10 ข่าวสิ่งแวดล้อม ที่คนพูดถึงมากที่สุดในปี 62

10 ข่าวสิ่งแวดล้อม ที่คนพูดถึงมากที่สุดในปี 62

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รวบรวมประเด็น ข่าวสิ่งแวดล้อม ที่คนให้ความสนใจมากที่สุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา 

1. คดีเสือดำกับคำตัดสินที่รอคอย เปรมชัย รอด-ไม่รอด ?
2. “เมืองจมฝุ่น” สภาวะความเป็นเมืองกับฝุ่น PM2.5
3. วิกฤติแม่น้ำโขง ผลกระทบจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า ไซยะบุรี
4. ลูกพะยูนเกยตื้น “มาเรียม นางฟ้าแห่งท้องทะเลอันดามัน”
5. ขยะพลาสติกฆ่าสัตว์ทะเล พบ 3 ปีย้อนหลัง สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว
6. “ชะตากรรมนกชนหิน” โซเชี่ยลหนุนให้นกชนหิน เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย
7. โศกนาฏกรรมช้างป่าตกเหว “น้ำตกเหวนรก” ตาย 11 ตัว
8. รื้อโครงการเก่ากระทบสิ่งแวดล้อม ท่าเรือปากบารา ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ผ่านน้ำเขื่อนศรีนครินทร์
9. ฟาร์มไก่ปารีณา รุกพื้นที่ป่า 1,700 ไร่
10. ฉลองไม่ฉลาม รัฐบาลจัดโต๊ะจีนเสิร์ฟซุปหูฉลาม

ข่าวทั้งหมดที่เรายกมาเป็นการเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน-หลัง ไม่ใช่คะแนนนิยมแต่อย่างใด


1. คดีเสือดำกับคำตัดสินที่รอคอย เปรมชัย รอด-ไม่รอด ?

ยังคงเป็นที่พูดถึงกันอย่างเนื่องกับข่าวคดีเสือดำ ที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เข้าจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัทอิตาเลียนไทยและพรรคพวก แอบนำปืนล่าสัตว์เข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก  เมื่อ 3 ก.พ. 61 พบซากเสือดำและสัตว์ป่าคุ้มครองอื่น ๆ อีกหลายชนิด

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นายเปรมชัยและพวก ต้องเดินทางขึ้น-ลง ศาลจังหวัดทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อยู่บ่อยครั้ง คำพิพากษาจากศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 62 ระบุโทษนายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่1 จำคุก 16 เดือน นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 จำคุก13 เดือน นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3 จำคุก 4 เดือน (โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี) และนายธานี ทุมมาศ จำเลยที่ 4 จำคุก 2ปี 17 เดือน

โจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์เพื่อขอต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 62 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษา ที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มโทษนายเปรมชัย กรรณสูต​ จำคุก 2 ปี 14 เดือน นายยงค์ โดดเครือ จำคุก 2 ปี 17 เดือน นางนที เรียมแสน จำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับเงิน 40,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี และนายธานี ทุมมาศ จำคุก 2 ปี 21 เดือน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
สรุปเหตุการณ์ สืบพยานจำเลย คดีล่าเสือดำ (19-21 ธ.ค. 61)
1 ปี ที่เสือดำทุ่งใหญ่จากไปท่ามกลางการรับรู้ของสาธารณะชน
1ปี “คดีเสือดำ”คำตัดสินที่รอคอย

2. “เมืองจมฝุ่น” สภาวะความเป็นเมืองกับฝุ่น PM2.5

กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว (?) บางครั้งก็เป็นประโยคบอกเล่า บางครั้งก็เป็นประโยคคำถาม เมื่อชีวิตในเมือง มีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้ชีวิตสะดุด

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสเรื่องฝุ่น PM2.5 ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น แต่การหลีกหนีจากสภาวะนี้ก็เหมือนจะริบหรี่ลงทุกวัน รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าที่มาของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ มันมาจากตัวควันรถยนต์กับการจราจรที่ติดขัด รัฐต้องมองหาทางออกที่ยั่งยืนกว่าการฉีดน้ำจากตึกใบหยก ล้างถนน หรือสั่งจับรถยนต์ควันดำ หากรัฐไม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ เราก็จะจมอยู่ในสภาวะฝุ่น PM2.5 อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

รวมไปถึงผลกระทบสืบเนื่องจากข้างนอก เช่น การปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือการเผาในที่โล่ง ส่วนเชียงใหม่เป็นปัญหาด้านสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรกรรม 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
มลภาวะทางอากาศคร่าชีวิตคนมากกว่าบุหรี่
 “เมืองจมฝุ่น” มรดกที่เราทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ถกเรื่องเมืองกับ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ นักภูมิศาสตร์เมือง UddC
มลภาวะทางอากาศ มหันตภัยทางสุขภาพของประชาชนในเอเชีย

 

3. วิกฤติแม่น้ำโขง ผลกระทบจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า ไซยะบุรี

เขื่อนในจีนลดการระบายน้ำ และการทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เขื่อนไซยะบุรีใน สปป. ลาว ที่ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ไปประมาณ 200 กิโลเมตร เป็นสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ของระดับน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในขั้นวิกฤต

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุในหนังสือที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนว่า เขื่อนไซยะบุรีมีการทดสอบในช่วงระหว่างวันที่ 15-29 ก.ค. โดย “เก็บกักน้ำบางส่วน” ในช่วงวันที่ 9-17 ก.ค. จึงทำให้แม่น้ำโขงในประเทศไทยแห้งลงตั้งแต่ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม จ.เลย ไปจนถึง จ.หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม

แม่น้ำโขงได้ฉายาว่าเป็น Mighty Mekong หรือสายน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่วันนี้แม่น้ำโขงไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว แต่กลายเป็น Hungry Mekong แปลว่า ภาวะไร้ตะกอน พูดง่าย ๆ ก็คือเกิดภาวะ สายน้ำที่หิวโหย เพราะหลังจากเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จก็มีการกักเก็บน้ำไว้เหนือเขื่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนกระทั่งน้ำท้ายเขื่อนแห้งและปลาตาย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม

 

4. ลูกพะยูนเกยตื้น “มาเรียม นางฟ้าแห่งท้องทะเลอันดามัน”

ในช่วงเดือนเมษายนและกรกฎาคมที่ผ่านมาหลายคนคงจะทราบข่าวพะยูนมาเรียม ลูกพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 7 เดือน และยามีล ลูกพะยูนเพศผู้ อายุประมาณ 3 เดือน ที่ออกมาเกยตื้นหน้าหาด จ.กระบี่ ซึ่งลูกพะยูนทั้ง 2 ก็ได้จากพวกเราไปแล้วเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

จากการพิสูจน์หาสาเหตุการตายของมาเรียม ทีมสัตวแพทย์พบขยะพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ตามมา

ข่าวนี้ได้สร้างความเศร้าสลดให้กับหลาย ๆ คน โดยเฉพาะทีมเจ้าหน้าที่ที่ดูแลมาเรียมและยามีล เพราะทุกคนทำงานอย่างเต็มที่นับตั้งแต่ที่เจอมาเรียมครั้งแรก การตายของมาเรียมในครั้งนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกอีกครั้ง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
โอกาสรอดของลูกพะยูนมาเรียม ในวันที่ไม่มีแม่

 

5. ขยะพลาสติกฆ่าสัตว์ทะเล พบ 3 ปีย้อนหลัง สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว

ในช่วง1 ปีที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ออกมาให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งวาฬ เต่าทะเล และพะยูน ซึ่งสาเหตุการตายของสัตว์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากติดเครื่องมือประมงและขยะพลาสติก

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยจากผลการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 54% โลมาและวาฬ 41% และพะยูน 5%

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2546 – 2560) พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 3,702 ตัว ส่วนสาเหตุการตายของเต่าทะเลและพะยูนเกิดจากติดเครื่องมือประมงและขยะพลาสติกสูงเป็นอันดับ 1 ส่วนกลุ่มโลมาและวาฬป่วยตามธรรมชาติมากกว่า 60% 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
ชะตากรรมสัตว์ทะเลไทยในวังวนของขยะพลาสติก
สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยปีละ 400 ตัว เหตุจากขยะพลาสติกและติดเครื่องมือประมงสูงเป็นอันดับ 1

 

6. “ชะตากรรมนกชนหิน” โซเชี่ยลหนุนให้นกชนหิน เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย

นกชนหิน ถือเป็นสัตว์โบราณและเชื่อกันว่ามีความเก่าแก่ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของนกเงือกแห่งเอเชีย ที่ยังคงมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่จากความเชื่อผิด ๆ ทำให้หัวนกชนหินมีค่าหัวที่สูงเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันการล่านกชนหินพบมากที่สุดบนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุกชุมที่พบนกชนหิน แต่ก็ถูกไล่ล่าจนแทบหมดไปจากเกาะบอร์เนียว ความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับประชากรนกเงือกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทำให้ขบวนการล่านกชนหิน จึงพุ่งเป้ามาที่ประเทศไทย

หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวล เพราะกลัวว่านกชนหินจะสูญพันธ์ุ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะองค์กรด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงจัดแคมเปญร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนให้นกชนหิน เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย โดยมีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 26,000 รายชื่อ และได้ยื่นต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.62 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
มูลนิธิสืบฯ ปลุกร่วมลงชื่อ นกชนหิน สัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20
“สัตว์ป่าไม่ใช่เครื่องประดับบารมีของใคร” เมื่อออร์เดอร์นกเงือกชนหิน กำลังคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย

 

7. โศกนาฏกรรมช้างป่าตกเหว “น้ำตกเหวนรก” ตาย 11 ตัว

จากการรวบรวมข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในช่วง 33 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีช้างตกเหวน้ำตกเหวนรก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมทั้งหมด 26 ตัว และเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีช้างตกเหวเพิ่มอีก 11 ตัว 

มีการสันนิษฐานสาเหตุการตายของช้างป่าครั้งนี้ คาดว่าเกิดจากเพนียดชำรุด 40 ต้น จาก 250 ต้น โดยเฉพาะจุดท่าข้ามที่ช้างใช้จึงเสี่ยงต่อการพลัดตกเหว ประกอบกับปริมาณน้ำที่ค่อนข้างแรงมาก โดยคาดว่ามีลูกช้างพลัดตกก่อน ไม่ใช่การตายจากการล่า หรือการรบกวนของคน เพราะในบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ช้างใช้เป็นประจำอยู่แล้ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กรมอุทยานฯ ต้องหารือกับหลายองค์กรเพื่อไม่ให้โศกนาฎกรรมในครั้งนี้กลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง

 

8. รื้อโครงการเก่ากระทบสิ่งแวดล้อม ท่าเรือปากบารา ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ผ่านน้ำเขื่อนศรีนครินทร์

แม้จะมีกระแสคัดค้านทำให้โครงการสะดุด แต่ด้านศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม ก็เตรียมฟื้นโครงท่าเรือนำลึกปากบารา จ.สตูล อีกครั้ง หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น นอกจากต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และทำให้เกิดเส้นทางเดินเรือสินค้าผ่านอุทยานแห่งชาติทางทะเลตะรุเตา  ซึ่งเป็นบริเวณที่มีทรัพยากรทางทะเลที่ดีที่สุดอาจจะถูกทำลายลง

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาแนวทางการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะตัดผ่านใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นการรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง

และโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการที่ภาครัฐต้องการจัดระเบียบแม่น้ำเจ้าพระยา และพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของประเทศ การทำสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลงไปในแม่น้ำ จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ นอกจากนี้ยังอ่อนไหวต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง และการตกตะกอนในลำน้ำ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
มูลนิธิสืบฯ ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี กรณีเสิร์ฟซุปหูฉลามในงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล และขอให้ทบทวน 4 โครงการที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

9. ฟาร์มไก่ปารีณา รุกพื้นที่ป่า 1,700 ไร่

“ดิฉันทำ MOU กับนักข่าวแล้วค่ะ” 

วลีคุ้นหูที่ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ใช้ตอบคำถามนักข่าวเมื่อถูกถามถึงฟาร์มไก่ “เขาสนฟาร์ม” ที่อาจบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน หลังจากที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ยื่นต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา ให้ตรวจสอบที่ดินของปารีณา 1,700 ไร่ ด้วยการครอบครองพื้นที่โดยใช้หลักฐานเป็น ภ.บ.ท.5 ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ว่าถูกต้องหรือไม่

