สืบสานงานอนุรักษ์ สืบ นาคะเสถียร

สืบสานงานอนุรักษ์ สืบ นาคะเสถียร

แผนที่ใบเก่าในกรอบกระจกไม้ที่แขวนไว้บนผนังห้องทำงานของเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถือเป็นหนึ่งในมรดกสำคัญชิ้นหนึ่งของสืบ นาคะเสถียร 

ความสำคัญนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะครั้งหนึ่งมันเคยเป็นสมบัติของสืบ บุคคลที่ถูกยกย่องเป็น ‘ตำนานนักอนุรักษ์’ มาตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา 

แต่เป็นเพราะรายละเอียดภายในแผนที่ ที่สืบได้ลากปากกาขีดกรอบพื้นที่อนุรักษ์หลายสิบแห่งไว้ในขอบเขตเดียวกัน หรือที่รู้จักในชื่อกลุ่มป่าตะวันตก 

ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าว่า “หากจะรักษาป่าทุ่งใหญ่แและห้วยขาแข้งให้คงความอุดมสมบูรณ์อยู่ได้นั้น นอกจากเสนอให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุน การดูแลรักษาพื้นที่จากนานาชาติ และการดูแลพื้นที่อย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนแล้ว ควรต้องรักษาผืนป่าที่อยู่โดยรอบพื้นที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วยเช่นกัน” 

จนในที่สุดกลายมาเป็นพื้นที่เป้าหมายในการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เกิดโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก โครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า โครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ รวมถึงขยับไปยังพื้นที่ป่ากันชนอย่างโครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

และในงานเฝ้าระวังโครงการผลกระทบที่มีผลต่อผืนป่า สัตว์ป่า และระบบนิเวศ ผืนป่าตะวันตกก็ถือเป็นบ้านหลังสำคัญที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเฝ้าปกป้องมาโดยตลอด 

ไม่ว่าจะเป็น คัดค้านโครงการก่อสร้างท่อก๊าซไทย-พม่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เหมืองแร่บริเวณทุ่งใหญ่นเรศวรและผืนป่าโดยรอบ การก่อสร้างบ้านพักกลางป่าห้วยขาแข้งบริเวณเขาบันได การตัดถนนคลองลาน-อุ้มผาง ขอให้ยกเลิกการสร้างถนนผ่านป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โครงการขุดอุโมงค์ส่งน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ การต่ออายุใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าของเหมืองโมนิโก้ที่ต้องใช้เส้นทางขนส่งแร่ผ่านทุ่งใหญ่นเรศวร ทักท้วงการเปลี่ยนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางบริเวณน้ำตกทีลอซูเป็นอุทยานแห่งชาติ ไปจนถึงเป็นร่วมกันกดดันด้วยมาตรการทางสังคม ต่อเหตุการณ์ผู้มีชื่อเสียงในสังคมเข้าไปยิงเสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

ขณะเดียวกัน ผืนป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ที่สืบได้พยายามผลักดันให้เป็นผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติได้สำเร็จ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งมรดกที่ถูกสานต่อ 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสองแห่งมานับแต่วันแรกก่อตั้งองค์กร เรื่อยมาจนถึงยุทธศาสตร์การทำงานในปัจจุบัน ที่ยังคงให้ความสำคัญกับผืนป่าทั้งสองแห่งไว้เป็นอันดับแรก 

ดังรายละเอียดที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ ที่ 1 ของการทำงานว่า มูลนิธิจะสนับสนุนการดำเนินงานเชิงพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ฯ ให้คงคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล โดยนำแนวทางการจัดการร่วมระหว่างผืนป่า สัตว์ป่า และชุมชน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล พร้อมสร้างความตะหนัก การมีส่วนร่วมกันในการบริหารจัดการกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการร่วมกันของประเทศไทย 

เรื่องที่ว่ามาเป็นตัวอย่างผลงานที่สืบฝากไว้ และสิ่งที่ถูกสานต่อ เป็นรูปธรรมที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้ เช่นเดียวกับงานวิชาการ บทความ ภาพถ่าย ภาพวาด หรือแผนการจัดการต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นผลงานของสืบ นาคะเสถียร

แต่การจากของสืบ ยังมีอีกหลายสิ่งที่อาจไม่ได้เป็นการฝากไว้โดยตรง แต่เราสามารถจับต้องได้จากสิ่งที่สืบเป็น หลายๆ การกระทำถือเป็นแบบอย่าง และสอนบทเรียนให้เราเห็นว่าการทำงานอนุรักษ์ควรทำอย่างไร 

สืบสอนเราว่าการคัดค้านต้องทำอย่างมีเหตุผล ใช้วิชาการ และข้อมูลเชิงประจักษ์ เป็นตัวนำ

สืบไม่ได้คัดค้านโดยใช้อารมณ์ แต่ใช้ข้อมูลวิชาการ ข้อเท็จจริง เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ เช่น การคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน ที่ถอดบทเรียนมาจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน อธิบายข้อมูลให้เห็นว่า เราจะพบการสูญเสียมากแค่ไหน หากมีการสร้างเขื่อนในผืนป่าสมบูรณ์ 

เรื่องนี้ให้บทเรียนแก่เราว่า การอนุรักษ์ไม่ใช่แค่พร่ำบอกว่า ‘ไม่เอา’ แต่ต้องมีเหตุผล มีงานวิจัย และมีความรู้ประกอบ ต้องมีข้อมูลสนับสนุน ไม่ใช่แค่ความหวังดี หรือใช้เพียงความรู้สึก

สืบสร้างการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ

สืบมักใช้ทั้งงานเขียน บทความ ภาพถ่าย และการพูดในเวทีสาธารณะเพื่อถ่ายทอดคุณค่าของธรรมชาติ เขาเชื่อว่าต้องรีบเร่งให้การศึกษาให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของผืนป่า สืบจึงให้ความสำคัญกับงานเผยแพร่มาก และจะลงมือ ออกแบบงานนิทรรศการ เขียนโปสเตอร์ เขียนบอร์ดด้วยตนเอง หากไม่ดีก็ทำใหม่ และภาพที่ใช้ล้วนเป็นภาพสวยงามจากฝีมือของเขา

หรือสรุปสั้นๆ ว่า นักอนุรักษ์ต้องเป็นนักสื่อสารที่ดี สร้างภาพจำให้คนทั่วไปเข้าใจและรู้สึกถึงความสำคัญของผืนป่าและสัตว์ป่า

สืบทำงานในระบบราชการอย่างซื่อตรง

เหมือนกับบทเพลงของวงคาราบาว ที่เขียนคำร้องไว้ว่า “สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย” 

แม้สืบจะทำงานอยู่ในระบบของกรมป่าไม้ แต่ยังคงรักษาอุดมการณ์อย่างมั่นคง ไม่ประนีประนอมกับอำนาจหรือผลประโยชน์ที่ละเมิดต่อธรรมชาติ และมักออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกรมป่าไม้อยู่หลายครั้ง 

“คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน ของนี้จะใส่ในมือซ้ายหรือมือขวาดี ถ้าใส่มือขวา มือซ้ายก็อด”

“ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”

การที่ในองค์กรมีบุคคลากรที่มีความกล้าหาญและยึดมั่นในหลักการ ย่อมแสดงออกมาให้เห็นได้ว่า ระบบ (ที่ไม่ดี) สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

สืบเป็นคนที่ เสียสละและยืนหยัด

เขาแสดงให้เห็นว่า การปกป้องธรรมชาติต้องอาศัยความเสียสละ อดทน และแม้กระทั่งยอมรับความเสี่ยงในชีวิตส่วนตัว ดังเช่นช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ห้วยขาแข้ง สืบมีค่าหัวราว 5,000 บาท เวลาต้องเข้าไปค้างแรมในป่าเขามักไม่บอกใครว่าตัวเองจะนอนตรงไหน บางครั้งก็กางเต็นท์ทิ้งไว้เปล่าๆ แล้วพาตัวเองไปนอนที่อื่น

หรือเมื่อเงินเดือนลูกน้องไม่ออก สืบเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้นไว้เอง หยิบยืมจากทางบ้านบ้าง 

สืบสอนบทเรียนกับเราว่า นักอนุรักษ์จำเป็นต้องมี ‘หัวใจ’ ต้องยืนหยัด แม้ตกอยู่ในสถานะที่ถูกกดดันหรือไม่มีใครสนับสนุน

นอกจากนี้ สืบยังทำงานด้วยวิธีบูรณาการภาคีเครือข่าย

แม้บางช่วงบางตอนในประวัติชีวิตการทำงานเหมือนเขาจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง แต่ในงานออกมาเป็นแนวหน้าทำงานอนุรักษ์ สืบจะทำงานร่วมกับหลายๆ คน และหลายสายงานอย่างสม่ำเสมอ เขาทำงานทำงานร่วมกับนักวิชาการ สื่อมวลชน นักกิจกรรม และประชาชนอย่างเปิดกว้าง

ไม่อย่างนั้นเราคงไม่เห็นนิตยสารสารคดีฉบับ ‘อพยพสัตว์ป่า ไม่มีพรุ่งนี้สำหรับลมหายใจ’ หรือไม่เห็นภาพการปั้มหัวใจกวางที่กัดกินความรู้สึกทุกครั้งที่ได้ชมในสารคดีส่องโลกของโจ๋ย บางจาก 

เช่นเดียวกับการคัดค้านเขื่อนน้ำโจน ที่สืบเป็นเหมือนฟันเฟืองหนึ่งของเรื่องราวที่หมุนไปพร้อมๆ กับนักวิชาการคนอื่นๆ เครือข่ายภาคประชาชน นักศึกษา ทั้งในท้องถิ่นและขยับมาไกลถึงเมืองหลวงประเทศไทย จนเกิดผลสัมฤทธิ์ของการ ‘หยุดเขื่อน’ 

บทเรียนเหล่านี้ ถือเป็นมรดกอีกมุมของสืบ คือต้นธารของงานสืบสานงานอนุรักษ์ และสามารถนำมาปรับใช้เป็นจุดเริ่มต้น เมื่อประสงค์สืบสานงานอนุรักษ์ อย่างสืบ นาคะเสถียร

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม