เหตุผลที่ทำให้เรายังมีความหวัง หลาก ‘เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ’ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เหตุผลที่ทำให้เรายังมีความหวัง หลาก ‘เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ’ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วิกฤติภูมิอากาศนับเป็นภัยคุกคามอารยธรรมมนุษย์ที่เร่งด่วนที่เราเคยพบเจอ แต่ท่ามกลางข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี คือเรามีเครื่องมือครบถ้วนที่ใช้รับมือภัยคุกคามดังกล่าวได้ ความท้าทายจึงไม่ใช่การมองหาทางออก แต่เป็นการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ ‘เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ’

บางอุตสาหกรรมสำคัญก็นำหน้าไปไกล เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานต่ำกว่าในบางประเทศ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รถยนต์ไฟฟ้าก็อาจราคาถูกกว่าซึ่งจะนำไปสู่จุดเปลี่ยน

ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเองก็ราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลในหลายพื้นที่ บางแห่งถึงขั้นถูกกว่าการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากโรงงานถ่านหินที่มีอยู่เดิม แม้ว่ากำลังการผลิตยังห่างไกลที่จะตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของโลก แต่ราคาแบตเตอรีและวิธีเก็บพลังงานชนิดอื่นๆ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็เริ่มตระหนักว่าการละเลยการลงทุนใน ‘เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ’ อาจนำไปสู่ความผิดพลาดราคาแพง เมื่อผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนอาจราคาแพงถึงขั้นทำลายเศรษฐกิจ กระทั่งธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเข้มข้นอย่างซีเมนต์และเหล็กกล้าก็ยังหันมาใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม

การก่อสร้างอาคารปล่อยมลภาวะมหาศาล แต่ก็เป็นทางออกในเวลาเดียวกันนั่นคือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ทางออกดังกล่าวบรรลุได้ไม่ยาก ช่วยประหยัดเงินผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะต้นทุนในการติดตั้งเทคโนโลยีเช่นเครื่องทำความร้อนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

Photo by Thomas Richter

การหยุดตัดไม้ทำลายป่าไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใด แต่ต้องอาศัยการดำเนินการโดยภาครัฐ สำหรับเรื่องนี้นับว่าแทบไม่ก้าวหน้า บราซิลภายใต้การปกครองของบอลซานาโรเดินถอยหลัง หลายประเทศ เช่น อินโดนีเซียก็เป็นตัวอย่างว่ากฎหมายไม่มีประสิทธิผล การคุ้มครองและฟื้นฟูป่าไม้โดยเฉพาะการสนับสนุนชนพื้นเมืองให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ก็นับว่าเป็นเครื่องมือที่อาจช่วยได้

บทบาทของการผลิตอาหารและการเกษตรต่อสภาวะโลกร้อนเริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ส่วนทางออกก็คือการรับประทานเนื้อสัตว์ทางเลือกไปจนถึงการทำฟาร์มแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมนี้นับว่ามีความหวัง เช่นเดียวกับการยุติการอุดหนุนเงินมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล

ท่ามกลางวิกฤติภูมิอากาศ เศษเสี้ยวของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมีความหมาย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างย่อมช่วยบรรเทาความทุกข์ของประชาชน ทุกการกระทำจะช่วยให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การลดการปล่อยมลภาวะทางอากาศที่อาจช่วยชีวิตนับล้านชีวิตในแต่ละปี

แนวทางผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือการผสมผสานระหว่างทางเลือกที่หลากหลาย มีคุณค่า และจับต้องได้ รวมทั้งเจตจำนงทางการเมือง และทักษะ กระบวนการถูกเร่งให้เร็วขึ้นจากเสียงเรียกร้องตั้งแต่การประท้วงของคนรุ่นใหม่ไปจนถึงผู้บริหารบริษัท ซึ่งจำเป็นต้องรวมพลังเพื่อต่อสู่กับผลประโยชน์มหาศาลในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล การบิน และปศุสัตว์

การคมนาคม

การคมนาคมปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 14 – 28 เปอร์เซ็นต์ และเปลี่ยนผ่านค่อนข้างช้าโดยเผชิญกับความท้าทายโดยเฉพาะธุรกิจการเดินทางด้วยเครื่องบินระยะไกล

แต่เรามีทางออกทางเทคนิค ซึ่งอาจได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายสาธารณะและงบประมาณจากภาครัฐ รถยนต์ไฟฟ้าคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันแทบจะไม่มีการผลิตอีกแล้วในสหภาพยุโรป ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกประเทศ โดยประเทศอย่างนอร์เวย์อาจถึงจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ รถไฟฟ้าราคาถูกกำลังเดินหน้าผลิตในจีน ในขณะเดียวกัน เครื่องยนต์สันดาปก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและปล่อยมลภาวะน้อยลง

จักรยานและสกูตเตอร์เริ่มเป็นที่นิยมในเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกซึ่งโอบรับแนวคิดการเคลื่อนที่ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เรือขนส่งมลภาวะต่ำกำลังจะนำมาใช้งานจริง ศักยภาพในเทคโนโลยีไฮโดรเจนก็มีความหวังยิ่งขึ้นสำหรับพัฒนารถไฟพลังงานสะอาด ตามมาด้วยเรือ และวันหนึ่งอาจเป็นเครื่องบิน ผู้ผลิตคาดว่าจะสามารถสร้างเครื่องบินระยะใกล้ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าได้ในอีกไม่นาน ที่สำคัญ โลกที่เผชิญโรคระบาดทำให้เราทราบว่าโลกที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางนั้นเป็นไปได้ โดยคนจำนวนมากอาจยอมรับและยินดีกับชีวิตที่เดินทางน้อยลงด้วยซ้ำไป

Photo by Mika Baumeister

การตัดไม้ทำลายป่า

การตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินคือแหล่งปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของมนุษย์ การทำลายผืนป่าทั่วโลกยังดำเนินต่อไปแม้ว่าเราจะเผชิญกับโรคระบาด เราสูญเสียพื้นที่หลายล้านตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะการถางป่าแอมะซอนในบราซิล

แต่เราก็ยังมีความหวัง ในการประชุม COP26 ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นประธานให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นเรื่องป่าไม้ โดยมีการระดมเงินทุนแก่ประเทศที่มีพื้นที่ป่ากว้างใหญ่ พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศเหล่านั้นมีคำมั่นว่าจะยังคงรักษาผืนป่าต่อไปเสมือนเป็นธนาคารคาร์บอน

อินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าอันดับต้นๆ ของโลกเพื่อเปลี่ยนเป็นแพลงปาล์มน้ำมัน แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าลดลงอย่างมากซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายข้อจำกัดในการทำแปลงปาล์มน้ำมัน แต่เราก็ยังไม่อาจวางใจได้เพราะกระแสการปลูกถั่วเหลืองในบราซิลแสดงให้เห็นว่าการตัดไม้ทำลายป่าสามารถย้อนกลับมาได้ทุกเมื่อ

ประการสุดท้ายคือการตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนพื้นเมืองในการอนุรักษ์ผืนป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ แม้ว่าพวกเขาจะเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติและเป็นเป้าหมายของความรุนแรง แต่มีการศึกษาจำนวนมากที่ระบุว่าพวกเขาคือคนที่คุ้มครองผืนป่าได้ดีที่สุด การสนับสนุนชุมชนเหล่านี้อาจมีส่วนสำคัญในการยุติการตัดไม้ทำลายป่า

Photo by Ivars Utināns

เทคโนโลยี

การปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากบริษัทเทคโนโลยี ทั้งการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทางตรง จากการใช้ไฟฟ้า และการปฏิบัติการอื่นๆ เช่นการผลิต คิดเป็น 0.3 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยคาร์บอนของทั้งโลก โดยมีประเด็นใหม่ที่น่าจับตาคือการใช้พลังงานเพื่อทำเหมืองคริปโตเคอร์เรนซี

