ปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องที่คนเมืองควรคำนึง เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องที่คนเมืองควรคำนึง เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจและจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ รวมถึงเป็นศูนย์รวมของประชากรที่มาจากภูมิลำเนาต่าง ๆ ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่

ต่อมา พ.ร.ก ฉุกเฉิน ถูกประกาศขึ้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม เพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยมีมาตรการสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ คัดกรองการเดินทางข้ามเขตจังหวัด รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนให้หยุดอยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาด 

หลายหน่วยงานโดยเฉพาะภาคเอกชน มีนโยบาย ‘work from home’ หรือการให้พนักงานทำงานที่บ้าน ต่อมาได้สร้างปรากฎการณ์ให้เรื่องสิ่งแวดล้อมของ ‘มหานครแห่งรอยยิ้ม’ มีความเปลี่ยนแปลงไป ทั้งดีขึ้นและแย่ลง

นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่า แม้ภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัว แต่สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ก็มีผลกระทบทั้งด้านดีและด้านเสีย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่

 สำหรับด้านดีคงหนีไม่พ้นเรื่องค่ามลพิษที่มีแนวโน้มต่ำลงตามลำดับ เนื่องจากฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ของยานพาหนะและขนส่งชนิดต่าง ๆ มีน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่หลายองค์กรได้มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน

เมื่อการสัญจรลดลง ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเศษธุลีจากการขนส่งวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งมักจะร่วงหล่นตามท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นหิน กรวด ทราย หรือปูน ก็ลดลงตามด้วย เนื่องจากถูกชะล้างโดยการทำความสะอาดของเจ้าหน้าเพื่อฆ่าเชื้อโรค ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการป้องกันโรคร้าย

“การทำงานอยู่บ้านย่อมส่งผลให้ มลภาวะที่เกิดจากการใช้พาหนะน้อยลง ซึ่งการที่ค่ามลพิษและค่าฝุ่นละอองเบาบางลง มันก็ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ รวมถึงเรื่อง PM 2.5 ด้วย อีกทั้งปัจจัยการเกิดฝุ่นละอองที่มีผลจากการขนย้ายวัสดุก่อสร้างหรือสิ่งที่เกิดจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง อันทำให้หิน ทราย หรือปูน ร่วงหล่นบนท้องถนนถูกชะล้างโดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้มีการล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อโควิดบนถนนและฟุตปาธ ทำให้ฝุ่นละอองพวกนี้หายไปด้วย” นายชาตรี วัฒนเขจร กล่าว

แม้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานครจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน ข้อเสียที่พ่วงมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 คือ การส่งผลให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเนื่องจากสามารถทำงานที่บ้านได้ ดังนั้นปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศอาจเกิดขึ้นตามเส้นทางต่าง ๆ ที่มุ่งสู่จังหวัดอื่น ๆ หรือตามพื้นที่รอบนอก

นอกจากเรื่องสภาพอากาศแล้ว ปัญหาขยะถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่กรุงเทพมหานครต้องเตรียมรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ขยะติดเชื้อ’ ที่เกิดจากการใช้หน้ากากอนามัยของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 

โดยกรุงเทพมหานครได้มีแผนการรองรับหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ด้วยการสั่งการไปยังสำนักงานเขตต่าง ๆ ทั้ง 50 เขต ให้ประชาสัมพันธ์กับประชาชนช่วยกัน ‘แยกขยะ’ รวมถึงได้มีการนำถังขยะที่มีไว้สำหรับใส่หน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียว ไปวางไว้ยังสำนักงานเขตและหน่วยงานสาธารณสุขทั่วกรุงเทพฯ 

ทั้งนี้ ชุมชมหรือสำนักงานเขตไหนไม่มีถังขยะในรูปแบบดังกล่าว ให้เขียนหรือทำสัญลักษณ์ให้ผู้คนได้ทราบว่า ถังใบดังกล่าวทิ้งได้แต่เฉพาะหน้ากากอนามัย ซึ่งทุกถังต้องมีถุงไว้คอยรองรับไม่ให้ขยะติดเชื้อสัมผัสกับตัวถังโดยตรง (และต้องหมั่นทำความสะอาดถังทุกครั้งหลังมีการจัดเก็บ) 

หากปริมาณขยะเต็มถังหรือถึงเวลาเก็บ จะมีเจ้าหน้าที่มานำขยะเหล่านี้ไปทำลาย ณ เตาเผาขยะติดเชื้อ ซึ่งตั้งอยู่ที่อ่อนนุชและหนองแขม เป็นเตาเผาขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ โดยทุกขั้นตอนล้วนเป็นไปตามหลักสุขาภิบาลไม่ได้กำจัดปะปนกับขยะอื่นทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม ในระดับครัวเรือนหากประชาชนไม่ใส่ใจถึงการแยกขยะ ใส่หน้ากากอนามัยรวมกับขยะอื่น ๆ ก็อาจจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่และพนักงานต้องมาคัดแยก ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้บุคคลอื่น ดังนั้นทุกคนควรมีสามัญสำนึกในการช่วยกันลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยการ ‘แยกหน้ากากอนามัยใช้แล้ว’ ใส่ถุงแยกออกต่างหากให้ชัดเจน 

“ในยามนี้หากชาวกรุงเทพฯ ไม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะส่งผลกระทบให้ สภาพแวดล้อมภายนอกไม่น่าดูทำให้บ้านเมืองสกปรก แน่นอนว่ามันต้องเป็นการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็น ซึ่งสุดท้ายเราเองเนี่ยแหล่ะที่จะต้องรับผลกระทบจากสิ่งที่เราทำ” ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวทิ้งท้าย

 

 


บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร