รตยา จันทรเทียร 16-61 แห่งความหลัง มองงานอนุรักษ์ป่าทุ่งใหญ่

รตยา จันทรเทียร 16-61 แห่งความหลัง มองงานอนุรักษ์ป่าทุ่งใหญ่

ชวนย้อนเรื่องราวงานอนุรักษ์ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผ่านสายตา อาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ในวัย 86 ปี อาจารย์รตยา คือคนที่อยู่ร่วมกับยุคสมัยนับตั้งแต่เหตุการณ์ล่าสัตว์ที่สังคมมองเป็นเรื่องธรรมดา จนนำไปสู่ความแค้นเคืองของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา เรื่อยมาจนถึงการคัดค้านเขื่อนน้ำโจน และกรณีล่าสุดที่นายเปรมชัย กรรณสูตร และพวกถูกจับกลางป่าทุ่งใหญ่พร้อมซากสัตว์ป่า และอาวุธปืน

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ต้องเผชิญเหตุการณ์อะไร

และสังคมมีปฏิกิริยาอย่างไรในแต่ละยุคสมัย

ชวนย้อนเรื่องราวในผืนป่าแห่งนี้กันอีกครั้ง

 

ก่อนที่เกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกที่อำเภอบางเลน และนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เวลานั้นสาธารณชนรู้จักป่าทุ่งใหญ่มากน้อยแค่ไหน

ตอนนั้นรู้จักป่าทุ่งใหญ่กันแล้ว และมีกลุ่มที่เดินทางไปท่องเที่ยวจริงๆ สักประมาณ พ.ศ. 2508 ก็เริ่มมีเรื่องราวเกี่ยวกับป่าทุ่งใหญ่ออกมาให้ได้ยิน คนทั่วไปจะรู้ว่าป่าทุ่งใหญ่เป็นทุ่ง เป็นบ้านของสัตว์ป่า ตอนนั้นเขาใช้คำว่าเป็นมดลูก เป็นที่ที่สัตว์ป่าอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แต่อยู่ลึกมาก ลือกันว่าพรานธรรมดาๆ นี่เข้าไปไม่ถึงนะ แต่ก็รู้ว่ามีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ข้างในแล้ว และก็มีเรื่องของการทำเหมืองที่เรียกว่าเหมืองพุจือ ทราบกันว่าในอดีตมีปัญหาค่อนข้างเยอะ

 

แล้วสถานะความสำคัญของป่าทุ่งใหญ่ตอนนั้นเป็นยังไง

ก็มีคนทำหน้าที่อนุรักษ์อยู่แล้วนะ เพราะมีกฎหมายอนุรักษ์สัตว์ป่าออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 (พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503) พอปี 2508 กรมป่าไม้ ก็ส่งคนเข้าไปดูแล มีทั้งหัวหน้าทั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เข้าไปดูแลเพื่อเตรียมประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่กว่าจะได้ประกาศก็อีกเกือบ 10 ปีต่อมา เพราะเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม คนก็ลุกฮือกันทั้งประเทศ

 

เป็นเพราะไม่พอใจรัฐบาลมากกว่ารักธรรมชาติใช่ไหม

คุณภินันท์ (ภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์) เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นคนในจังหวัดกาญจนบุรียังไม่ลืมตาขึ้นมาต่อสู้ สมัยนั้นใครเข้าป่าไปล่าอะไรออกมาได้ก็จะเอาพาดไว้บนรถ ขับผ่านตลาดกลางตัวเมืองโชว์ว่าข้านี่เก่ง คนที่เห็นก็ไม่ได้รู้สึกเกลียด แต่ตอนที่เฮลิคอปเตอร์ตกมันปลุกเรื่องขึ้นว่า ไอ้นี่มันเอาของราชการมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังเอาไปล่าสัตว์อีก คิดสิว่าคุณ… (ตะกุกตะกัก) กร่างมากๆ ก็เลยไม่มีใครยอม กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา

 

ความรู้ของประชาชนเรื่องการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าตอนนั้นเป็นอย่างไร

ก่อนพ.ศ. 2500 นี่ไม่ได้รักสัตว์ป่ากันเลยนะ ก็กินกันทั้งนั้น ใครล่าได้ก็โชว์กันโจ่งแจ้งไม่ได้ละอายว่าเราไปเอาชีวิตเขามา กลับเป็นเรื่องโก้เก๋เสียมากกว่า ก็เป็นเรื่องที่รับรู้สืบต่อเนื่องกันมา ประเทศไทยเรานับถือคนต่างประเทศ เวลาเราไปก็จะเจอบ้านผู้ดี บ้านคนมีฐานะที่มีเขาสัตว์ป่าประดับเอาไว้ มีสุนัขที่เลี้ยงไว้สำหรับช่วยล่าสัตว์ มันต่อเนื่องมาอย่างนี้

อีกเรื่องคือ ตอนนั้นเป็นช่วงที่สงครามโลกเพิ่งจบ พ.ศ. 2488 มีทั้งอาวุธและรถจิ๊ป คนก็เข้าไปล่าสัตว์ป่ากันยกใหญ่ จนหมอบุญส่ง (นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล) ทนดูไม่ได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้สัตว์ป่าคงหมดแน่ๆ ก็เลยไปขอให้รัฐบาลมีนโยบายและออกกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ก็เกิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีอุทยานแห่งชาติแห่งแรกปี พ.ศ. 2505 (เขาใหญ่) มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรก พ.ศ. 2508 (สลักพระ)

 

ตอนนั้นนอกจากนิยมไพรสมาคมของหมอบุญส่งแล้วมีหน่วยงานหรือองค์กรไหนที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้างครับ

นิยมไพรสมาคมของหมอบุญส่งมีมาก่อน แล้วก็มีสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมตามมา สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมนี่อาจารย์เองก็ร่วมก่อตั้งด้วย เป็นสมาคมที่แตกย่อยมาจากสมาคมสถาปนิกสยาม คือสมาคมสถาปนิกสยามเขามีอนุด้านต่างๆ หลายด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม พวกเราที่เป็นสมาชิกเห็นพ้องกันว่าเรื่องศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญ มันควรจะมีใครที่มาทำงานทางด้านนี้โดยเฉพาะก็เลยตั้งสมาคมกันขึ้นมา ตอนแรกมีสมาชิกเยอะมาก เกินร้อยคนเห็นจะได้ เป็นนักวิชาการจากหลายๆ สาขาที่ศึกษาและเข้าใจถึงเรื่องการอนุรักษ์ อย่างอาจารย์วทัญญู ณ ถลาง อาจารย์มยูร วิเศษกุล และอีกหลายๆ คน ร่วมกันตั้งสมาคมมาตั้งแต่ปี 2512 แต่มาจดทะเบียนเป็นสมาคมจริงๆ ก็ตอนปี 2514 ตอนที่รัฐบาลจะสร้างเขื่อนน้ำโจนในป่าทุ่งใหญ่สมาคมฯ ก็มีบทบาทมากในการทำงานคัดค้านทั้งการออกแถลงการณ์ อาจารย์รตยาเองก็ช่วยทำวารสารแจกจ่ายประชาชนเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน

 

ประชาชนทั่วไปมองเรื่องเขื่อนน้ำโจนเป็นยังไง

ช่วงคัดค้านเขื่อนน้ำโจนมันสืบเนื่องมาตั้งแต่ 2520 ตอนนั้นมีการสร้างเขื่อนขึ้นแล้ว 2 เขื่อน ช่วงที่กำลังเก็บกักน้ำพื้นที่ทางตอนใต้อย่างจังหวัดสมุทรสงครามก็เจอปัญหาว่าสวนต่างๆ ตายเพราะน้ำเค็มขึ้นสูงไม่มีน้ำจืดไปดัน ก็เห็นว่าชาวบ้านเดือดร้อนอยู่หลายปีกว่าจะเก็บกักน้ำสำเร็จ แล้วก็มีเรื่องแผ่นดินไหว ตอนที่สร้างเขื่อนศรีนครินทร์ปรากฎว่าเกิดแผ่นดินไหวตอนประมาณปี 2525 – 2526 อาจารย์ปริญญา นุตาลัยที่มีความรู้เรื่องแผ่นดินไหว เธออธิบายว่าลักษณะของหินตรงนี้ยังไม่เสถียรนะ รอยแยกมันยังไม่ตาย มาถึงตอนนี้ก็ยังอันตรายอยู่

 

กลุ่มที่ออกมาคัดค้านมีใครบ้าง

มีกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองที่เข้าใจออกมาเข้าร่วม ที่พิเศษคือคนจังหวัดกาญจนบุรี พ่อค้าแม่ขายอย่างคุณภินันท์ ทั้งที่เธอขายเครื่องก่อสร้างให้การไฟฟ้านะ แต่ก็ออกมาคัดค้านคอยหุงข้าวเลี้ยงนักศึกษาที่เป็นอีกกำลังสำคัญในการคัดค้าน ตอนนั้นกรมป่าไม้ก็แข็งแกร่งขึ้น ทีมของคุณสืบ นาคะเสถียร คุณวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ คุณนพรัตน์ นาคสถิตย์ คุณนริศ ภูมิภาคพันธ์ ที่เดินจากทุ่งใหญ่ไปห้วยขาแข้งเพื่อดูว่าป่าเป็นอย่างไร มีสัตว์ป่าอะไร สำคัญอย่างไร ก็เป็นกำลังหลักสำคัญ กลุ่มศิลปินก็มาช่วยกันอย่างวงคาราบาวไปขึ้นเวทีคัดค้านเขื่อนที่เมืองกาญจน์ อาจารย์ก็ขึ้นไปด้วย เป็นครั้งแรกที่ขึ้นเวทีเลย แล้วก็ผู้สื่อข่าวคนทำหนังสือพิมพ์ ทุกๆ คนช่วยกันทำงานสอดประสานกันงานมันจึงสำเร็จ

 

อาจารย์และอีกหลายๆ คนที่ยังไม่เคยเข้าป่าทุ่งใหญ่ฯ เอาความรู้สึกอยากปกป้องมาจากไหน

อย่าลืมว่าเรามีโทรทัศน์แล้วนะ สถานีโทรทัศน์ก็เข้าไปถ่ายจนได้ภาพกระทิงทั้งฝูงออกมา และคุณสืบเองเธอพยายามทำรายงานการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานให้จบ ได้ข่าวว่าอดหลับอดนอนพยายามเอาข้อมูลวิทยาศาสตร์มาแสดงให้เห็นว่าการที่เอาน้ำไปท่วมบ้านของสัตว์ป่าแล้วมันจะเป็นยังไง มันไม่มีทางที่จะช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้เลยนะ ช่วยได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ล้มหายตายจากไปหมด

 

นอกจากความรู้แล้วต้องใช้ความรู้สึกด้วยใช่ไหมครับ

ใช่ ความรู้นี่มาจากคุณสืบ ความรู้สึกก็มาจากที่ว่าเราเห็นด้วยว่าสัตว์ป่าต้องตายหมดแน่ๆ ที่เราได้เห็นจากสารคดีส่องโลกของคุณโจ๋ย บางจาก เห็นภาพคุณสืบกำลังปั้มหัวใจกวาง หรือตอนที่ช่วยงูจงอาง เราก็เข้าใจจากตรงนั้นมากขึ้น

 

พอมาทำงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แล้วได้เข้าป่าทุ่งใหญ่ฯ ความรู้สึกแรกเป็นยังไง

ไม่รู้สึกแปลกใจเท่าไหร่ เพราะอาจารย์เข้าป่ามาตั้งแต่ตอนอายุ 11 ขวบ เดินป่าจากจันทบุรีไปพระตะบอง แต่ว่าป่าทุ่งใหญ่เป็นป่าผืนใหญ่กว่ามาก ป่ามันเป็นโมเสคนะ เป็นป่าเต็งรังบ้างก็จะเห็นท้องฟ้าโปร่ง ป่าเบญจพรรณก็จะอยู่ใกล้ๆ น้ำ ที่ตรงไหนฝนตกเยอะๆ เป็นป่าดิบ อย่างที่ทุ่งใหญ่เป็นทุกลักษณะ เช่นจากทินวยเข้าไปเป็นป่าดิบ ต้นไม้บังแสงเสียมืดเลย แสงอาทิตย์ส่งถึงพื้นสัก 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะไปเจอป่าเบญจพรรณต่อ ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง แล้วไปเจอป่าแบบทุ่ง มีต้นปรงต้นเป้ง

 

หากเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับป่าทุ่งใหญ่ฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ครั้งไหนที่สังคมตื่นตัวมากที่สุด

ถ้าพูดตอนคัดค้านเขื่อนน้ำโจนสังคมต่อสู้กันนานนะ ตั้งแต่ปี 2520 – 2530 ตั้ง 10 ปี มันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คัดค้านกันตั้ง 3 หนกว่าจะหยุด แต่ว่าเรื่องเสือดำนี่มันนิดเดียว ช่วงเวลามันสั้นมาก ยังตอบอะไรไม่ได้ แต่ก็มีเรื่องประหลาดใจ แม้กระทั่งแม่ครัวของบ้านลูกสาวแกก็บอกว่าเรื่องเสือดำนี่ฉันไม่ชอบใจเลยนะ คนขับรถเขาก็คุยว่าเขาไม่ชอบเหมือนกัน ถ้าเทียบกับน้ำโจนแล้วแพร่หลายกว่า อาจเพราะนี่ (ชี้มือไปยังแท็บเล็ต) ข่าวเลยแพร่หลายไปไกลมาก

 

ในด้านอื่นๆ นอกจากการล่าสัตว์ มองว่าภัยคุกคามผืนป่าจะอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร

ก็ยังเหมือนเดิม ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงสมัยนี้ ที่มันจะเหมือนเดิมไปตลอด เพราะเป็นที่กิเลสมนุษย์ ถ้ามองในเชิงการใช้ประโยชน์คนจนก็ใช้ประโชน์อย่างหนึ่ง คนรวยก็ใช้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง แต่ที่อาจารย์มองเห็นอย่างชัดเจนคือเรื่องที่ดิน มันคือเรื่องชีวิตของคน ใครๆ ก็อยากได้ที่ดิน ถ้าคุณเอาที่ดินที่เป็นพื้นที่ป่าไปทำไร่ทำสวนของตัวเอง เมื่อเปลี่ยนพื้นที่ไปแล้ว โอกาสที่จะกลับมาเป็นป่าธรรมชาติก็ต้องใช้เวลาอีกนาน อย่างน้อยก็อีก 30 – 50 ปี อาจารย์เคยเข้าป่าแม่วงก์เมื่อตอนที่มีการอพยพคนออกจากอุทยานฯ ก็ใช้เวลาประมาณ 20 – 30 ปีกว่าที่ป่าจะกลับคืนมาเหมือนตอนนี้ ที่เห็นเป็นป่า แต่จริงๆ เดิมมันเคยร้างไปแล้ว แต่ 30 ปีนี่หมายความว่าต้องมีคนดูแลนะ ต้องมีคนดูแลไม่ให้มีใครเข้ามาถางซ้ำ ต้องช่วยกันดูแลรักษาไว้

 

การเข้าป่าให้รางวัลอะไรกับอาจารย์บ้าง

รางวัลของอาจารย์คือเห็นธรรมชาติยังอยู่ ได้เห็นสัตว์อะไรสักตัว อย่างครั้งหนึ่งนั่งรถไปกับหัวหน้าวีรยา (วีรยา โอชะกุล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกก่อนหัวหน้าวิเชียร) เจอเสือดำกำลังข้ามถนนแล้วเหลียวหลังมามองจุดที่เราอยู่ แค่นี้ก็เป็นรางวัลแล้ว อาจารย์ยังมีความรู้สึกแบบคนโบราณอยู่ ว่าป่านี้มีเทวดา มีเทพารักษ์ มีป่าก็ยังมีบ้านของเทวดาเหล่านั้นอยู่ ก็หวังว่าตายแล้วจะได้ไปอยู่ด้วยคน (หัวเราะ)

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม