ช้างมีความสามารถในการเรียกสมาชิกในโขลงด้วยชื่อเฉพาะ

ช้างมีความสามารถในการเรียกสมาชิกในโขลงด้วยชื่อเฉพาะ

งานวิจัยใหม่พบ ช้างมีความสามารถในการเรียกสมาชิกในโขลงด้วยชื่อเฉพาะที่คิดขึ้นมาสำหรับเพื่อนสัตว์หนังหนาด้วยกัน

นั่นหมายความว่า ช้างเป็นสัตว์ชนิดแรกนอกเหนือจากมนุษย์ที่รู้จักการเรียกชื่อ ต่างจากโลมาและนกแก้วที่ส่งเสียงโดยเลียนแบบเสียงของสัตว์ตัวอื่นในชนิดเดียวกัน

สําหรับการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ทีมนักวิจัยนานาชาติใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวิเคราะห์การเรียกชื่อกันของช้างสะวันนาแอฟริกาสองฝูงในประเทศเคนยา

“ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าช้างใช้การเปล่งเสียงเฉพาะสําหรับแต่ละตัวเท่านั้น แต่พวกเขารับรู้และตอบสนองต่อเสียงเรียกที่ส่งถึงพวกมัน และเพิกเฉยต่อเสียงที่ระบุถึงตัวอื่น” Michael Pardo ผู้เขียนงานวิจัยกล่าว

“สิ่งนี้บ่งชี้ว่าช้างสามารถระบุได้ว่าเสียงเรียกนั้นมีเจตนาส่งตรงมายังพวกมันหรือไม่ เพียงแค่ได้ยินเสียง แม้ว่าจะอยู่นอกบริบทเดิมก็ตาม” นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรม (Behavioural ecologist) มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด กล่าวในแถลงการณ์

นักวิจัยได้ตรวจ “เสียงคำราม” ของช้างที่บันทึกไว้ที่เขตอนุรักษ์แห่งชาติ Samburu ของเคนยาและอุทยานแห่งชาติ Amboseli ระหว่างปี 1986 – 2022 อย่างละเอียด

หลังจากวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือ AI พวกเขาสามารถระบุการเรียกที่แตกต่างกันกว่า 469 ครั้ง ซึ่งรวมถึงช้าง 101 ตัวที่เปล่งเสียงเรียก และ 117 ตัวที่ได้รับ

ช้างสามารถสร้างเสียงได้หลากหลาย ตั้งแต่เสียงแตร (แปร้นเสียง) ไปจนถึงเสียงก้อง (Rumbles) ที่ต่ำมากจนของมนุษย์ไม่ได้ยิน

ทั้งนี้ ชื่อของช้างไม่ได้อยู่ในทุกการเปล่งเสียงเสมอไป แต่เมื่อชื่อถูกเรียกออกมานั้น มักจะเกิดจากการเรียกตัวที่ห่างออกไปเป็นระยะทางไกล และเมื่อช้างโตเต็มวัยกําลังพูดกับช้างวัยเด็ก

ช้างโตเต็มวัยมักมีแนวโน้มที่จะเรียกชื่อมากกว่าลูกช้าง ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าการเรียกชื่อต้องใช้เวลาหลายปีสำหรับเรียนรู้ทักษะนี้โดยเฉพาะ

การเรียกที่พบบ่อยที่สุดคือ “เสียงฮาร์โมนิกความถี่ต่ำ” (Harmonically rich, low-frequency sound) ตามการศึกษาในวารสาร Nature Ecology & Evolution

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าช้างและมนุษย์เป็นสัตว์เพียงสองชนิดที่รู้และมอบชื่อเฉพาะให้กันและกัน แทนที่จะเลียนแบบเสียงของผู้รับ

“หลักฐานชุดนี้บ่งชี้ว่าช้างมีความสามารถในการคิดเชิงนามธรรม ช้างใช้เสียงโดยไม่เลียนแบบเสียงตัวรับสาร” George Wittemyer นักวิจัยอาวุโสกล่าว

นักวิจัยเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นกําเนิดวิวัฒนาการของทักษะการเรียกชื่อเฉพาะนี้ เนื่องจากบรรพบุรุษของช้างแยกตัวออกจากไพรเมต (Primates) และสัตว์จําพวกวาฬ (Cetaceans) เมื่อประมาณ 90 ล้านปีก่อน

แม้มนุษย์จะมีความแตกต่างจากช้าง แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันมากมาย อาทิ “สมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้นตามสภาวะที่สมบูรณ์ของสังคม” Frank Pope ซีอีโอของ Save the Elephants กล่าว

“การที่ช้างใช้ชื่อเรียกเฉพาะซึ่งกันและกัน น่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปิดเผยอย่างอื่นที่จะมีมาอีก”

เรียบเรียงจาก Elephants call each other by name, study finds

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia