ภัยคุกคามนกน้ำริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี

ภัยคุกคามนกน้ำริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี

ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา นกน้ำที่พบได้บริเวณแม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า มีจำนวนลดลงราว 60 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ของนก

นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานภายใต้การสนับสนุนของ Fauna & Flora International (FFI) และมูลนิธิ Manfred Hermsenได้ทำการสำรวจนกริมฝั่งแม่น้ำอิรวดีในช่วงระหว่างเมืองมิตจีนา (Myitkyina) จนถึงเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน และพบว่าปริมาณนกน้ำที่พบลดลงอย่างมากเนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การร่อนทอง และการล่า

บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยูอาศัยของนกน้ำกว่า 20,000 ชีวิต 61 สายพันธุ์ โดยมีนกแอ่นทุ่งเล็ก (Small Praticole) ไปจนถึงเป็ดพม่า (Ruddy shelduck) เป็นสองชนิดที่มีจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งทั้งสองชนิดพันธุ์ต่างต้องเผชิญกับภาวะปริมาณประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ซ้าย เป็ดพม่าตัวผู้และตัวเมีย ขวา นกแอ่นทุ่งเล็กแห่งแม่น้ำอิรวดี / PHOTO FFI

ChristophZoeckler ผู้นำการศึกษากล่าวว่า “แม่น้ำอิรวดี นับว่าเป็นหนึ่งในแม่น้ำไม่กี่สายในทวีปเอเชียที่ยังคงไหลตามธรรมชาติโดยไม่มีเขื่อนใหญ่มาสร้างกั้นโดยเฉพาะพื้นที่ระหว่างเมืองมิตจีนา และซินโบ (Sinbo) ที่ถือว่าเป็นหัวใจในการอนุรักษ์

“แม้ว่าปริมาณของน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ดังกล่าวก็ยังมีความสำคัญในระดับโลก และเพื่อปกป้องพื้นที่แห่งนี้ การประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำภายใต้การคุ้มครองของสนธิสัญญาระหว่างประเทศแรมซ่าจึงเป็นโอกาสที่จะปกป้องพื้นที่แห่งนี้จากวิกฤติ”

สิ่งที่ต้องดำเนินการทันทีคือการหยุดกิจกรรมร่อนหาทองหรือเหมืองทองขนาดเล็กซึ่งผิดกฎหมาย เพื่อคืนที่อยู่อาศัยให้กับนกน้ำ ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ริเริ่มการนำระบบการจัดการขยะในระดับชุมชน รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการขยายพื้นที่เกษตรเข้ามาใกล้ริ่มฝั่งแม่น้ำ

“ปัจจุบัน ริมสองฝั่งแม่น้ำเต็มไปด้วยขยะจากครัวเรือน ชายฝั่งที่เป็นทรายก็ถูกขุดเพื่อหาทาง หากยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใดๆ เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว ที่อยู่อาศัยของนกน้ำก็จะสูญหายไป และแม่น้ำแห่งนี้ก็จะกลายเป็นดินแดนรกร้าง” Frank Momberg ผู้จัดการ FFI ประเทศพม่ากล่าวเสริม

แม่น้ำอิรวดี เป็นแม่น้ำที่ยังคงไหลตามธรรมชาติโดยไม่มีการก่อสร้างเขื่อน หรือได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ แม่น้ำสายนี้จึงสามารถพัดพาตะกอนและสารอาหารได้โดยไม่มีอุปสรรค และยังเป็นบ้านที่ยากจะทดแทนของสรรพชีวิต

ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อแม่น้ำสายนี้นั้นเพิ่มขึ้นและมองเห็นได้ไม่ยาก ส่งผลต่อธรรมชาติ เช่น การลดลงของปริมาณนกน้ำอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงนกชนิดอื่นๆ เนื่องจากสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย เพราะการขยายพื้นที่การเกษตรทับลงไปยังพื้นที่หาดทราย หนองบึง และพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ รวมถึงการร่อนทองที่พบเห็นได้มากมายตลอดฝั่งน้ำ และการวางกับดักนกก็พบเห็นได้อย่างทั่วไป และดำเนินการอย่างเป็นระบบ

แม้ว่าสถิติจะค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่พื้นที่ดังกล่าวก็ยังเป็นบ้านของนกน้ำอีกจำนวนมาก นักอนุรักษ์ต่างยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถฟื้นฟูได้หากมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเช่นที่กล่าวมา พื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งยังมีความสำคัญในระดับแรมซ่า แต่แนวคิดการอยู่ร่วมกับระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมก็ยังละเลยไม่ได้ เพื่อให้วิถีชีวิตริ่มฝั่งน้ำของชุมชนยังสามารถคงอยู่ได้

ผลการสำรวจนกน้ำเปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ.2547 และ 2560

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก Survey reveals drastic decline of waterbirds in Irrawaddy Riverโดย Frank Momberg เข้าถึงได้ที่ https://phys.org/news/2017-02-survey-reveals-drastic-decline-waterbirds.html
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์