หลักฐานชัด “สวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม จ.มุกดาหาร” มีการสวมเสือ อาจเข้าข่ายลักลอบค้าเสือโคร่ง

หลักฐานชัด “สวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม จ.มุกดาหาร”  มีการสวมเสือ อาจเข้าข่ายลักลอบค้าเสือโคร่ง

วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2563) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า แถลงข่าวการตรวจสอบกิจการสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม พบหลักฐานชัดเจนว่ามีการสวมเสือ ผลการพิสูจน์รหัสพันธุกรรมจาก 2 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 คณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เก็บตัวอย่างเลือดของเสือโคร่ง จำนวน 5 ตัว เนื่องจากมีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าสวนสัตว์แห่งนี้อาจมีการลักลอบการค้าเสือโคร่ง จึงดำเนินการเพื่อตรวจสอบพันธุกรรม (DNA) โดยสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และได้รับความยินยอมจากนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการสวนสัตว์ดังกล่าว พร้อมเก็บภาพถ่ายลายเสือโคร่ง และให้ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เพื่อนำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ภาพวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์จากสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม จ.มุกดาหาร

จากผลการตรวจสอบปรากฏว่า ลูกเสือโคร่งชื่อ ข้าวยำ ข้าวกล่ำ และข้าวจ้าว ไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่งที่ชื่อ ให้ลาภและให้ทอง ตามที่เจ้าของสวนสัตว์ได้เคยแจ้งต่อกรมอุทยานฯ ไว้ว่าเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว เป็นลูกที่เกิดจากเสือโคร่งที่ชื่อให้ลาภและให้ทอง นอกจากนี้ยังได้ทำข้อมูลรหัสพันธุกรรมของลูกเสือโคร่ง จำนวน 3 ตัว ไปเปรียบเทียบข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเสือโคร่งอื่น จำนวน 20 ตัว ภายในสวนสัตว์ ซึ่งพบว่าไม่มีความสัมพันธ์เป็นพ่อ-แม่-ลูก เช่นกัน ดังนั้นเมื่อผลตรวจรหัสพันธุกรรมของลูกเสือโคร่งชื่อ ข้าวยำ ข้าวกล่ำ และข้าวจ้าว ไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่ง ชื่อให้ลาภและให้ทอง หรือเสือโคร่งตัวอื่น ๆ ภายในสวนสัตว์ จึงถือได้ว่าลูกเสือโคร่ง จำนวน 3 ตัว ข้างต้นไม่มีหลักฐานการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดดังนี้ 

1. ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000  บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

2. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 เนื่องจากนายสมดิษฐ์ธรรมเวชได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กันยายน 2558 แจ้งเกิดลูกเสือโคร่ง 4 ตัว (จากข้อเท็จจริงพบว่าตายไปแล้ว 1 ตัว) (เกิดวันที่ 11 สิงหาคม 2558) และระบุตัวพ่อ – แม่ของเสือโคร่งดังกล่าวอย่างชัดเจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่จดและบันทึกข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นหลักฐานอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

3. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 267 

จึงเป็นเหตุให้ในวันนี้ (30 พฤศจิกายน 2563) คณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ประกอบด้วยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย (GEF – 6) ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยพญาเสือ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าตรวจยึดสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเสือโคร่งจำนวน 3 ตัว (เพศผู้ 1 ตัวเพศเมีย 2 ตัว) ของนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ณ สวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม จ.มุกดาหาร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปและภายหลังการตรวจยึดกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแนวทางการดำเนินการดังนี้

1. ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน
2. นำเสือโคร่งของกลางไปดูแลรักษาที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ จังหวัดศรีสะเกษ
3. พักหรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการสวนสัตว์ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

 

 


บทความและภาพ อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร