แยกขยะก่อนทิ้ง ดีต่อใจ ดีต่อโลก 

แยกขยะก่อนทิ้ง ดีต่อใจ ดีต่อโลก 

เมื่อเราต้องทิ้งขยะ แต่ไม่รู้ว่าขยะที่จะทิ้งเป็นขยะอะไร แล้วต้องทิ้งลงถังไหน 

Me : เราต้องไปไหนอะ สุดยอดจริง ใครก็ได้ช่วยเราด้วย HELP!!!

หมดยุคของการทิ้งขยะรวมกันในถังเดียวแล้ว! การแยกขยะดีต่อโลกมากกว่าที่คิด ดีต่อใจกับตัวเราและกับเจ้าหน้าที่กำจัดขยะด้วยนะ วันนี้แอดมินจะพาทุกท่านมารู้จักขยะแต่ละประเภทและวิธีการ ‘แยกขยะ’ ที่ถูกต้อง ให้สามารถนำกลับมารียูสหรือรีไซเคิลได้ อีกทั้งขยะเหล่านี้ยังสร้างมูลค่าได้อีกด้วย! 

โดยทั่วไปแล้วขยะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท 

ขยะอินทรีย์ หรือ มูลฝอยย่อยสลาย คือ ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น เศษอาหาร เศษผัก เศษเนื้อสัตว์ เปลือกผลไม้ ใบไม้  

ขยะรีไซเคิล หรือ มูลฝอยที่ยังใช้ได้ คือ วัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำกลับมารียูสหรือรีไซเคิลได้ เช่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กล่องกระดาษ กระดาษ นอกจากนี้ เรายังสามารถแยกขยะแต่ละชนิดไว้ด้วยกัน เช่น ขวดพลาสติกใสรวมกับขวดพลาสติกใส ขวดพลาสติกขุ่นรวมกับขวดพลาสติกขุ่น หรือกระดาษก็รวมไว้กับกระดาษ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการมากยิ่งขึ้น และสามารถนำขยะแต่ละชนิดล้างและแยกเก็บไว้เพื่อรียูสหรือรีไซเคิล หรือนำไปขายตามจุดรับซื้อต่าง ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าและเป็นการจัดการขยะได้อย่างเหมาะสม 

ขยะทั่วไป หรือ มูลฝอยทั่วไป คือ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้หรือย่อยสลายยาก ไม่อันตราย และไม่คุ้มสำหรับการรีไซเคิล เช่น ซองขนม กล่องโฟม ถุงพลาสติก ภาชนะปนเปื้อนอาหาร พลาสติกห่อลูกอม เนื่องจากเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก เราจึงต้องมีวิธีการจัดการอย่างถูกวิธี สามารถทำวิธีการเดียวกันกับขยะรีไซเคิลได้ คือ ล้างและแยกเก็บไว้ในแต่ละชนิด เพื่อนำไปขายตามจุดรับซื้อต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถจัดการขยะได้เหมาะสมอีกด้วย 

ขยะอันตราย หรือมูลฝอยอันตราย คือ ขยะที่มีองค์ประกอบ หรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่าง ๆ ได้แก่ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง วัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นที่อาจทำให้เกิดอันตราย แก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดฟูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่ วิธีการจัดการที่ง่ายที่สุดของขยะอันตราย คือทิ้งขยะให้ถูกที่เพื่อไม่ให้สารพิษออกมาปนเปื้อนกับดินและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ 

แล้วขยะเหล่านี้ต้องทิ้งลงถังสีอะไร 

  • ขยะอินทรีย์ หรือ มูลฝอยย่อยสลาย ทิ้งลง ‘ถังขยะสีเขียว’ 
  • ขยะรีไซเคิล หรือ มูลฝอยที่ยังใช้ได้ ทิ้งลง ‘ถังสีเหลือง’
  • ขยะทั่วไป หรือ มูลฝอยทั่วไป ทิ้งลง ‘ถังขยะสีน้ำเงิน’ 
  • ขยะอันตราย หรือมูลฝอยอันตราย ทิ้งลง ‘ถังขยะสีแดง’ 
แยกขยะ

ขยะมีค่ามากกว่าที่คิดนะ 

ขยะของเราทุกชิ้นล้วนมีมูลค่ามากกว่าที่เราคิดนะ เช่น ขยะกระดาษ ทั้งกระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษขาว หรือเศษกระดาษ มีราคาต่อกิโลกรัมตั้งแต่ 2.3-6.5 บาท ขยะพลาสติก พลาสติกขวดน้ำใสและขวดน้ำขุ่น ราคาประมาณ 13-20 บาท ส่วนขยะแก้วอยู่ที่ 1 บาท แต่ถ้าเป็นขวดแก้วแอลกอฮอร์พร้อมกล่อง ราคาเริ่มต้น 7-13 บาทเลย และขยะโลหะหรืออโลหะ จำพวกอลูมิเนียม กระป๋องอลูมิเนียม ราคาตั้งแต่ 50-55 บาท ถือว่าสูงมาก ถ้าเราอยากหารายได้เสริม การแยกขยะถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีเลย ทั้งเป็นการลดปริมาณขยะและเพิ่มรายได้ได้อีกด้วย 

การแยกขยะดีต่อใจดีต่อโลกอย่างไร 

  • ช่วยลดปริมาณขยะ การแยกขยะช่วยเพิ่มการรียูสและรีไซเคิล เหลือขยะที่ต้องกำจัดน้อยลง ขยะบนโลกก็จะลดลงตามไปด้วย 
  • ประหยัดงบในการกำจัดขยะ เนื่องจากขยะน้อยลง งบที่ใช้ในการกำจัดขยะแต่ละประเภทก็น้อยลง และยังเป็นวิธีการกำจัดขยะที่เหมาะสม แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 
  • สร้างคุณค่าและมูลค่าให้ขยะ เมื่อเราแยกขยะและนำขยะไปขายตามจุดรับซื้อต่าง ๆ เราจะได้ความภาคภูมิใจที่มีตัวชี้วัดเป็นเม็ดเงินนั่นเอง 
  • ลดการสิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากร ของที่สามารถนำกลับมารียูสและรีไซเคิลได้จะช่วยเพิ่มรายได้และลดทรัพยากรโลกในการผลิตใหม่อีกครั้งด้วย 
  • รักษาสิ่งแวดล้อมลดมลพิษในโลก การแยกขยะ ทำให้เรากำจัดขยะได้ถูกวิธีและเหมาะสมในแต่ละประเภทมากขึ้น ลดการปนเปื้อนกับดินที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ 

การ ‘แยกขยะ’ เริ่มต้นได้ตั้งแต่ตัวเราเอง จนไปถึงนโยบายของภาครัฐ หากเราช่วยลดปริมาณขยะบนโลกลงได้ ก็ถือเป็นการช่วยรัฐบาลประหยัดงบการจัดการขยะลงได้ สามารถนำงบส่วนนี้ไปพัฒนาด้านอื่น ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดีต่อใจและดีต่อโลกขนาดนี้ เรามาแยกขยะให้ถูกวิธีและเหมาะสมกันนะคะ 


เรื่อง/ภาพ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์ 

อ้างอิง