‘ช้างป่า’ ชอบกินอาหารอะไร

‘ช้างป่า’ ชอบกินอาหารอะไร

ถึงแม้จะเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน แต่ถ้าหากอยู่กันคนละพื้นที่ อาหารที่กินก็ต่างกัน ดังนั้น จะมาเป็นอาหารเหมือนกันไม่ได้!

ทุกคนเคยสงสัยไหมคะ ‘ช้างป่า’ ที่อยู่ในป่ากินอะไรเป็นอาหาร จะกิน(แค่)กล้วย หรืออ้อยเหมือนที่เราเข้าใจกันไหม วันนี้แอดมินจะพาทุกคนมาไขข้อสงสัยกันค่ะว่า… ช้างป่ากินอะไรเป็นอาหาร?

ช้างป่าที่พบในประเทศไทยเป็นช้างเอเชีย (Elephas maximus) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ เป็นสัตว์กินพืช (herbivore) จัดอยู่ทั้งจำพวกกินหญ้า (grazer) และจำพวกกินใบ (browser) ช้างป่าออกหากินในช่วงเย็นจนถึงเช้าตรู่ ใช้เวลาในการหากินประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน และจะพักหลับนอนตอนกลางวันในป่าทึบ

นอกจากพืชอาหารแล้ว ช้างป่ายังสามารถกินดินโป่ง (salt – licks) เพื่อเพิ่มแร่ธาตุชนิดอื่น ๆ ให้กับร่างกายอีกด้วย โดยปกติช้างป่าจะใช้พื้นที่หากินประมาณ 300 – 400 ตารางกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะสภาพภูมิประเทศและความอุดมสมบูรณ์ในแต่ละพื้นที่

แล้วช้างป่าเหมือนกัน แต่อยู่ต่างพื้นที่กัน อาหารที่ช้างป่ากินจะเหมือนกันไหม?

ช้างป่า
ช้างป่า

อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘สัตว์ชนิดเดียวกัน แต่อยู่ต่างพื้นที่กัน อาหารก็แตกต่างกัน’ ยกตัวอย่างเช่น 

ช้างป่ากุยบุรี พบว่าช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กินพืชอาหารรวม 232 ชนิด จาก 62 วงศ์ ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งบางชนิดสามารถกินผลเป็นอาหารได้ เช่น มะค่าโมง มะหาด ขนุนป่า รองลงมาคือ กลุ่มที่เป็นไม้พุ่ม กลุ่มของไม้เถา และกลุ่มของหญ้า ตามลำดับ

ช้างป่าห้วยขาแข้ง พบว่าช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี กินพืชอาหารรวม 260 ชนิด จาก 94 วงศ์ โดยพืชอาหารที่พบช้างป่าว่ากินมากที่สุดคือวงศ์ Gramineae (พืชวงหญ้า) พบจำนวน 28 ชนิด โดยพืชอาหารทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นและไม้พุ่มยืนต้น ซึ่งพบ 128 ชนิด จาก 39 วงศ์

ช้างป่าภูหลวง พบว่าช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย ทั้งช้างฝูงและช้างโทน กินพืชอาหารรวม 31 ชนิด จาก 14 วงศ์ มีการกินพืชอาหารซ้ำกัน 13 ชนิด และเมื่อจำแนกตามความถี่ในการกินพืชอาหาร 5 อันดับแรกของพืชอาหารทั้งช้างฝูงและช้างโทน ได้แก่ แขม 17.1% (แขมช้างเลือกกินปลายยอดอ่อน ใบอ่อน ตั้งแต่ปลายใบถึงกลางลำต้น) ตองพลวง 9.8% (ตองพลวง ช้างใช้การดึงส่วนลำต้นตั้งแต่ส่วนต้นอ่อนที่ติดดิน) ไผ่เครือวัลย์ 7.3% เลา 6.2% และเร่ว 5.5% 

และหากนำข้อมูลพืชอาหารของช้างป่าภูหลวง รวมกับการศึกษาชนิดพืชอาหารของช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ พบว่าช้างป่าสามารถกินพืชอาหารได้มากถึง 103 ชนิด จาก 41 วงศ์ ซึ่งส่วนใหญ่พืชอาหารที่กินมากที่สุดจัดอยู่ในวงศ์หญ้า เช่น พง หญ้าคา หญ้าแพรก หญ้าปล้อง หญ้ากระเดือยหนู หญ้าปากควาย เป็นต้น

จากตัวอย่างงานวิจัยพืชอาหารของช้างป่าทั้ง 3 พื้นที่ ชี้ให้เห็นว่า พืชอาหารของช้างป่ามีความหลากหลายมาก ช้างป่าแต่ละพื้นที่มีการกินพืชอาหารที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทป่า สภาพถิ่นที่อยู่อาศัย ลักษณะสภาพภูมิประเทศ และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

การศึกษาพฤติกรรมการหากินของช้างป่า มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการสัตว์ป่าในระดับพื้นที่ เพราะเมื่อเราทราบถึงต้นตอของปัญหา รู้พฤติกรรมว่าช้างป่ากินอะไร ออกหากินเมื่อไหร่ บริเวณใด ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างป่าได้

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว