เรื่องควรรู้ในการใช้ชีวิตเมื่อเกิดภัยพิบัติ

เรื่องควรรู้ในการใช้ชีวิตเมื่อเกิดภัยพิบัติ

การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกในปัจจุบันสืบเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย จึงก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมนุษย์ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเหตุการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง เป็นสถานการณ์ที่ไม่ทันรู้ตัว หรือรู้ตัวแต่ไม่ทันเตรียมการในการป้องกัน หรือขาดความรู้ ทักษะและประสบการณ์ ในการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ซึ่ง ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติต่างๆ อาทิ ภัยน้ำท่วม ดินถล่ม แผนดินไหว สึนามิ ภัยแล้ง ฯลฯ ในขณะเดียวกันมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่มีข้อมูลสำหรับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ จึงไม่สามารถหาทางป้องกันและปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเมื่อเกิดภัย

ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ จึงรวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติแต่ละประเภท ดังนี้

 

การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

1. เตรียมพร้อมก่อนภัยมา สร้างแผนฉุกเฉิน เช่น หาวิธีแจ้งเหตุ กระจายข่าว เส้นทางอพยพ กำหนดจุดปลอดภัย และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

2. เตรียมพร้อมด้านร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสัตว์เลี้ยง รวมทั้งต้องซักซ้อมบ่อยๆในเรื่องการอพยพและการสื่อสาร

3. เตรียมปัจจัยสี่ จัดเป็นชุด ให้หยิบฉวยง่าย จัดเตรียมน้ำ ยารักษา และของใช้ที่จำเป็น ใส่ถุงเป็นชุดๆ เก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย

4. ติดตามฟังข่าวสารบ้านเมือง

5. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั่วไป

 

ภัยจากน้ำท่วม

1. ติดตามข่าวสาร และ เชื่อฟังประกาศ จากเจ้าหน้าที่

2. สับคัตเอาท์ไฟก่อนออกจากบ้าน แล้วอพยพจากพื้นที่น้ำท่วมสูงอย่างทันที อย่าห่วงทรัพย์สิน ห่วงชีวิตตนและคนรอบข้างก่อน

3. โทรแจ้งสายด่วน 1669 หากพบผู้ถูกไฟดูด ให้การปฐมพยาบาลตามคำแนะนำ หากหัวใจหยุดเต้นให้รีบกดหน้าอกช่วยหายใจ

4. ห้าม ลงเล่นน้ำหรือพายเรือเข้าใกล้สายไฟ และระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษ และเชื้อโรคที่มากับน้ำ

5. หากเดินลุยน้ำ หลังจากเข้าบ้านแล้วควรรีบล้างเท้าทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง หากเท้ามีบาดแผลควรชะล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้า

6. นำถุงพลาสติก ใส่ทรายหรือดินอุดที่คอห่านและท่อน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันน้ำท่วมดันเข้ามาทางโถส้วม

 

ภัยจากน้ำท่วมเฉียบพลัน

1. ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำ

2. สับคัตเอาท์ไฟก่อนออกจากบ้าน แล้วรีบอพยพขึ้นที่สูง โดยหลีกเลี่ยงแนวธารน้ำ ช่องระบายน้ำ

3. สวมเชื้อชูชีพเสมอ ห้าม เดินฝ่ากระแสน้ำ และใช้ไม้ปักดินคลำทางเพื่อสังเกตุว่าดินตื้นลึกแค่ไหน

4. ห้าม ขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วมและถ้าหากน้ำขึ้นสูงรอบๆรถ ให้รีบออกจากรถ

5. อย่า เสี่ยงช่วยผู้อื่นหากอุปกรณ์ไม่พร้อม เพราะอาจไม่รอดทั้งคู่

6. โทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 หากพบผู้บาดเจ็บ

 

ภัยจากดินโคลนถล่ม

1. หากฝนตกหนัก ให้สังเกตุสัญญาณเตือนภัยของเหตุดินโคลนถล่ม เช่น เสียงต้นไม้หัก หินก้อนใหญ่ตกลงมาน้ำมีสีขุ่น

2. อพยพไปในพื้นที่สูงและมั่นคง ตามเส้นทางที่เตรียมการไว้ เมื่อได้รับสัญญาณเตือนภัย

3. ตั้งสติ ท่องไว้รักษาชีวิตก่อน ทรัพย์สินไว้ทีหลังให้นำของใช้เฉพาะที่จำเป็นติดตัวไปเท่านั้น

4. หากพลัดตกน้ำ หาต้นไม้ใหญ่เกาะแล้วรีบขึ้นจากน้ำให้ได้

5. หากหนีไม่ทัน ให้ม้วนตัวเป็นทรงกลม ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันศรีษะกระแทก

 

ภัยจากแผ่นดินไหว และสึนามิ

1. อพยพตามแผนของหมู่บ้าน ชุมชน หรือจังหวัด

2. หากออกเรือขณะเกิดสึนามิ ห้าม เข้าใกล้ชายฝั่งเด็ดขาดและให้อยู่ในบริเวณน้ำลึก

3. หากอยู่ในบ้านขณะเกิดแผ่นดินไหว รีบหมอบลงใต้โต๊ะที่แข็งแรง หากอยู่ภายนอกอาคารให้อยู่บริเวณที่โล่งไม่มีสิ่งกีดขวาง

4. ใช้ผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันฝุ่นและสิ่งแปลกปลอม

5. หยุดรถ และจอดชิดขอบทาง อย่า ออกจากรถจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย

6. เมื่อเหตุการณ์สงบ เร่งตรวจสอบ ตรวจดูสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส อย่า เปิดใช้จนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย

 

ภัยจากพายุ

1. ฟังประกาศการเตือนภัย และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

2. ตรึงประตูหน้าต่างให้มั่นคง ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรขณะฝนตกฟ้าคะนอง

3. เตรียมอุปกรณ์จำเป็น เช่น เทียนไข ไฟฉาย ยาประจำตัวติดตัวตลอด

4. ขณะฝนตกฟ้าคะนอง ห้าม อยู่ใต้ต้นไม้ เสาไฟฟ้า และ ห้าม โทรศัพท์เด็ดขาด

5. หากรู้สึกตัวว่าบ้านกำลังจะพังให้ห่อตัวเองด้วยผ้าห่ม หลบใต้โต๊ะ ใต้เตียง หรือที่แข็งแรงมั่นคง

 

ภัยจากเหตุเพลิงไหม้

1. ตั้งสติ โทร 199

2. ใช้ถังดับเพลิงดับไฟ หากประเมินว่าเพลิงไหม้ในวงแคบและสามารถดับไฟได้

3. อพยพผ่านประตูหนีไฟ ก่อนเปิดประตูให้ใช้หลังมือสัมผัสประตูหรือลูกบิด หากพบว่าร้อน ห้าม เปิดและใช้เส้นทางอื่นแทน ห้าม ใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาด

4. หมอบคลานต่ำ ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก เพื่อป้องควันไฟ

5. หากติดอยู่ภายในอาคาร ใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องว่างรอบประตูหน้าต่างเพื่อกันควันไฟ และพยายามขอความช่วยเหลือ เช่น โบกผ้า ใช้ไฟฉายส่งสัญญาณ

 

ภัยจากความแห้งแล้ง

1. กักเก็บน้ำสะอาดและวางแผนใช้น้ำอย่างประหยัด

2. ดื่มน้ำบ่อยๆ หรือใช้ผ้าชุบน้ำประคบเพื่อลดความร้อนในร่างกาย

3. โทรแจ้ง 1669 หากพบผู้ป่วยหมดสติ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ร่ม จัดท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน คลายเสื้อผ้าและใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อคลายร้อน

4. รับประทานอาหารร้อนๆ และดื่มน้ำสะอาดเพื่อป้องกันโรคทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง บิด อหิวาตกโรค

5. ไม่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ เพราะอาจทำให้เป็นลมแดดได้

 

ภัยหนาว

1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ความเชื่อเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายอบอุ่นเป็นความเชื่อที่ผิด

2. หากเป็นหวัด ถ้าออกนอกบ้านให้สวมผ้าปิดปากป้องกันการติดต่อไข้หวัดสู่คนรอบข้าง

3. หากเปียกน้ำ รีบเช็ดตัวให้แห้งและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เพื่อป้องกันโรคปอดบวม

4. รีบโทรแจ้ง 1669 หากพบผู้ป่วยฉุกเฉิน และระวังโรคที่มากับภัยหนาว

5. ทำร่างกายให้อบอุ่น แต่ ควรหลีกเลี่ยง การผิงไฟเพราะควันไฟอาจอันตรายต่อสุขภาพ

6. เก็บกวาดเศษใบไม้ ขยะ รอบบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันไฟไหม้

 

นอกจากที่ยกตัวอย่างมานี้ ยังมีอีกหลายกรณีที่เราควรรู้ถึงการรับมือเบื้องต้นในอีกหลายๆ เรื่อง ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ คู่มืออาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (สพฉ.) หรือโทรสอบถามที่ 02-8721600 

 

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

 


เรียบเรียง อาคม พรรณิกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร