หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ 293 แห่งทั่วประเทศ รับมอบเครื่องมือจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ฯ เพื่อป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้

หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ 293 แห่งทั่วประเทศ รับมอบเครื่องมือจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ฯ เพื่อป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้

วันจันทร์ ที่11 ก.พ.2562 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดการประชุมเพื่อมอบหมายการปฏิบัติงานและลงนามบันทึกข้อตกลงการมอบหมายให้ปฏิบัติงานในการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๔ อาคารสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด กรุงเทพมหานคร

ภายในงานมีอุทยานแห่งชาติ จำนวน 154 แห่ง เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า จำนวน 62 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 77 แห่ง รวมทั้งสิ้น 293 แห่งทั่วประเทศ พิธีรับมอบระหว่างอธิบดีกรมอุทยานฯกับหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้เกียรติเป็นพยานในการรับมอบครั้งนี้

 

 

สืบเนื่องจากคำสั่ง คสช. ที่66/2557  ให้ดำเนินการจัดการพื้นที่ป่า และพื้นที่ทำกิน โดยไม่กระทบต่อผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยในพื้นที่เดิมนั้นๆ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีนโยบาย “การจัดการป่าไม้ไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยได้วางกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แก่ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งก่อนและหลังมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินหน้าสำรวจการครอบครองที่ดิน ภายใต้แผนปฏิบัติงาน “การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ”

 

 

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เราแก้ปัญหาการจัดการป่าที่เกิดขึ้นมานาน วันนี้เราคุยกันเพื่อไปสู่อนาคต  ซึ่งเราต้องมีทัศนคติเชิงบวกต่อกัน

พลเอกสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า การออกคำสั่งต่างๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ทำให้จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.อุทยาน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเรื่องของการแก้ไขปัญหาชุมชนในป่าโดยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม ทั้งเจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน และองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยการวางกติการ่วมกัน โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯสามารถดูแลรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ตามเป้าหมาย ประชาชนมีพื้นที่ทำกิน และช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทำให้นำไปสู่การจัดการพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน

 

 


เรียบเรียงโดย เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า wildlife conservation bureau, thailand