การทำเหมือง (Mining) คือกระบวนการที่บิทคอยน์จะมอบรางวัลให้กับคอมพิวเตอร์ในแก้โจทย์อัลกอรทึมที่สลับซับซ้อน กระบวนการดังกล่าวใช้พลังงานอย่างมากและจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเมื่ออัลกอริทึมสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่ระบบขุดเหมืองแบบใหม่นั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เช่นระบบที่เรียกว่า Proof of Stake ซึ่งปล่อยคาร์บอนน้อยลงถึง 99 เปอร์เซ็นต์

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเริ่มถูกจับตามากขึ้นโดยเฉพาะพนักงานในธุรกิจที่ออกมาร่วมเดินขบวนเรียกร้องการรับมือวิกฤติภูมิอากาศในปี พ.ศ. 2562 หลายบริษัทก็ให้คำมั่นว่าจะทำให้ดียิ่งขึ้น เช่น Amazon ที่ตั้งเป้าว่าจะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2583 และจะใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2568 Facebook และ Apple ตั้งเป้าปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานภายในปี พ.ศ. 2573 และ Microsoft ก็ให้คำมั่นว่าจะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบภายในปี พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้อาจเดินหน้าช้ากว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่พนักงานภายในองค์กรต่างก็ช่วยกันผลักดันอย่างต่อเนื่อง

ภาคธุรกิจ

เนิ่นนานหลายทศวรรษที่ Exxon Mobil ได้รับตำแหน่งบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดโต่ง แต่ปีนี้ ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวได้ตำแหน่งถึงสามที่นั่งในคณะกรรมการบริษัทโดยมีเป้าหมายเพื่อบังคับให้บริษัทยอมรับและจัดการกับวิกฤติภูมิอากาศ

บริษัทในอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นธนาคารกลางที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกต่างเสริมทัพให้กับทีมนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ BlackRock นักลงทุนสถาบันที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็กำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนเป็นเป้าหมายหลักของบริษัท

นี่ไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์อีกต่อไป แต่เป็นเรื่อง “สามัญสำนึก” BlackRock ระบุว่าหากเราไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ บริษัทประมาณการว่ามีโอกาส 58 เปอร์เซ็นต์ที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอีก 40 – 60 ปีข้างหน้าหากไม่ดำเนินการอะไร

แน่นอนว่าเหล่าบริษัทยังต้องดำเนินการอีกมาก บางคนตั้งคำถามว่าการดำเนินการโดยบรรษัทจะเพียงพอที่จะแก้วิกฤติโดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยแห่งการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จบลงแล้ว สิ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือการเดินหน้าแก้ไขปัญหา

Photo by Markus Spiske

การผลิตไฟฟ้า

ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก บีบบังคับให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง ส่งผลให้เกิดไฟดับในจีน และเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้กลายเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเพิ่มความพยายามในการพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าคาร์บอนต่ำภายในประเทศ ข่าวดีก็คือพลังงานหมุนเวียนพร้อมแล้วที่จะมีบทบาทสำคัญในระบบการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก

ราคาพลังงานแสงอาทิตย์และลมที่ลดลงอย่างมากถือเป็นแรงจูงใจเม็ดเงินลงทุนก้อนใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี ซึ่งราคาลดลงอย่างมากเช่นกัน อีกไม่นานพลังงานลมและแสงอาทิตย์จะมีส่วนช่วยในการผลิตไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะสามารถใช้เก็บไว้ได้นานเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าในวันที่แสงน้อยและลมไม่แรงนัก

ความก้าวหน้าเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงอย่างมากซึ่งจะช่วยให้หลากหลายประเทศใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วหันไปใช้ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Photo by American Public Power Association

สิ่งปลูกสร้าง

การก่อสร้างนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลภาวะมากที่สุดของโลก โดยคิดเป็นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก

เป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่รอยเท้าคาร์บอนของการใช้อาคารลดลงอย่างมากเนื่องจากเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน ระบบฉนวนความร้อนที่ดียิ่งขึ้น กระจกที่เคลือบสารกันความร้อน และการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่อาคาร เช่น แผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือระบบทำความร้อนจากพื้นพิภพ เช่นในประเทศนอร์เวย์ที่ใช้ระบบทำความร้อนดังกล่าวจำนวนมากโดยมี 600 แห่งต่อ 1,000 ครัวเรือน

เมื่อระบบไฟฟ้าระดับชาติปล่อยคาร์บอนลดลง ความสนใจก็เริ่มมุ่งไปที่คาร์บอนจากการผลิตวัสดุก่อสร้างซึ่งอาจคิดเป็นสัดส่วนถึง 3 ใน 4 ของคาร์บอนที่ปล่อยทั้งหมดตลอดอายุการใช้งานของอาคาร โดยเริ่มมีการหาทางลดการใช้คอนกรีตและเหล็กกล้าแล้วหันมาใช้ไม้เพื่อทดแทน

Photo by Alexander Abero

อาหารและการเกษตร

รอยเท้าคาร์บอนของภาคปศุสัตว์ทั่วโลกนับว่ามีนัยสำคัญ โดยคิดเป็นราว 14 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในแต่ละปี โดยรัฐบาลทั่วโลกเริ่มมีทีท่าตระหนักและยอมรับถึงปัญหาดังกล่าว

ปัจจุบัน นิวซีแลนด์มีข้อผูกมัดทางกฎหมายในการลดการปล่อยแก๊สมีเทนจากภาคการเกษตร 10 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2573 ขณะที่เดนมาร์กได้ผ่านกฎหมายที่ระบุเป้าหมายลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในภาคการเกษตรลง 55 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2573

แม้ว่าปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลกจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่เทรนด์การเปลี่ยนไปทานเนื้อปลาและสัตว์ปีกซึ่งปล่อยแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อแดงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน อุตสาหกรรมอาหารยังพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำจำนวนมาก เช่น โปรตีนจากพืชทั้งถั่วเหลืองและถั่วเขียว แมลง และเนื้อสัตว์ทางเลือกที่ผลิตในห้องทดลอง

การผลิต

การลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตสินค้าหลากหลายชนิดซึ่งจำเป็นต่อเศรษฐกิจสมัยใหม่เป็นงานที่หลากหลายและท้าทายอย่างยิ่ง บางอุตสาหกรรมก็เริ่มเดินหน้าแล้ว เช่น บริษัท Apple ที่ตั้งเป้าว่าจะปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ในอีกทศวรรษ

สำหรับบริษัทอื่นๆ ประสิทธิภาพของโรงงานและผลิตภัณฑ์จะเพิ่มอย่างก้าวกระโดดจากความช่วยเหลือของปัญญาประดิษฐ์ เราได้เห็นสัญญาณแห่งความหวังในอุตสาหกรรมที่นับว่าลดการปล่อยคาร์บอนยากที่สุดอย่างยานยนต์ เช่น Volvo ที่วางแผนว่าจะทดแทนถ่านหินด้วยไฮโดรเจนในการผลิตเหล็กกล้าเพื่อทำรถยนต์

เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้เรามองโลกในแง่บวกคือผู้ผลิตเริ่มตระหนักถึงหลักการออกแบบหมุนเวียน โดยผลิตสินค้าที่ง่ายต่อการรีไซเคิลตั้งแต่ต้นซึ่งจะช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากการขุดเจาะวัตถุดิบใหม่ขึ้นมาจากธรรมชาติ แต่คำถามสำคัญยังอยู่ที่ว่าประเทศร่ำรวยจะสามารถลดการบริโภคได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นวิธีที่ชัดเจนที่สุดในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก


ถอดความและเรียบเรียงจาก Reasons to be hopeful: the climate solutions available now

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก