เรื่องเล่าหลังรถกระบะเมื่อฉันได้มาเยือน ‘ทุ่งใหญ่ตก’

เรื่องเล่าหลังรถกระบะเมื่อฉันได้มาเยือน ‘ทุ่งใหญ่ตก’

เมื่อวันที่ 21-24 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี การลงพื้นที่ในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเข้าไปทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในการเข้าไปเก็บข้อมูลพฤติกรรมมนุษย์ ที่ส่งผลต่อการเข้าใช้พื้นที่ของสัตว์ป่าในพื้นที่ชุมชน มีหลายพื้นที่ที่เราต้องเดินทางเข้าไปทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือกับชาวบ้านในการช่วยนำทาง เพื่อเก็บข้อมูลในบริเวณพื้นที่ป่ารอบ ๆ หมู่บ้าน ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อันจะนำไปสู่นำข้อมูลที่เก็บมาได้ไปวิเคราะห์ และวางแผนการจัดการสัตว์ป่ารอบพื้นที่ชุมชน เพื่อกำหนดกรอบกติกาการใช้พื้นที่ของชุมชน และลดผลกระทบต่อสัตว์ป่า อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าและสัตว์ป่าได้ ทั้งยังเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย

แต่เนื่องจากตอนที่เรากำลังบอกเล่าเรื่องราวอยู่ตอนนี้เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19อยู่ หากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อโควิดไม่ดีขึ้น ก็อาจจะส่งผลให้การเดินทางไปเก็บข้อมูลในต้นเดือนกุมภาพันธ์นั้นต้องถูกเลื่อนออกไปก่อน แต่วันนี้จะมาเล่าถึงความประทับจากการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่าเราได้เจอกับอะไรบ้างระหว่างเดินทาง ผู้เขียนขอบอกไว้ก่อนเลยว่า การลงพื้นที่ทำงานในแต่ละครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

เราออกเดินทางกันในคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2563 เวลา 20.30 น. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของมูลนิธิฯ ทั้งหมด 4 คน (รวมผู้เขียนด้วย) โดยเดินทางจากสำนึกงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จังหวัดนนทบุรี มุ่งหน้าสู่ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ขณะที่รถเริ่มวิ่งเข้าสู่อำเภอทองผาภูมิ ภูมิทัศน์ก็เปลี่ยนเป็นภูเขาและป่าไม้ อุณภูมิก็เริ่มเย็นลงจนเหลือแค่หลักสิบ ในคืนนี้เราพักกันที่บ้านของพี่น้อย – มนตรี กุลชรมณี เจ้าหน้าที่ภาคสนามจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเตรียมที่จะออกเดินทางในรุ่งเช้าของวันใหม่

ช่วงเช้าของวันที่ 21 ธันวาคม 63 เราออกเดินทางไปกันที่หมู่บ้านกองม่องทะ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่โอบล้อมด้วยภูเขา ไปถึงก็พบปะกับชาวบ้านที่มารอพร้อมที่จะพบปะพูดคุย ภายหลังจากขอคำปรึกษาเรื่องเส้นทางที่จะเดินสำรวจ ชาวบ้านก็ได้ให้คำแนะนำว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่จริง ซึ่งทางเราก็พร้อมปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำ ทำให้การพบปะพูดคุยในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

วันต่อมา (วันที่ 22 ธันวาคม 2563) เราออกเดินทางไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าสะเน่พ่อง และได้ทำการเปลี่ยนภาหนะที่ใช้เดินทางที่หน่วยฯ โดยทางเราเลือกใช้รถเช่าของคนในพื้นที่แทน เพราะได้ยินมาว่าหนทางที่เราจะไปต่อนั้นค่อนข้างไกล และมีความยากลำบากในการเข้าถึง ดังนั้นการเช่ารถพร้อมคนขับในพื้นที่น่าจะสะดวก และมีความปลอดภัยกว่า เรามาถึงจุดนัดพบที่สะเน่พ่องก่อนเวลานัดหมาย จึงทำให้ไม่พบชาวบ้านเลยสักคน ประจวบกับตอนนั้นมีข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เลยทำให้ชาวบ้านเกิดไม่แน่ใจในการมาพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือ มาพูดคุย และทำความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน ทำให้การพบปะพูดคุยในครั้งนี้ ชาวบ้านมีความเข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือกับกับทางเรา

เสร็จสิ้นภารกิจที่หมู่บ้านสะเน่พ่องแล้ว จุดหมายต่อไปที่เราจะไปกันก็คือหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง ซึ่งการเดินจากสะเน่พ่องไปยังเกาะสะเดิ่งนั้นเริ่มเป็นเส้นทางธรรมชาติ เรียกว่าธรรมชาติโดยสมบูรณ์แบบ มีความสวยงามของดอกหญ้าที่สูงท่วมหัว ตัดกับวิวภูเขาที่ล้อมรอบตัวเราเป็นภาพที่ควรแก่การเก็บไว้ในความทรงจำ เพราะต่อให้ถ่ายภาพออกมาก็สวยเพียงใด ก็สู้ไม่ได้เมื่อเทียบกับภาพที่อยู่ตรงหน้าเราในขณะนั้น

ได้ชมความงดงามของธรรมชาติกันพอหอมปากหอมคอ จึงเริ่มพบกับหนทางที่เริ่มยากลำบากที่อ้าแขนออกมาต้อนรับพวกเรา เส้นทางเริ่มเป็นทางลูกรังโดยสมบูรณ์แบบ มีดินหินน้อยใหญ่ปะปนกันไป รถก็โอนเอียงไปมาราวกับนั่งเครื่องเล่น เท่านั้นยังไม่พอยังต้องขับข้ามธารน้ำอีก บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่ากำลังนั่งอยู่บนรถหรือว่าเรือกันแน่ เพราะมีบางจุดที่รถข้ามผ่านแม่น้ำ มองออกไปรอบข้างเรียกได้ว่าเห็นแต่น้ำไม่เห็นพื้นดิน

ในที่สุดเราก็มาถึงหน่วยพิทักษ์ป่าเกาะสะเดิ่ง จุดนี้เราได้แวะพักรถกันแป๊บหนึ่ง ขณะที่กำลังนั่งพักอยู่ก็ได้มีรถของชาวบ้านขึ้นมาที่หน่วยฯ พอดี ด้วยความที่รถเป็นสีดำ และโคลนที่เปรอะเปื้อนตัวรถเป็นสีอ่อน ทำให้เห็นสภาพของการผ่านสมรภูมิดินโคลนที่ผ่านมาอย่างชัดเจน จนทำให้เราหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพไว้ให้ได้ชมกัน

การเดินทางของพวกเราในวันนี้ยังไม่จบลง เรายังต้องเดินทางต่อไปยังหน่วยพิทักป่าทิไล่ป้า ซึ่งคืนนี้เราจะต้องพักค้างแรมกันที่หน่วยฯ นี้ เส้นทางที่ไปหมู่บ้านทิไล่ป้าเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่โหดมากที่สุดตั้งแต่เข้าพื้นที่มา ด้วยทางที่มีลักษณะเป็นดินหิน ผสมดินโคลน ทำให้มีทั้งลูกรังขรุขระของทางบวกด้วยความลื่นชื้นแฉะ จนทำให้รถติดหล่มดินโคลน ซึ่งกว่าจะผ่านไปได้ก็ต้องใช้เวลากันอยู่พอสมควร

ที่สุดแล้วเราก็เดินทางมาถึงหน่วยพิทักษ์ป่าทิไล่ป้าก็ในยามเย็น การเดินทางของวันนี้เรียกได้ว่านั่งรถเดินทางกันมาทั้งวัน เมื่อสูญเสียพลังงานร่างกายก็เกิดความเหนื่อยล้า และความหิวก็เข้ามาเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ควรหาอะไรมาทดแทนพลังงานที่เสียไป นั่นคือการรับประทานอาหารเย็นนั่นเอง มื้อค่ำวันนี้ทีมเราเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ ร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ ทีมเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ได้ร่วมกันทำอาหารเย็นรับประทานกัน พอรับประทานเสร็จกันเรียบร้อย หนังท้องตึงหนังตาก็เริ่มหย่อนก็พากันพักผ่อนพร้อมลุยต่อในเช้าวันถัดไป

เช้าวันที่ 23 ธันวาคม 63 ผู้เขียนตื่นมาหลังในลักษณะขดตัวมุดอยู่ในถุงนอน เพราะอากาศอันหนาวเหน็บตลอดทั้งคืน ส่งผลให้เช้านี้มีหมอก ซึ่งหมอกที่นี่คือบรรยากาศดี ๆ ที่ไม่ใช่หมอกฝุ่น PM 2.5 เหมือนในกรุงเทพฯ แต่อย่างใด เลยขอเก็บภาพบรรยากาศยามเช้าให้ได้ชมกัน

ภายหลังร่วมรับประทานอาหารเช้าเสร็จ ก็ได้เวลาออกไปทำงานพบปะและพูดคุยกับชาวบ้าน ถึงเรื่องการขอความร่วมมือในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ทางทีมงานได้คุยทั้งกับชาวบ้านหมู่บ้านทิไลป้า และชาวบ้านหมู่บ้านจะแกที่เดินทางมาหาเราที่หมู่บ้านทิไล่ป้า ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านต่างรับทราบและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้การพบปะพูดคุยในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

จากนั่นเราก็ได้เดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้านพี่น้อยดั่งเช่นคืนแรก โดยกว่าจะเดินทางจากทิไล่ป้ามาถึงบ้านพักก็เป็นเวลาเย็นก็ จึงได้ร่วมรับประทานมื้อค่ำ และพักผ่อนเพื่อเตรียมร่างกายลุยงานต่อในวันพรุ่งนี้

เช้าวันสุดท้าย (วันที่ 24 ธันวาคม) วันนี้เรามากันที่หมู่บ้านสาละวะ – ไล่โว่ หมู่บ้านสุดท้ายที่เราจะมาพบปะพูดคุย ซึ่งทีมงานไปในขณะที่หมู่บ้านนี้กำลังมีงานอยู่พอดี แต่ผู้ใหญ่บ้านก็สามารถสละเวลามาพบปะพูดคุยกับพวกเรา และมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการสำรวจเล็กน้อยตามความเหมาะสม และแล้วการพูดคุยก็ผ่านลุล่วงไปด้วยดี เสร็จสิ้นภารกิจในครั้งนี้ เราทั้ง 4 คน ก็ถึงเวลาเดินทางกลับเข้าสู่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จังหวัดนนทบุรี จุดตั้งต้นที่เราเดินทางมา

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ประทับใจมาก การได้เดินทางไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก ทำให้ผู้เขียนมีความรู้สึกเป็นการเดินทางที่มีความผจญภัยบุกป่าฝ่าดงลงน้ำ ในความเหนื่อยจากการเดินทางก็มีความสนุก มีวิวสวย ๆ ให้ได้ชมปะปนกันไป ทำให้รู้ว่าการทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่สืบนาคะเสถียรไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ยังมีประสบการณ์ที่ท้าทายรออยู่ข้างหน้า ที่เราจะต้องเรียนรู้ และพัฒนากันต่อไปในฐานะเจ้าหน้าที่ใหม่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สุดท้ายนี้ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังคงทำงานเพื่อธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่า อย่างต่อเนื่องเพื่อสืบสานปณิธานเราทำงานให้พี่สืบ ซึ่งทุกเม็ดเงินจากการสนับสนุนของทุกท่าน คือการสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติให้กับคนไทย ร่วมนรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปกับเราได้ www.seub.or.th/ช่องทาบริจาค/


บทความ จุฑาทิพย์ หล้ามูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายระดมทุน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร