การ lock down ส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์ป่า และสัตว์ในทะเลได้อย่างไรบ้าง

การ lock down ส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์ป่า และสัตว์ในทะเลได้อย่างไรบ้าง

มีสัตว์ป่าออกมาให้เห็นมากขึ้นหลังจากมีมาตรการให้ผู้คนนั้นกักตัวเองในหลายประเทศทั่วโลกจากสาเหตุการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น เจ้าหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติ Yosemite ในสหรัฐอเมริกาพบเห็นหมีดำตัวใหญ่ออกมาปีนต้นไม้เล่นในช่วงการระบาดของ COVID-19 คลองในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี พบเห็นแมงกระพรุนตัวใหญ่ หลังจากมีคำสั่งกักตัวผู้คนทำให้มีการสัญจรของเรือในคลองน้อยลง และมีการพบเห็นนกเพนกวินออกมาเดินเล่นตามถนนในเมืองเคปทาวน์หลังจากมีคำสั่งกักตัวผู้คนให้อยู่ในบ้าน

วันคุ้มครองโลกในปีนี้มุ่งความสนใจไปที่ผลกระทบจาก COVID-19 และผลของมาตรการทางสังคมต่าง ๆ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยจำนวนของคนที่น้อยลงทั้งบนถนน ชายหาด และตามคลองต่าง ๆ อาจเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับสัตว์ป่าทั้งหลาย

กวางในอุทยานแห่งชาติ Yosemite ในอเมริกากำลังออกหากินในวันที่ 11 เม.ย. 63 (Carolyn Cole/Los Angeles Times via Getty Images)

Todd Suess หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรชีวภาพของอุทยานแห่งชาติในอเมริกาได้กล่าวว่า “การตายของสัตว์จากการเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ของสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติ จำนวนของสัตว์ที่ตายจากอุบัติเหตุแบบนี้ และมันมีปริมาณมากจนส่งผลกระทบต่อประชากร”

นักท่องเที่ยวจะถูกแจ้งเตือนให้ลดความเร็วของยานพาหนะ เพื่อระมัดระวังสัตว์เวลาพวกมันลงมาอยู่บนถนนเสมอ ตั้งแต่กวางตัวใหญ่ไปจนถึงกบ และกระต่ายตัวเล็ก ๆ Todd Suess ยังได้บอกอีกว่ามีเต่าทะเลทรายชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ทะเลทราย เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า California’s Mojave และอุทยานแห่งชาติ Joshua Tree เต่าชนิดนี้มักถูกฆ่าโดยยานพาหนะขณะที่มันกำลังข้ามถนน และเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์เต่าชนิดนี้อย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่อุทยานแห่งชาติหลายแห่งได้ปิดตัวลงเพราะการระบาดของ COVID-19 อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยคืออัตราการเสียชีวิตของสัตว์ป่าในอุทยานจากอุบัติเหตุทางถนนนั้นลดลงอย่างมาก

ในอุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอนซึ่งถูกปิดตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนมีการเสียชีวิตของกวางชนิดต่าง ๆ จากยานพาหนะน้อยลงอย่างมากอ้างอิงจากข้อมูลของอุทยานแห่งชาติ สัตว์ทะเลก็ได้รับผลประโยชน์เช่นกันจากมาตรการรณรงค์ให้กักตัวเองอยู่ในบ้านของมนุษย์ทั่วโลก

เต่ามะเฟือง ณ ชายหาดแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา (CR. Loggerhead Marinelife Center)

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (ของประเทศอเมริกา) เป็นช่วงเวลาทำรังวางไข่ของเต่ามะเฟือง ซึ่งโดยปกติแล้วในอเมริกามีอยู่ที่เดียวที่เต่ามะเฟืองจะทำรังคือที่ชายฝั่งตะวันออกในรัฐฟลอริดา เต่ายักษ์หายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดนี้ได้ว่ายน้ำหลายพันไมล์เพื่อมาวางไข่บนชายหาด บ่อยครั้งที่เต่าเหล่านี้ตายจากใบพัดเรือขณะว่ายน้ำใกล้ผิวน้ำ

David Godfrey ผู้บริหารขององค์กรอนุรักษ์เต่าทะเลในรัฐฟลอริดา ได้กล่าวว่า “รังบนชายหาดที่เต่าวางไข่ไว้นั้นอาจจะได้รับอันตรายจากหลาย ๆ ทาง เช่น รังอาจถูกเหยียบย่ำโดยผู้ที่มาเดินเล่นบนชายหาดอาจทำให้เต่าตัวเล็กและพิการได้ และมลภาวะทางแสงบริเวณชายอาจทำให้ลูกเต่าที่เพิ่งฟักนั้นหาดมุ่งหน้าขึ้นไปบนบกแทนที่จะมุ่งหน้าลงทะเล”

David Godfrey ยังได้กล่าวอีกว่า “การลดลงของการเดินเรือ และกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ บนผิวน้ำในช่วงนี้ทำให้การเสียชีวิตของเต่าทะเลนั้นลดลง โดยจากสถิติที่ลดลงของจำนวนเต่าที่ถูกชนโดยเรือในปีนี้น่าจะทำให้เราได้เห็นจำนวนของรังที่เต่ามาวางไข่ได้มากขึ้น” และจนถึงตอนนี้ David กล่าวถึงข้อมูลการทำรังของเต่าว่า “ฤดูกาลวางไข่ในปีนี้เริ่มต้นไปได้ดีมากเลยล่ะ” 

Lauren Eissey โฆษกของ The Loggerhead Marinelife Center ในเมือง Juno รัฐ Florida ประเทศอเมริกา ได้สำรวจ และเก็บข้อมูลจำนวนรังของเต่ามะเฟืองในวันอังคารที่ 21 เม.ษ. ค.ศ.2020 โดยพวกเขาได้ทำการสำรวจพบรังจำนวน 85 รัง บนชายหาดที่ยาวต่อเนื่อง 9.5 ไมล์ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

David Godfrey บอกว่ากิจกรรมทางน้ำ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับเรือที่ลดลง น่าจะส่งผลโดยตรงต่อจำนวนของเต่ามะเฟือง เพราะเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ก็ได้เกิดขึ้นเหมือนกันที่ประเทศไทย บนชายหาดที่ว่างเปล่าเพราะว่าผู้คนในประเทศต่างโดนกักตัวกันหมด และอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อเต่ามะเฟืองก็คือเครื่องมือการทำประมงทั้งหลาย ซึ่งก็มีจำนวนลดลงเช่นกันในฤดูวางไข่ปีนี้

David Godfrey บอกว่าองค์กรของเขาได้จับตาดู และได้ตั้งความหวังว่าจะเห็นจำนวนของรังเต่า และจำนวนของลูกเต่าที่รอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งเขาถือว่ามันเป็นความสำเร็จของพื้นที่แห่งนี้ในการเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ของเต่ามะเฟือง ถึงแม้ว่าความสำเร็จนี้อาจจะอยู่ชั่วคราวเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ และมลพิษทางแสงบนชายหาดที่ลดลง เกิดขึ้นจากมาตการกักกันการระบาดของ COVID-19 

David ยังได้กล่าวอีกว่า “ผลผลิตประชากรเต่าในฤดูการวางไข่ปีนี้นั้นมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และเมื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดหลังจบฤดูกาลแล้ว พวกเราจะได้เห็นสิ่งดี ๆ มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน”

ไม่ใช่แค่เต่ามะเฟืองเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ในช่วงการกักตัวเพื่อลดการระบาดของ COVID-19 อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดจาก the Florida Fish and Wildlife Conservation Commission บอกว่าโดยปกติแล้วในช่วงฤดูใบไม้ผลิพะยูนแมนนาทีจะออกมาปรากฎตัวให้เห็นมากในน่านน้ำรัฐฟลอริดา ทำให้สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดการปะทะกับเรือ จากการเก็บข้อมูลจนถึงวันที่ 10 เม.ย. 2563 ในปีนี้มีพะยูนแมนนาทีตายจากอุบัติเหตุทางเรือ 24 ตัว ซึ่งถือว่ามีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วที่มีจำนวนถึง 41 ตัว ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลในรัฐฟลอริดาได้รับมากขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ ที่ไม่มีสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

Todd Suess บอกว่าการที่กิจกรรมของมนุษย์นั้นน้อยลงก็ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมสัตว์ด้วย จำนวนคนในอุทยานแห่งชาติที่ลดลงทำให้สัตว์ป่านั้นกล้าที่จะออกไปผจญภัยยังพื้นที่ที่มันไม่เคยไป เช่น ลานจอดรถ หรือศูนย์บริการนักท่องเที่ยว “เสียงรบกวน และความแออัดที่น้อยลงทำให้สัตว์ป่าขยายพื้นที่ของมันเข้าไปในพื้นที่ที่เคยมีมนุษย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ไม่มีมนุษย์อยู่ที่นั่นแล้ว”

อุทยานแห่งชาติ Yosemite ซึ่งถูกปิดลงในวันที่ 20 มี.ค. 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เจ้าหน้าที่ได้พบเห็นสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ออกมาเดินเล่นแถว ๆ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และกระต๊อบสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น แมวป่า และหมาป่าโคโยตี้ อีกทั้งยังมีการพบเห็นหมีในอุทยานมากขึ้นอีกด้วย

หมาป่าโคโยตี้กำลังเดินเล่นรอบ ๆ พื้นที่กระต๊อบที่พักนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ Yosemite ในวันที่ 11 เม.ย. 63 (Carolyn Cole/Los Angeles Times via Getty Images)

แต่ก็ยังมีปัญหาอีกด้านที่เกิดขึ้น สัตว์บางตัวคุ้นเคยกับอาหารของมนุษย์สัตว์เหล่านั้นก็มาคอยตามสถานที่ที่มนุษย์เคยอยู่เพื่อหวังที่จะได้เจอกับอาหารของมัน Todd Suess กล่าวว่า “หลายสิบปีแล้วที่เราพยายามขอให้นักท่องเที่ยวนั้นอย่าให้อาหารสัตว์ แต่มันก็ยังมีสัตว์บางตัวที่ตามขออาหารจากนักท่องเที่ยว เช่น กา และหมาป่าโคโยตี้ เพราะกลายเป็นว่าอาหารของมนุษย์นั้นคือสิ่งที่สัตว์เหล่านี้ใช้ดำรงค์ชีพ”

สิ่งนี้คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานบอกกับนักท่องเที่ยวว่าให้พยายามรักษาระยะห่างของคุณกับสัตว์ป่าที่คุณอาจจะพบเจอระหว่างการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ

Todd Suess หวังว่าเมื่ออุทยานแห่งชาติได้กลับมาเปิดอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจะปฏิบัติตามคำแนะนำ 3 ข้อ

1. ขับรถช้า ๆ คอยมองว่ามีสัตว์กำลังเดินข้ามถนนหรือเปล่า ถ้ามีให้หยุดรถแล้วรอให้สัตว์ข้ามไปก่อน
2. อย่าให้อาหารสัตว์ และคอยป้องกันไม่ให้มันมาขโมยอาหารของเราด้วย
3. รักษาระยะห่างของคุณกับสัตว์ป่า อย่าไปรบกวนมัน

David Godfrey บอกว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะประเมินถึงผลกระทบในระยะยาวที่มีสาเหตุมาจากการกักตัวมนุษย์แล้วส่งผลถึงจำนวน และพฤติกรรมของสัตว์ป่า แต่สำหรับเขาการปิดชายหาดไม่ให้คนเข้า และการห้ามกิจกรรมทางน้ำอื่น ๆ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะศึกษาว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยทำให้การฟื้นตัวของเต่าทะเลนั้นดีขึ้นหรือไม่

David Godfrey ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อีกว่า “ชะตากรรมของเต่า และสัตว์ป่าอื่น ๆ นั้นอยู่ในมือของเรา สาเหตุที่จำนวนของพวกเขาหลาย ๆ สายพันธุ์นั้นลดลงในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และสาเหตุที่พวกเขาตกอยู่ในความอันตราย ส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะพฤติกรรมของมนุษย์”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Earth Day 2020: How social distancing may impact park and marine life
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร