโดดลงก้อนนี้ สักพักก็ลงไปนอนนิ่งๆข้างพุ่มไม้

 

กวางผา แห่งดอยหลวงเชียงดาว
กวางผา ที่พบได้บริเวณสันเขาอีกฝั่งของจุดชมวิว

 

ระหว่างที่นักท่องเที่ยวคนอื่นนั่งรอชมพระอาทิตย์ตกซึ่งเป็นไฮไลต์ของการมาเยือนดอยหลวงเชียงดาวอยู่อีกฝั่งของยอดดอย พวกเรากลับนั่งอยู่อีกฝั่งมองแสงแดดพาดผ่านแนวหินบนสันเขา และเจ้ากวางผานอนนิ่งๆ อยู่จนแสงแดดจางหายไป

ตกค่ำ อากาศเย็นจัด มีลมพัดมาเป็นช่วงๆ ทำให้ยิ่งทวีความหนาวขึ้นไปอีก การจัดการที่ดีขึ้นและการเข้มงวดต่อกฎกติกา ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่นี่รักษามารยาทและเคารพธรรมชาติมากขึ้น แม้จะเป็นช่วงหัวค่ำ การสนทนากันในกลุ่มนักท่องเที่ยวก็เป็นไปอย่างพอเหมาะพอควร ไม่ได้อึกทึกครึกโครมอย่างเช่นสถานที่ท่องเที่ยวหลายๆที่ ที่นักท่องเที่ยวทำเสมือนย้ายขึ้นมาปาร์ตี้บนยอดดอย

ยิ่งดึกอากาศยิ่งทวีความหนาวขึ้นเรื่อยๆ จนต้องตื่นขึ้นมาหลายครั้ง และสิ่งหนึ่งที่ได้ยินนอกจากเสียงกรนของเต้นท์เพื่อนบ้านนั่นคือ เสียงร้อง แฮ็กซ์ แฮ็กซ์ ของเจ้ากวางผา ที่สะท้อนก้องมาในอากาศ บางครั้งได้ยินมาทางด้านเหนือเต้นท์นักท่องเที่ยวขึ้นไปทางจุดสูงสุดของดอยหลวงเชียงดาว บางครั้งดังมาจากทางไป “กิ่วลม” ซึ่งเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น นอนฟังไปเรื่อยจนเผลอหลับไปด้วยใจพองโต

จำได้ว่าตอนขึ้นมาดอยหลวงเชียงดาวเมื่อหลายปีที่แล้ว เวลาตื่นมาตอนเช้า จะเห็นกระดาษทิชชู่ถูกใช้แล้วทิ้งเกลื่อนบริเวณแคมป์ไปหมด (ส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายเบาบริเวณแคมป์) แต่ปีนี้แทบไม่เห็นกระดาษทิชชู่ทิ้งอยู่บริเวณแคมป์เลย นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนหลังจากมีการจัดการที่ดีขึ้น

หวังในปีนี้หรือปีต่อๆไป เราคงไม่ได้รับข่าวร้ายกรณีสัตว์ป่ากินทิชชู่เปียก หรือ สัตว์ป่าตกลงไปตายในหลุมสุขาของนักท่องเที่ยวอีก

สุดท้าย

ขอทิ้งท้ายไว้ด้วยความเป็นห่วงเจ้ากวางผา เมื่อไม่นานมานี้ผู้มาเยือนดอยหลวงเชียงดาวมีโอกาสได้ใกล้ชิดเจ้ากวางผา ชนิดที่ว่ามาเดินกันในแคมป์ยามค่ำคืน แล้วได้เห็นสัตว์ป่าหายากใกล้ๆ นี่คือความโชคดีของผู้มาศึกษาธรรมชาติ

แต่อีกมุมหนึ่ง เรากำลังก้าวล้ำเข้าไปยังพื้นที่หากินอันน้อยนิดของกวางผาเหล่านั้นรึป่าว? จะเป็นไปได้ไหมหากจะยอมเสียสละพื้นที่ด้านล่าง ขยับลงมาจากบริเวณอ่างสลุงอีกนิด เพื่อจัดพื้นที่สำหรับทำแคมป์พักให้นักท่องเที่ยว และให้พื้นที่ส่วนนั้นเป็นที่อาศัยโดยปลอดภัยของกวางผาต่อไป

 

 


เรื่อง / ภาพ เกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร