จิตอาสาเพิ่มแหล่งอาหารและการจัดการไฟป่า ที่ป่าชุมชนเขาแหลม-คลองห้วยหวาย

จิตอาสาเพิ่มแหล่งอาหารและการจัดการไฟป่า ที่ป่าชุมชนเขาแหลม-คลองห้วยหวาย

ในวันที่ 2 – 3 ธันวาคม  2566 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรมป่าไม้ กรรมการป่าชุมชนเขาแหลม และกรรมการป่าชุมชนคลองห้วยหวาย อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ จัดกิจกรรมจิตอาสา ‘เติมเชื้อเห็ดเพิ่มแหล่งอาหาร’ และ ‘การจัดการไฟป่า’ โดยมีวัตถุประวงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและทำประโยชน์เพื่อสังคม

ความสัมพันธ์ของเห็ดกับการป้องกันไฟป่า

กิจกรรมเริ่มต้นขึ้นในบ่ายของวันที่ 2 ธันวาคม ที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นว.1 แม่กะสี สมาชิกจิตอาสาได้เข้ารับฟังบรรยายจาก หัวหน้าเธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่เปิน อธิบายถึงบทบาทหน้าที่การทำงานของหน่วยฯ ก่อนจะนำเข้าสู่ใจความสำคัญของกิจกรรม คือการจัดการไฟป่า หรือการทำแนวกันไฟ

หัวหน้าเธียรวิชญ์ อธิบายว่าการทำแนวกันไฟ เพื่อเป็นแนวตั้งรับในการดับไฟป่า ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อเกิดไฟป่าขึ้นจะลุกลามไปทั่วพื้นที่ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จึงต้อง ‘ชิงสร้างแนวกันไฟ’ เพื่อไม่ให้ลามทั่วพื้นป่า โดยเฉพาะเขตป่าชุมชน ซึ่งเป็นรอยต่อพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลกทางธรรมชาติที่สำคัญ

เธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่เปิน

ทั้งนี้ ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลงานของมนุษย์ ซึ่งมีที่มาจากการเก็บหาของป่า โดยเฉพาะเห็ด ซึ่งเป็นที่ต้องของคนทั่วไปเพราะขายได้ราคาดี หัวหน้าเธียรวิชญ์ลงรายละเอียดต่อไปว่า คนเก็บหาของป่ามักมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่าต้องเกิดไฟไหม้ก่อนเห็ดถึงจะเกิด แต่ในความเป็นจริงเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญเป็นเส้นใย หากโดนความร้อนเข้าเห็ดก็สามารถตายได้ 

ตัวอย่างเช่น เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบจะเจริญอยู่ร่วมกันกับรากพืชและบริเวณรอบ ๆ ราก ทำให้ได้รับผลกระทบจากการทำลายของไฟป่าบ้างบางส่วน แต่เห็ดชนิดอื่น ๆ ที่เกิดอยู่ในป่าซึ่งเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดินจะมีการเจริญอยู่บนเศษวัสดุใบไม้ กิ่งไม้ เมื่อเกิดไฟไหม้เป็นระยะเวลานาน เห็ดกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากถูกความร้อนเข้าทำลายเส้นใยและดอกเห็ดทำให้ไม่สามารถเจริญและแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้ สังเกตได้จากพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้เห็ดกลุ่มที่เจริญเหนือดินจะมีปริมาณลดลง 

จากเรื่องราวของเห็ดที่ยกมาก็จะเห็นได้ว่า การทำแนวป้องกันไฟป่าและการเติมเชื้อเห็ดมีความสัมพันธ์กัน จึงเป็นที่มาของการทำกิจกรรมจิตอาสาเพิ่มแหล่งอาหารและการจัดการไฟป่าในครั้งนี้ 

ในส่วนของวิธีการทำแนวกันไฟ มี 3 แบบ คือ แบบปลูกป่าเปียก แบบวิธีกล และแบบชิงเผา ซึ่งในส่วนของภาพปฏิบัติจะเลือกทำแนวกันไฟป่าด้วยการชิงเผา ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องทำควบคู่กับแบบวิธีกล เพื่อกำหนดแนวป่าที่ต้องการป้องกัน และใช้ไฟเพื่อกำจัดเชื้อเพลิงจำพวกเศษใบไม้หรือกิ่งไม้ โดยมีอุปกรณ์หลักๆ คือ ไม้กวาด คราด ไม้ตีไฟ และเครื่องเป่าลม  

ในป่าของจริง

จิตอาสาเพิ่มแหล่งอาหารและการจัดการไฟป่า ได้เลือกเอาพื้นที่ป่าชุมชนเขาแหลม อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นป่าชุ่มชนขนาดเล็ก แต่มีการดูแลจัดการป่าโดยกรรมการป่าชุมชนที่มีความเข้มแข็ง จึงได้เลือกเอามาเป็นพื้นที่ป่าต้นแบบในการทำแนวกันกันไฟ 

โดยกลุ่มอาสาสมัครเริ่มทำหน้าที่กันอย่างขะมักเขม้น ทุกคนแบ่งอุปกรณ์กันตามความถนัดและแบ่งหน้าที่กันก่อนหน้า โดยมีทั้งเครื่องเป่าลม ไม้กวาด อุปกรณ์ตัดกิ่งไม้ กวาดและเป่าใบไม้แห้งและเศษกิ่งไม้ออกไปจากเส้นทางที่จะใช้เป็นแนวกันไฟ โดยให้เส้นทางมีความกว้างประมาณ 2 เมตร 

ตลอดที่เส้นทางที่ทำแนวกันไฟระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร จะสังเกตเห็นว่า มีพืชที่สำคัญขึ้นอยู่ตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะปรง หากมีไฟป่าเกิดขึ้น พืชหรือสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งหายไป ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ก็จะตามมา  สุดท้ายผู้รับผลกระทบนั้นก็คือมนุษย์เอง

คนอยู่ได้ ป่าอยู่รอด สัตว์ป่าปลอดภัย

วันที่สองของกิจกรรม เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ร่วมกับกรรมการป่าชุมชนคลองห้วยหวาย อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ ทำการเติมเชื้อเห็ดในเขตป่าชุมชนคลองห้วยหวาย เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้ป่าชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้ และไม่บุกรุกพื้นที่ป่า ตามแนวทางการบริหารจัดการป่ากันชนให้ป่าใหญ่ ‘คนอยู่ได้ ป่าอยู่รอด สัตว์ป่าปลอดภัย’ โดยมีคุณอนุพงศ์ มะลิหอม ผู้จัดการเขตพื้นที่ สำนักงานเขตพื้นที่นครสวรรค์ ธนาคารไทยพาณิชย์ นำพนักงานจิตอาสา “SCB ชวนกันทำดี” เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

เช่นเดียวกันกับวันแรก วันนี้หัวหน้าเธียรวิชญ์ ได้บรรยายให้ความรู้ถึงวิธีการเพาะเชื้อเห็ด

โดยเชื้อเห็ดที่ใช้เป็นเชื้อเห็ดตับเต่า ใช้เพาะเชื้อกับต้นดอกโสน สแกนา ต้นไคร่ มะกอกน้ำ ต้นแค มะม่วง ลำไย ต้นหว้า ไผ่ ส่วนเชื้อเห็ดโคน เห็ดก่อ เห็ดไค เห็ดระโงก จะใช้กับต้น กุง พยุง พยอม สัก มะค่า ยางนา ยางเพียง ยางพวง 

หัวหน้าเธียรวิชญ์อธิบายถึงวิธีการปลูกว่าสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ขุดหลุมรอบๆ บริเวณโคนต้น ให้ลึก 10 เซนติเมตร จากนั้นก็วางก้อนเชื้อเห็ดลงในหลุม แล้วจึงราดน้ำเชื้อตามลงไปหลังจากวางก้อนเชื้อ กลบดิน แล้วจึงใช้เศษใบไม้กิ่งไม้คลุมบริเวณหลุมที่ลงเชื้อ จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม เห็ดจะออกช้าเร็วมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศสภาพแวดล้อมและปริมาณเชื้อเห็ดที่ใช้ ซึ่งหากดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่มีสารตกค้างในดิน จะใช้เวลาราวๆ 4 – 12 เดือน เราก็จะได้เห็นเจ้าเห็ดงอกงาม (เนื่องจากเป็นเห็ดป่าจึงใช้ระยะเวลานานหน่อย) ให้ชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์หาเห็ดได้ในปีหน้า 

จากกิจกรรมตั้งแต่การทำแนวป้องกันไฟป่า และการเติมเชื้อเห็ดในพื้นที่ป่า ล้วนเป็นเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน หากเราใช้วิธีการทางชีวภาพในการจัดการป้องกันที่ต้นตอของปัญหา นอกจากจะเป็นการช่วยให้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ยังคงอยู่ ยังได้สร้างความสมดุลในระบบนิเวศให้กลับฟื้นคืนมาอีกด้วย และผลที่เกิดขึ้นก็คืนก็คืนกลับมาสู่ตัวเรา สู่ชุมชน ได้พึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์แบบหมุนเวียนไปได้เรื่อยๆ

เรื่อง นางสาวสุธาสินี นุกูลกิจ