บางกลอยภูเขาน้ำแข็งแห่งความไม่เข้าใจ I ศศิน เฉลิมลาภ

บางกลอยภูเขาน้ำแข็งแห่งความไม่เข้าใจ I ศศิน เฉลิมลาภ

ได้รับคำถามเรื่องบางกลอย ซึ่งคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวเห็นสองฝ่ายโพสต์กันไปมา หลายท่านก็มาถามผมว่า “ความจริง” เป็นอย่างไรกันแน่ จริง ๆ เรื่องนี้ผมเองไม่ได้เข้าไปคลุกคลี แต่ก็ติดตามข่าวสารจากทั้งสองฝ่ายและตามข่าววงในมานิด ๆ หน่อย ๆ และคิดว่าเรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องหลากหลายฝ่ายอยู่แล้ว ผมให้ความเห็นอะไรก็คงไม่มีประโยชน์กับสถานการณ์ที่ค่อนข้างชุลมุน และผู้คนในโซเชียลก็เลือกที่จะรับสารเฉพาะที่ตรงกับความรู้สึก

บังเอิญสิ่งที่ผมรู้ ๆ มา มันอาจจะไม่ค่อยตรงกับความรู้สึกใคร เลยตั้งใจจะดูเหตุการณ์ไปเรื่อย ๆ ก่อน รอจังหวะที่น่าจะมีประโยชน์จะดีกว่า

ตอนนี้ก็มีข้อมูลทั้งสองด้านมากมายออกมาระดับหนึ่งแล้วก็น่าจะถึงเวลาที่ผมน่าจะพอให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นอะไรที่อาจจะเกิดประโยชน์ต่อสถานการณ์ได้บ้าง

เดิมที มีชุมชนปากะญอ กระจัดกระจาย อยู่หลายแห่งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตอนเหนือ อาจจะเกือบตลอดลำน้ำเหนือชุมชนโป่งลึก ทางต้นน้ำขึ้นไปเรียกว่าบางกลอย และลึกไปที่ไกลสุดชายแดนก็มีตำแหน่งเรียกว่าใจแผ่นดินในแผนที่กรมแผนที่ทหาร น่าจะมีคนอาศัยอยู่บ้าง เป็นชายแดนมาก ๆ  นอกจากนี้ก็มีชุมชนกระจายอยู่อีกรอบ ๆ ขอบ ๆ อุทยานฯ แต่ที่อยู่กลางป่าเลยก็ส่วนนี้แหละ

แผนที่ทหารปี 2455 ที่มีการระบุชื่อบ้านใจแผ่นดินอยู่ในแผนที่ ภาพจาก: www.the101.world

เคยนั่งรถเข้าไปที่โป่งลึกนี่ก็ทางลูกรังสองชั่วโมงมั้ง ไกลโขอยู่ พื้นที่หมู่บ้านเดิมตั้งแต่เหนือขึ้นไปทางต้นน้ำข่าวว่าเดินอีกวันสองวัน โดยหากไปถึงใจแผ่นดินชายแดนนี่ต้องไปอีกหลายวัน เป็นทางเดินเท้า

การประกอบอาชีพของชุมชนขณะนั้นถ้าเป็นพี่น้องปากะญอก็ต้องทำไร่หมุนเวียน คือการทำข้าวไร่บนที่ลาดชันเพราะเกือบทุกที่ก็อยู่บนเขาสูง ไร่หมุนเวียนมีข้าวและผักปลูกอยู่ด้วยกัน มีพริกที่เรารู้จักกันว่าพริกกะเหรี่ยงเป็นผลิตผลสำคัญ เนื่องจาก เป็นอย่างเดียวที่พอมีราคา พอมีราคาในที่นี้คือถ้าครอบครัวทำไร่ห้าไร่สิบไร่ จะมีพริกขายได้สักพันสองพันบาท ต้องทำพริกแห้งออกมาขายเอง นั่นคือรายได้ทั้งหมดต่อปีของการทำไร่หนึ่งครอบครัว แต่ชาวบ้านปากะญอเขาอยู่ได้เพราะไม่ต้องใช้เงินซื้ออะไร ลูกไม่ต้องเรียนหนังสือ มีข้าว ผัก ปลาในห้วย และล่าสัตว์ป่า ก็มีชีวิตรอดแล้วในสังคมตอนนั้น ป่วยเจ็บก็ตายไปตามปกติ มีลูกเยอะแต่ก็ตายเยอะ เท่าที่ทราบมีลูกสิบคนตายห้าคนนี่เรื่องธรรมดามาก ก็อยู่กันได้แบบสังคมบุพกาลนะครับ 

ส่วนทำไมต้องทำไร่หมุนเวียน ผมค่อนข้างเข้าข้างไร่หมุนเวียนนะครับ เพราะบนภูเขาเป็นที่ลาดชัน เวลาเปิดป่าหน้าดินจะถูกกัดเซาะลงห้วยไปหมด ทำข้าวซ้ำแทบไม่ได้ ไม่เหมือนคนที่ราบที่มีน้ำและตะกอนจากภูเขามาเติมให้หน้าน้ำหลาก ไร่หมุนเวียนจึงทำแค่ปีเดียว แล้วไปเปิดพื้นที่ใหม่ รอให้เป็นป่าไผ่ใหญ่ ๆ เกินห้าปีนั่นแหละ จึงจะพอมีหน้าดินเกิดจากการผุพังของพืชให้ทำไร่ข้าวกับพริก และผักได้ผลผลิตอีกครั้ง ถ้าชุมชนอยู่นาน ๆ ก็จะหมุนเวียนทำอยู่แถวรอบหมู่บ้าน นั่นแหละ คนน้อย ๆ อัตราการตายเยอะ ๆ ป่ายังเยอะ ก็ดีกว่าเปิดทำไร่ประจำ เพราะไร่ร้างปีสองปี ก็มีหญ้าขึ้นเต็ม สัตว์ป่าก็มาอาศัยอยู่ด้วยกัน กินกันมั่ง อะไรมั่ง ก็สมดุลไป

พริกกะเหรี่ยงที่ชาวบ้านตากให้แห้งส่วนหนึ่งไว้กิน ที่เหลือค่อยแบ่งขายทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

แต่มาถึงวันนี้เรื่องต้องล่าสัตว์และคงวิถีไร่หมุนเวียนในพื้นที่ใหม่นี่ก็ลำบากใจ เพราะชุมชนอื่น ๆ หลาย ๆ แห่งก็ต้องยอมเปลี่ยนวิถีกันมากแล้ว เพราะไม่มีรายได้พอกับสังคมปัจจุบัน หรือถึงทำก็เริ่มใช้ยาฆ่าหญ้ากันมาก ๆ

ในปี 2539 ก็ 25 ปีแล้ว ที่มีนโยบายอพยพชุมชนมารวมกันที่บ้านโป่งลึก เลยเรียกว่าโป่งลึก-บางกลอย เท่าที่ทราบมี 57 ครอบครัวที่อพยพมา โดยมีครอบครัวปู่คออี้มาด้วย

ตอนนั้นประชาชนเป็นพี่น้องปากะญอที่ไม่มีบัตรประชาชน ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ พูดไทยไม่ค่อยได้  นโยบายแก้ปัญหาชุมชนในป่าก็ไม่ชัดเจน ชาวบ้านคงไม่สามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้มาก

ตอนนั้นยังไม่มีมติครม. ออกมาตอนปี 2541 ที่ให้มีการสำรวจพื้นที่ชุมชนในป่า ที่ทำไม่เสร็จมายี่สิบกว่าปี แต่ก็พยายามควบคุมให้ไม่ขยาย แต่การอพยพบางกลอยมารวมโป่งลึกที่ทำก่อน มติครม. ที่ว่ามา

เท่าที่ทราบ ตอนนั้นการอพยพไม่ใช่เรื่องเหตุผลการอนุรักษ์ป่าเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องความมั่นคงชายแดน เส้นทางลำเลียงยาเสพติด และปัญหาที่มีชาวบ้านปากะญอฝั่งพม่าข้ามมาอยู่ด้วยอะไรทำนองนี้ การอพยพก็ทำโดยกรมป่าไม้ร่วมกับทหาร เท่าที่ทราบก็อพยพมาดี ๆ มีเหตุผลว่าจะหาที่ดินให้ และมีการยินยอมพร้อมใจให้เซ็นชื่อ คนรุ่นนั้นป่านนี้ก็อายุมาก ๆ กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ดังนั้นหากพอจะนึกภาพได้ พอปี 2541 ที่มีการสำรวจชุมชนในป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. 2541 การรับรู้อย่างเป็นทางการว่ามีชุมชนอยู่บริเวณไหน จึงจำกัดอยู่ที่หมู่บ้านใหญ่ที่รวมโป่งลึกกับผู้อพยพบางกลอย ชื่อโป่งลึก-บางกลอย ครับ กี่ครอบครัวทั้งหมดผมไม่ทราบ แต่ทราบว่ามีพื้นที่ไม่น่าจะพอในการทำไร่หมุนเวียน ตรงนั้นมีพื้นที่ราบพอสมควรก็มีการส่งเสริมเกษตรแบบใหม่ เช่น นาขั้นบันได ปลูกผลไม้ แต่เมื่อนานมาแล้วก็ยังไม่มีโครงการใหญ่อะไรไปช่วย บางครอบครัวก็ทำไร่หมุนเวียนอยู่รอบ ๆ บ้าง ทางอุทยานฯ ก็คงไม่เข้มงวดอะไรกับแนวเขตที่ยังไม่ได้สำรวจให้เรียนร้อย แค่ควบคุมไว้บ้าง

ต่อมาจากนั้นอีกสิบกว่าปี ชุมชนขยายไปมากมีคนมาอยู่ทั้งขยายจากครอบครัวแต่น่าจะน้อยกว่าผู้อพยพชาวปากะญอทั้งจากประเทศพม่า และชุมชนอื่น ๆ รอบป่า มากขึ้นโดยขาดการควบคุม ที่ดินก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นช่วงหนึ่งก็มีคนอพยพกระจายไปทำไร่ในป่าลึก ที่เคยอพยพมา ซึ่งรวมทั้งปู่คออี้ด้วย อุทยานฯ ก็จับบ้างอะไรบ้าง เตือนบ้างแต่ก็จัดการไม่ได้ผลเท่าไหร่ 

จนกระทั่งมาถึงยุคหัวหน้าชัยวัฒน์ที่เป็นข่าวบ่อย ๆ ถ้าผมจำไม่ผิดก็ราว ๆ 54-55 ราว ๆ เกือบสิบปีมาแล้ว ก็ไปจัดการอพยพชาวบ้านกลับมาอีกครั้ง และตอนนั้นมีโครงการปิดทองหลังพระเข้าไปช่วย เหตุผลที่อพยพคราวนี้น่าจะทั้งเรื่องอนุรักษ์และอยู่นอกมติ ครม.41 และฟังมาว่ามีเหตุผลด้านความมั่นคง ยาเสพติด และการหลบเข้าประเทศไทยจากฝั่งพม่าด้วย

หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ ฮ.ทหารตกหลายลำและหัวหน้าชัยวัฒน์ก็โด่งดังจากการทำงานนำศพเจ้าหน้าที่กลับบ้าน

การอพยพครั้งนั้น เกิดภาพการเผายุ้งข้าวลงในหนังสือพิมพ์ และมีคดีฟ้องร้องหัวหน้าชัยวัฒน์ ซึ่งมีคำพิพากษาเมื่อไม่นานมานี้ว่ากระทำเกินกว่าเหตุ ทางแพ่งให้ชดเชยเยียวยา ทาง ป.ป.ท. ออกข่าวว่ามีความผิดร้ายแรง 

แต่ในคำพิพากษาชัดเจนว่าแม้จะมีเหตุการณ์เกินกว่าเหตุดังกล่าวแต่ชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิทางกฎหมายที่จะกลับไปอยู่ได้

ในระหว่างนี้หัวหน้าก็มีข่าวพัวพันการฆาตกรรมนายบิลลี่ ซึ่งเป็นชาวบ้านปากะญออีกหมู่บ้านหนึ่งแต่ฟังมาว่าบิลลี่มีกิจกรรมชอบไปช่วยเหลือชาวบ้านโป่งลึก และทราบว่าบิลลี่นี้น่าจะเป็นญาติปู่คออี้ แต่อยู่ชุมชนที่ออกมาอยู่หมู่บ้านขอบป่าแล้ว ฟัง ๆ ดูคล้ายกับเขาก็มีเรื่องไม่ถูกกันกับหัวหน้าชัยวัฒน์ส่วนตัวอยู่เรื่อย ๆ เช่นการร้องเรียนอะไรต่าง ๆ เมื่อบิลลี่หายไป และพบว่าคนพบบิลลี่สุดท้ายคือหัวหน้าชัยวัฒน์ ก็มีการกล่าวหาดำเนินคดี

แต่ในที่สุดก็ไม่มีหลักฐานเอาผิดหัวหน้าชัยวัฒน์ และน่าจะยกฟ้องกันไป

แต่มีข่าวการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ภรรยาและลูก ๆ ของบิลลี่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ห้าหกปีที่ผ่านมาเปลี่ยนหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานใหม่สองรุ่น ผมทราบว่ากรมอุทยานฯ พยายามหาคนที่มีประสบการณ์ทำงานแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนไปทำงานก็ผ่านมาสองรุ่นคือ หัวหน้ากมล นวลใย และหัวหน้ามานะ เพิ่มพูล คนปัจจุบัน ทั้งสองคนเป็นมือดี ทำงานมีส่วนร่วมกับชุมชนมาตลอด ซึ่งข่าวความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับอุทยานฯ ก็ลดลง

เหลือแต่ข่าวการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ครอบครัวบิลลี่ แต่มีเชื่อมโยงไปถึงเรื่องปู่คออี้ และคดีเผายุ้งข้าวบ้าง

ผมเคยทราบข้อมูลจากหัวหน้ามานะ ว่ามีชาวบ้านแอบเดินกลับไปทำไร่ในป่าลึกบ้าง แต่ไปทีละไม่กี่คน ก็ไปตามกลับมาได้

ในช่วงปี 2560-2562 เป็นช่วงเวลาแห่งการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเรื่องชุมชนในป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทั้งอนุโลมสำรวจขอบเขตที่ทำกินที่ปรากฏร่องรอยมาถึงปี 2557 ตามคำสั่ง คสช.66/2557 และนำแปลงสำรวจที่ไม่เสร็จจากมติครม.41 มารวมด้วย และทำแผนที่ขอบเขตชุมชนสี่พันกว่าแห่งในอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศเสร็จสิ้นเมื่อต้นปี 2562 

ดังนั้นหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย และหมู่บ้านอื่น ๆ ก็ถูกสำรวจรวมในครั้งนี้ด้วย แต่ไม่สามารถสำรวจในพื้นที่บางกลอยบนใจแผ่นดินได้ เพราะถือว่าชุมชนถูกอพยพมาก่อนแล้ว จนกระทั่งกลางปี 2562 มี พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ออกมา มีบทเฉพาะกาลให้สำรวจที่ดินชุมชนในป่าตามข้อมูลดังกล่าว ให้แล้วเสร็จอีกครั้งใน 240 วัน ซึ่งอุทยานฯ แก่งกระจานก็ได้สำรวจเพิ่มเติม ไปเมื่อกลางปี 2563 เสร็จตามเงื่อนไขของกฎหมาย แต่นั่นก็ไม่สามารถไปรวมพื้นที่นอกเหนือจากโป่งลึก-บางกลอยได้ เพราะเกินอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า และไม่มีการทำกินมานานแล้ว

ชุมชนที่ผมทำงานด้วยในป่าตะวันตก ยังทำไร่หมุนเวียนได้ทั้งโผล่ว และปากะญอ เพราะมีโครงการสำรวจมาอย่างต่อเนื่อง และควบคุมขอบเขตไว้ในบริเวณที่รู้กันว่าอยู่รอบหมู่บ้านเก่าแก่จริง ๆ ที่สำคัญคือทำกินก่อนปี 57 และสำรวจอยู่ในขบวนปี 62-63 ตามพ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ศ.  2562

ในขณะที่ทำการสำรวจ และดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินในขั้นตอนต่อไปคือการสำรวจสำมะโนประชากรอย่างละเอียด และออกอนุบัญญัติที่อยู่ในขั้นตอนการทำงานรวมถึงออกพระราชกฤษฎีกาแนวเขตชุมชน ก็มีเหตุการณ์โควิดเกิดขึ้น มีหนุ่มปากะญอที่เป็นลูกหลานของผู้อพยพในครั้งนั้นบางส่วนที่มาทำงานในเมืองและตกงาน กลับไปที่หมู่บ้านก็ไม่มีที่ทำกิน รวมกับคนที่มีปัญหาเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินที่ฟังเหตุผลว่าดินไม่ดี และไม่พอกับครอบครัวขยาย ได้รวมตัวกันขึ้นไปฟันไร่ โดยจะกลับไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ที่บรรพบุรุษเคยทำ เท่าที่ทราบมาคนส่วนใหญ่ที่ขึ้นไปก็เป็นรุ่นใหม่ที่ไม่เคยทำไร่บริเวณนั้นเพราะนานแล้ว หรือจะมีคนที่เคยทำบ้างหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ

พื้นที่ที่ขึ้นไป เรียกว่าบางกลอยบน ยังอีกไกลกว่าจะถึงใจแผ่นดิน ดูจากภาพถ่ายทางอากาศก็อาจจะเป็นไร่ซากเก่านานแล้ว พื้นที่อุดมสมบูรณ์ติดลำห้วย

นี่คือข้อมูลเท่าที่ผมทราบมา

ดังนั้นในความเห็นของผมแล้ว มันก็ลำบากที่จะให้ใครมีสิทธิอนุญาตให้ชาวบ้านไปฟันป่านอกแนวเขตการสำรวจตามกฎหมายที่ผ่านมาหลายขั้นตอนแล้ว ไม่มีใครมีอำนาจอนุญาตได้แน่ ยกเว้นจะมีมติยกเว้นเป็นมติคณะรัฐมนตรี แต่ดูจากเรื่องราวแล้วก็น่าจะถกเถียงกันอีกมาก เพราะการสำรวจพื้นที่ชุมชนในป่าอนุรักษ์ราว ๆ 5 ล้านไร่ทั่วประเทศ ก็ถือว่าอนุโลมกันมากและมีข้อถกเถียงกันมากมายกว่าจะลงตัวที่แนวเขตสุดท้ายปี 57 

สภาพทางกฎหมายแล้วชาวบ้านมาเปิดไร่หมุนเวียนในปี 63-64 นี่มันหลังการสำรวจมาแล้ว ผมเองก็ไม่ทราบว่าจะมีทางไหนที่จะให้ทำกินได้ จะเป็นไร่อะไรก็ตามไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

ทางออกเรื่องนี้เท่าที่ทราบตามประสบการณ์ที่ทำงานเรื่องนี้มา มีสามทาง

  1. เอาตามกฎหมายตรง ๆ ก็ต้องจับชาวบ้านที่ออกนอกแนวเขตทั้งหมดดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดโทษรุนแรงมาก ปรับขั้นต่ำสุดหลายแสนบาทและจำคุกด้วยสี่ปี  ซึ่งชาวบ้านหมดอนาคต เดือดร้อนมากแน่ ๆ และจะขยายผลความขัดแย้งร้าวลึกกับองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องนี้

“ บทลงโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 

มาตรา 41  ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วย ประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19 (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึง ยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีความผิดตามวรรคหนึ่ง ถ้าได้กระทำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หรือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ตามที่ คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศหรือความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้กระทำ ต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งกึ่งหนึ่ง”

  1. ประนีประนอม เจรจาขอให้ลงมาพร้อมจัดที่ดิน และตั้งกองทุนช่วยเหลือตามสมควรให้พอรับได้ การดำเนินคดีก็ผ่อนให้เบา ให้ช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่ และพยายามเห็นใจชาวบ้านว่าขาดเจตนา รู้เท่าไม่ถึงการณ์อะไรก็ช่วยกัน ตามหลักมนุษยธรรม เอาชาวบ้านติดคุกไปอีกสามสิบคนก็ไม่มีประโยชน์อะไร เงินค่าปรับอะไรก็ไม่มี
  2. ยอมให้ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่เปิดใหม่ โดยควบคุมมิให้ขยายไปก่อน แต่ต้องมีโครงการจากกรมอุทยานฯ โดยอ้างกฎหมาย หรือหามติ ครม.อะไรมารองรับ ซึ่งวิธีนี้เสียป่าที่นี่ไม่มาก เพราะไร่หมุนเวียนถ้าไม่เปลี่ยนเป็นไร่ประจำ สัตว์ป่าก็มาใช้พื้นที่ได้ แต่การห้ามชาวบ้านไม่ให้ล่าสัตว์และอยู่อย่างบุพกาลตลอดก็เป็นเรื่องยากมาก นอกจากนี้มีปัญหาตามมาจาก โมเดลนี้อาจจะทำให้การทำงานสำรวจแนวเขตตาม พ.ร.บ.ใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เรียบร้อยแล้วอาจจะปะทุปัญหาเอาอย่างกันได้อีกมาก อีกอย่างหากชาวบ้านได้อยู่ที่นี่ก็จะมีความขัดแย้งและฟ้องร้องเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอีกฝ่ายว่าย่อหย่อนให้ทำลายป่าอีก และอยู่ป่าลึกในวันนี้มันไม่เหมือนในอดีตที่มีข้าว เกลือ พริก ก็พอกิน หมู่บ้านกลางป่าลึกกับชาวบ้านรุ่นใหม่ มีวิถีไปกันยาก และคงต้องช่วยเหลือตัดถนนหนทางสร้างโรงเรียนอะไรกันอีกเยอะถ้าจะให้อยู่ได้จริง

ส่วนตัวผม ผมเชียร์ข้อสองครับ แต่เชียร์อย่างเดียว ไม่ได้ไปยุ่งอะไรด้วยตรง ๆ นะครับ

กระทรวงทรัพย์ฯ กรมอุทยานฯ และองค์กรต่าง ๆ ว่ากันไปครับ แต่หวังว่าจะมีทางออกที่ดีที่สุดครับ สงสารชาวบ้านที่เคว้งอยู่ตรงกลางความขัดแย้งครับ

 

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)