ปารีณาอ้างว่าได้เข้าไปครอบครองที่ดินผืนดังกล่าวนานนับสิบปีแล้ว โดยอ้างว่าเป็นที่ดินที่รัฐบาล โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าไปทำกินได้ และได้เสียภาษีดอกหญ้ามามากกว่า 10 ปี แต่ภายหลังก็ออกมาบอกอีกอย่างว่าการเข้าครอบครองที่ดินของเธอนั้นไม่ได้รับอนุญาตจากใคร เพียงแต่เป็นการเข้าไปครอบครองทำกินเฉย ๆ

2 ธ.ค.2562 กรมป่าไม้ แถลงสรุปคดีการตรวจสอบ พร้อมแจ้งความดำเนินคดี น.ส.ปารีณา ที่ บก.ปทส. ตามความผิด พ.ร.บ. 4 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 นั่นแปลว่าปารีณาเข้าข่ายการกระทำความผิดจริง แล้วอย่างนี้ปารีณาจะรอดหรือไม่รอด ?

คำตอบก็คือ “รอด” หลังจากที่ข่าวเริ่มแดง ปารีณาได้ยื่นหนังสือถึงส.ป.ก. เพื่อจะขอส่งคืนพื้นที่ทั้งหมดกว่า 600 ไร่ ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2562  ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็ออกมาย้ำอีกครั้งว่าคดีของปารีณาจบลงแล้ว หลังจากที่ปารีณายื่นหนังสือเพราะได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และกระบวนการกรมป่าไม้ ส่วนอีก 600 ไร่ ยังต้องรอตีความต่อไป 

 

10. ฉลองไม่ฉลาม รัฐบาลจัดโต๊ะจีนเสิร์ฟซุปหูฉลาม

งานเลี้ยงอาหารค่ำสุดหรูระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีการเสิร์ฟเมนูซุปหูฉลามหม้อดิน เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 62 ที่ผ่านมา ช่างสวนกระแสนักอนุรักษ์และสังคมโลกอย่างแท้จริง นี่อาจเป็นเสียงสะท้อนได้ดีว่าการพยายามรณรงค์เลิกบริโภคหูฉลามอาจยังไม่ไปถึงบรรดาผู้นำรัฐบาลของไทย

รัฐบาลจีนประกาศแบนการเสิร์ฟเมนูหูฉลาม เมื่อปี 2555 เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการปกป้องสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ เมื่อกลางปีที่ผ่านมาประเทศแคนาดาได้ผ่านกฎหมายจำกัดการค้าหูฉลามด้วยการแบนการส่งออกและนำเข้าในประเทศ สะท้อนให้เห็นวาระเร่งด่วนเพื่อปกป้องประชากรฉลาม

งานนี้องค์กรอนุรักษ์ และดารานักแสดงก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการจัดงานของรัฐบาล โดยเฉพาะป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างบรรทัดฐานใหม่ ในการปกป้องฉลามในฐานะตัวแทนฑูตด้านฉลาม องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
ป้อง ณวัตน์ ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายก “ฉลองไม่ฉลาม” ย้ำ ไม่เอี่ยวเรื่องการเมือง ใครเป็นรัฐบาลต้องออกมาท้วงอยู่แล้ว
ชะตากรรม ‘ฉลามวาฬ’ อนาคตสัตว์สงวนประเทศไทย
‘เมนูหูฉลาม’ แลกชีวิตนับล้าน

 


ที่มา
เหวนรก : โศกนาฏกรรมช้างป่าเขาใหญ่ จะป้องกันได้อย่างไร
ฟาร์มไก่เธอนี้ ที่ดินของใคร ? สรุปเหตุการณ์ตรวจสอบที่ดินของ ‘ปารีณา’ ทำฟาร์มรุกล้ำป่าสงวน
หายนะแม่น้ำโขงเปลี่ยนสี จากสายน้ำที่สมบูรณ์สู่สายน้ำที่หิวโหย
เกิดอะไรขึ้นกับไทย เมื่อจีนและลาวไม่ระบายน้ำจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง
เรียบเรียง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ กชกร พันธุ์แสงอร่าม เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร