ทำไมพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามัน จึงเหมาะกับการเป็น “มรดกโลก”

ทำไมพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามัน จึงเหมาะกับการเป็น “มรดกโลก”

รัฐบาลผลักดันแหล่งอนุรักษ์ “ทะเลอันดามัน” เป็นมรดกโลก พาดหัวข่าวสำนักข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา หลังมีมติเห็นชอบให้อันดามันเป็นมรดกโลก

ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เห็นชอบการนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก โดยการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.2564 ผ่านการประชุมวีดิทัศน์ทางไกล

การนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามันได้รวม 6 อุทยานแห่งชาติ และ 1 ป่าชายเลน ใน 3 จังหวัดได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน พื้นที่ป่าชายเลนไบโอสเฟียร์ จ.ระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต รวมพื้นที่เกือบ 2,900 ตร.กม. แบ่งเป็นพื้นที่อุทยาน 1,150 ตร.กม. และพื้นที่กันชน 1,750 ตร.กม. ซึ่งพื้นที่กันชนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางทะเล

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับมูลนิธิสืบฯ ว่า พื้นที่ทั้ง 6 อุทยานที่ถูกนำเสนอเป็นมรดกโลกนั้นมีความสำคัญตามเกณฑ์การพิจารณาของมรดกโลก โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรกเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ประกอบไปด้วย 3 พื้นที่ได้แก่ อช.หมู่เกาะระนอง และ อช.แหลมสน และพื้นที่ป่าชายเลนไบโอสเฟียร์ จ.ระนอง พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย และถือเป็นป่าชายเลนสำคัญของเอเชีย ป่าชายเลนมีส่วนช่วยในการเก็บกักคาร์บอนและมีหญ้าทะเลปะปนอยู่ในนั้นด้วย

ส่วนที่ 2 ได้แก่ อช.หมู่เกาะสุรินทร์ และ อช.หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา พื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญในแง่ของพื้นที่หมู่เกาะทะเลลึกที่มีแนวปะกะรังที่ดีที่สุดของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตื้นหรือน้ำลึก

หมู่เกาะสุรินทร์ถือได้ว่าเป็นหมู่เกาะที่มีแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดของอันดามัน ซึ่งหากพูดถึงหลักเกณฑ์ของมรดกโลกก็ถือได้ว่าแนวปะกะรังบริเวณนี้เป็นแนวปะกะรังเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมาประมาณ 7-8 พันปี และถือเป็นจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้

ด้านสิมิลันมีความโดดเด่นในเรื่องของแนวปะกะรังที่อยู่ริมขอบทวีป หรือเรียกว่าไหล่ทวีป ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำตื้นและจะหักลงสู่มหาสมุทรซึ่งมีน้ำลึกเป็นพัน ๆ เมตร ในประเทศไทยมีเพียงหมู่เกะสิมิลันเท่านั้นที่อยู่ติดขอบทวีป ฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้จะมีสัตว์แปลก ๆ จากมหาสมุทรอินเดียเข้ามาที่สิมิลันเป็นระยะ ๆ

ส่วนสุดท้ายเป็นชายหาด ได้แก่ อช.เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง และ อช.สิรินาถ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะเต่ามะเฟืองที่ขึ้นมาวางไข่บริเวณอุทยานเป็นประจำทุกปี

“ฝั่งอันดามันยังไม่มีมรดกโลก ซึ่งทางพม่าพยายามจะผลักดันอยู่แต่เรื่องก็เงียบไป ฝั่งมหาสมุทรอินเดียมีมรดกโลกทางทะเลหลายที่ แต่ทางฝั่งบ้านเรายังไม่มี พื้นที่ตรงนั้นจึงกลายเป็นช่องว่างของทั้งโลก อย่างสุรินทร์-สิมิลัน ก็อยู่ติดขอบไหล่ทวีป ถ้าทำได้ก็จะเป็นมรดกโลกของมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออกที่ชัดเจน เพราะมรดกโลกจะดูภาพรวมทั้งโลกด้วย” ดร.ธรณ์กล่าว

เมื่อเป็นมรดกโลกแล้วการดูแลพื้นที่ก็จะถูกยกระดับขึ้นมาตามมาตรฐานสากล อาจมี SMART Patrol ทางทะเลหรือการตรวจสอบและการจัดการที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่อื่น และแน่นอนว่าพื้นที่ตรงนี้ก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ดีที่สุดของโลกอีกแห่งหนึ่ง

หลังจากนี้จะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อที่ประชุมเห็นชอบก็จะเข้าประชุมคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป ซึ่งข้อมูลการศึกษาพื้นที่ทาง ดร.ธรณ์ระบุว่ามีการเตรียมพร้อมหมดแล้ว

 


ภาพเปิดเรื่อง: Michelle Raponi จาก Pixabay
อ้างอิงข้อมูล: ThaiPBS, รัฐบาลผลักดันแหล่งอนุรักษ์ “ทะเลอันดามัน” เป็นมรดกโลก
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร