เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว ที่ใครมาก็ต้องหลงรัก 

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว ที่ใครมาก็ต้องหลงรัก 

‘ดอยหลวงเชียงดาว’ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ซึ่งเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่มีความพิเศษและเปราะบางเป็นอย่างมาก มีความสูงถึง 2,225 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถือเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดอันดับที่ 3 และเป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศไทย!

ดอยหลวงเชียงดาวจัดเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีความหลากหลายของระบบนิเวศ อาทิ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง และเป็นพื้นที่ที่มีสังคมพืชแบบกึ่งอัลไพน์ (subalpine) ซึ่งพบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทยอีกด้วย

และที่สำคัญยังเป็นแหล่งที่พบชนิดพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นของโลก (Endemic species) นับร้อยชนิดเลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ พื้นที่นี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า อาทิ เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว รวมถึงสัตว์ป่าสงวนอีก 2 ชนิด คือ เลียงผา และกวางผา ซึ่งกวางผาที่นี่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

ระยะทางกว่า 8.5 กิโลเมตร และอีก 500 เมตร เพื่อขึ้นสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว คงเป็นเส้นทางที่สำคัญ และมีความหมายมาก ๆ ต่อนักเดินป่าทั้งหลาย เพราะเราเชื่อว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการเดินป่า ไม่ใช่แค่จุดสูงสุดบนยอดดอยเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการเรียนรู้ และเห็นคุณค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติของสองข้างทางตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี่แหละ

เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อพิชิตจุดสูงสูด แต่เรามาเพื่อเป็น ‘นักศึกษาธรรมชาติ’ ต่างหาก

และเพื่อเตรียมความพร้อมของเหล่า ‘ว่าที่นักศึกษาธรรมชาติ’ วันนี้แอดมินจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับพันธุ์พืชที่พบเห็นได้ง่าย เจอได้แน่นอน และบางชนิดก็พบได้ที่นี่เพียงที่เดียวเท่านั้น ‘ที่ดอยหลวงเชียงดาว’

ชื่อภาษาไทย : ดอกบัวทอง หรือบัวคำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypericum hookerianum Wight & Arn.
ชื่อวงศ์ : Hypericaceae
ลักษณะ : เป็นไม้พุ่ม ใบเรียงตรงข้าม (opposite) กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองสด เกสรเพศผู้จำนวนมาก สีเหลือง รังไข่สีเหลืองอ่อน
เขตการกระจายพันธุ์ : ตั้งแต่อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ ถึงเมียนมา จีนตอนใต้ และตอนเหนือเวียดนาม

ชื่อภาษาไทย : เทียนนกแก้ว หรือดอกเทียนนกแก้ว (Parrot Flower)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens psittacina
ชื่อวงศ์ : Balsaminaceae
ลักษณะ : เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสูงเพียง 30-40 เซนติเมตร ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่กว้าง โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบจัก มีดอกสีม่วงแกมชมพู และขาว ดอกเป็นรูปหลอดกว้าง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ขนาดดอกกว้าง 2-3 เซนติเมตร
ช่วงเวลาออกดอก : ช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนธันวาคม
เขตการกระจายพันธุ์ : ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียยาวถึงเมียนมา และพบได้ทางตอนเหนือของประเทศไทย
*เป็นพืชเฉพาะถิ่น (endemic specie) พบได้ที่ดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น

ชื่อภาษาไทย : ชมพูพิมพ์ใจ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Luculia gratissima (Wall.) Sweet var. glabra Fukuoka
ชื่อวงศ์ : Rubiaceae
ลักษณะ : ไม้พุ่ม สูง 1.5-2 ม. ใบเป็นใบเดี่ยว ดอกสีชมพู มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อลักษณะเป็นชั้นลดหลั่นกันเป็นระนาบ กลีบดอกโคนเชื่อมกัน ปลายแยกแผ่เป็นปากแตร มี 5 แฉก กลมมน เกสรผู้ 5 อัน สีเหลือง มีก้านสั้นอยู่ภายในหลอดดอก ผลคล้ายรูปไข่กลับ เมื่อแก่จะแห้งและแตกตามยาวเป็น 2 ซีก
ช่วงเวลาออกดอก :ช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์
เขตการกระจายพันธุ์ : พบการกระจายพันธุ์ในเขตหนาวของเทือกเขาหิมาลัย จากเนปาลถึงภูฏาน พม่า และไทย
*เป็นพืชเฉพาะถิ่น (endemic specie) พบได้ที่ดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น

ชื่อภาษาไทย : ดอกดินแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aeginetia indica Linn.
ชื่อวงศ์ : Orobanchaceae
ลักษณะ : เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอยู่ใต้ดินขนาดเล็ก เป็นพืชอาศัยอยู่กับรากไม้ โดยเฉพาะกกหญ้าและไผ่ ใบเป็นเกล็ดขนาดเล็กที่โคนกอ สังเกตได้ยาก ออกเรียงสลับหรือตรงข้าม รูปคล้ายสามเหลี่ยมยาว 6-8 มม. ดอกผุดจากส่วนลำต้นใต้ดิน 1-2 ดอกต่อเหง้า ก้านดอกตรง ดอกมีลักษณะเป็นถ้วยคว่ำ อ้วน สีม่วงแดงผิวเกลี้ยงเป็นมัน กลีบรองดอกเป็นประกับหุ้มโคนดอก สีม่วงอมชมพูสีอ่อนกว่ากลีบดอก
ช่วงเวลาออกดอก : ออกดอกและผลระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
เขตการกระจายพันธุ์ : พบตั้งแต่ตอนกลางของทวีปเอเชีย มาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

ชื่อภาษาไทย : ผักอีเปา มะแหลบเชียงดาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peucedanum siamicum Craib
ชื่อวงศ์ : Umbelliferae
ลักษณะ : เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี สูง 40-60 ซม. ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกที่ซอกใบหรือปลายยอด แต่ละกลุ่มมี 18-24 ดอก ดอกขนาดเล็กสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปถ้วย ไม่มีกลีบเลี้ยง กลีบดอกสั้นกว่า 1 มม. เกสรผู้จำนวนมาก สีเหลือง
ช่วงเวลาออกดอก : ออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน
*เป็นพืชเฉพาะถิ่น (endemic specie) พบได้ที่ดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น

ชื่อภาษาไทย : ขนตาเสือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ornithoboea sp.
ชื่อวงศ์ : Gesneriaceae
ลักษณะ : ไม้ล้มลุกขึ้นตามซอกหินปูน ลำต้น ใบ และช่อดอกมีขนตั้ง ปลายเป็นต่อมเหนียว ดอกตูมมีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดง ดอกบานกลีบดอกสีม่วงอ่อน อับเรณูสีเหลือง

ชื่อภาษาไทย : ดอกแตรวง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lilium primulinum Baker var. burmanicum (W. W. Sm.)
ชื่อวงศ์ : Liliaceae
ลักษณะ : ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 2 ม. หัวใต้ดินลักษณะคล้ายหัวหอมขนาดใหญ่ ดอกมักห้อยลง กลีบรวมสีเหลือง โคนกลีบด้านในมีแต้มสีม่วงแดง เกสรเพศผู้สีม่วงแดงเนื้อในสีขาวอมเหลือง ช่อดอกมี 4–9 ดอก สีเหลืองหรืออมเขียว มีปื้นสีม่วงอมน้ำตาลแซม กลีบรูปขอบขนานหรือแกมรูปใบหอกกลับ
เขตการกระจายพันธุ์ : พบที่จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทยที่ดอยสุเทพ และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อภาษาไทย : ค้อเชียงดาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trachycarpus oreophilus Gibbons & Spanner
ชื่อวงศ์ : Arecaceae (Palmae)
ลักษณะ : พืชจำพวกปาล์ม ขึ้นเป็นต้นเดี่ยว สูง 8-10 เมตร ลำต้นนูนเป็นคลื่นวงข้อ มีเยื่อหุ้มพันรอบคอต้นคล้ายร่างแห สีน้ำตาล ดอกสีครีมแกมเขียว ออกเป็นช่อจากซอกใบ แกนโค้งห้อยลง แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกลักษณะกลม เล็กมาก กลีบดอกรูปมนกลม เกสรตัวผู้ 6 อัน ผลอยู่เป็นกลุ่มจำนวนมาก รูปกลมรี ผิวเกลี้ยง เมื่อแก่สีดำ
เขตการกระจายพันธุ์ : ขึ้นกระจายตามเขาหินปูน บริเวณที่โล่งลาดชัน ที่ระดับความสูง 1,700-2,150 ม.
*เป็นพืชเฉพาะถิ่น (endemic specie) พบได้ที่ดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น

ชื่อภาษาไทย : สกุลเทียนดอก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens sp.
ชื่อวงศ์ : Balsaminaceae
ลักษณะ : เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นสีเขียวอ่อน อุ้มน้ำ ใบเดี่ยว ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ก้านใบสั้น มีตุ่มเรียงเป็นแถวยาวทั้งสองด้าน ดอกมีหลายสี ผลรูปไข่ แก่แล้วแตกตามแนวยาว ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก สีน้ำตาล
เขตการกระจายพันธุ์ : พบแพร่กระจายในซีกโลกเหนือ และเขตร้อน

ชื่อภาษาไทย : ประทัดม่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Salvia misella Kunth
ชื่อวงศ์ : Lamiaceae, Labiatae
ลักษณะ : ไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ใบและกลีบเลี้ยงมีขนสาก ดอกสีม่วง
เขตการกระจายพันธุ์ : เป็นพืชท้องถิ่นแถบตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้และตอนใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ ในไทยพบมีการแพร่กระจายตามพื้นที่สูงทั่วไป

ชื่อภาษาไทย : หยาดน้ำค้าง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drosera Burmanii
ชื่อวงศ์ : Droseraceae
ลักษณะ : ลำต้นแนบติดกับพื้นดิน ใบรูปมนรีอวบอ้วนแผ่เป็นรัศมี ปลายงอโค้งคล้ายกับซ้อน ใบอ่อนสีเขียวและมีขนเล็กๆ สีแดงจำนวนมากปกคลุมอยู่ตามขอบใบ ปลายขนจะมีตุ่มใสๆ ที่มีน้ำหวานเหนียวๆ ฉาบอยู่รอบๆ คล้ายหยาดน้ำค้างเพื่อล่อให้แมลงเข้ามาเกาะ
เขตการกระจายพันธุ์ : ตามลานหินที่มีน้ำชื้นแฉะ
ช่วงเวลาออกดอก : ช่วงเดือนกรกฏาคม ถึงเดือนตุลาคม

ชื่อภาษาไทย : ต้นสนสามใบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pinus kesiya Royal ex Gordon.
ชื่อวงศ์ : Pinaceae
ลักษณะ : ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกสีน้ำตาลอมชมพูอ่อนล่อนเป็นสะเก็ด มียางสีเหลืองซึมออกมาตามรอยแตก ใบเป็นใบเดี่ยว ติดกันเป็นกลุ่มละ 3 ใบ ออกเป็นกระจุกเวียนสลับถี่ตามปลายกิ่ง ออกดอกเป็นช่อ แยกเพศ ช่อดอกเพศผู้สีเหลือง ติดกันเป็นกลุ่มใกล้ปลายกิ่ง

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว