ปะการังฟอกขาว ใกล้ตัวกว่าที่คิด เมื่อทะเลเสียสมดุล แหล่งอาหารหลายร้อยล้านชีวิตจะหายไปด้วย

ปะการังฟอกขาว ใกล้ตัวกว่าที่คิด เมื่อทะเลเสียสมดุล แหล่งอาหารหลายร้อยล้านชีวิตจะหายไปด้วย

หากป่าไม้เป็นแหล่งน้ำสำคัญให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลก มหาสมุทรก็เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ทำให้เรารอดพ้นจากความหิวโหย

เราอาจจะเคยได้ยินคำว่าประเทศไทยเป็นแหล่งครัวโลก นั่นอาจไม่เกินจริงมากนัก เพราะไทยติดอันดับ 5 ของโลกในการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป

ในปี 2018 ไทยมีการส่งออกมากถึง 89% โดยมีมูลค่าสูงถึง 60.47 พันล้านดอลลาร์ สินค้าหลักที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ทูน่ากระป๋องและกุ้ง รองลงมาเป็นหมึกและปลา ในขณะที่ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศมีเพียง 11% เท่านั้น เนื่องจากคนไทยนิยมบริโภคอาหารทะเลสด

ในขณะที่ภาพรวมระดับโลกเอเชียแปซิฟิคเป็นตลาดใหญ่สุดของอาหารทะเลโดยสัตว์น้ำที่จับได้จากธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงในเอเชียมีสัดส่วนสูงถึง 78% ของปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงทั่วโลกเริ่มมีปริมาณสูงกว่าการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติ เนื่องจากมีการลงทุนเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณสัตว์น้ำในธรรมชาติที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากการจับปลาเกินจำนวน (Overfishing) และวิกฤตโลกร้อนที่กระทบห่วงโซ่อาหารในทะเล

วิกฤติโลกร้อน ปะการังฟอกขาว เกี่ยวข้องอย่างไรกับความมั่นคงทางอาหาร?

ปะการังฟอกขาวคือสัญญาณเตือนหนึ่งของวิกฤติโลกร้อน เนื่องจากปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในมหาสมุทร การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียง 1–2 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้นได้

อธิบายง่าย ๆ ก็คือ อุณภูมิของน้ำทะเลเป็นตัวชี้วัดระดับความรุนแรงของภาวะโลกร้อน โดยปกติแล้วน้ำทะเลในมหาสมุทรจะดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์และสะท้อนออกไป เมื่อไหร่ที่โลกร้อนขึ้น น้ำในทะเลก็จะร้อนขึ้นตาม

เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้นปะการังที่มีความอ่อนไหวมาก ๆ ก็จะเกิดการฟอกขาว เพราะสาหร่ายซูแซนเทลลีจะอพยพออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง เพื่อแสวงหาสภาพแวดล้อมใหม่ให้มีชีวิตรอด ทำให้ปะการังสูญเสียแหล่งอาหารสำคัญ และเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ปะการังฟอกขาว เช่น การปล่อยน้ำบำบัดหรือสารเคมีต่าง ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่ทะเล น้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมากส่งผลต่อสภาพความเค็มของน้ำทะเล

ปะการังที่ตายไปแล้วอาจใช้เวลาราว 25 – 30 ปี ในการฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติและกลับมามีชีวิตที่แข็งแรงสมบูรณ์อีกครั้ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ภาวะโลกร้อน และปัญหามลพิษต่าง ๆ อาจทำให้ปะการังไม่มีเวลาเพียงพอในการฟื้นฟูตัวเอง แม้กระทั่งปะการังชนิดพันธุ์ที่เติบโตได้รวดเร็วที่สุด ยังต้องการเวลาราว 10 – 15 ปีในการฟื้นฟูจากภาวะการฟอกขาวที่เกิดขึ้น

ทุกอย่างล้วนเกี่ยวโยงกันเหมือนห่วงโซ่อาหาร การหายไปของปะการังจะทำให้ทะเลเสียสมดุล ความหลากหลายในระบบนิเวศจะลดลงเรื่อย ๆ สัตว์ทะเลหลายชนิด กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากปะการังถือเป็นแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล หากปะการังฟอกขาวเหลือเพียงหินปูน สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็จะหายไปด้วย

ประชากรมากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกที่พึ่งพาอาศัยแนวปะการังธรรมชาติเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งรายได้จากการทำประมงและการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบทันที

ปลาที่เคยจับได้ตามธรรมชาติจะลดจำนวนลง ในขณะที่ความต้องการในการบริโภคอาหารของมนุษย์กลับสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถึงวันนั้นความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์โลกจะเริ่มสั่นคลอนรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้

 


ภาพเปิดเรื่อง: Francesco Ungaro from Pexels
อ้างอิงข้อมูล: คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ, National Geographic Thai, ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching)
foodbizs, ไทยยังคงเป็นรายใหญ่สำหรับตลาดอาหารทะเลแปรรูป
วิจัยกรุงศรี, แนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรม ปี 2562-2564: อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร