ในโลกที่สิทธิเสรีภาพควรเป็นรากฐานของประชาธิปไตย เสียงของประชาชนที่วิพากษ์ ตรวจสอบ หรือตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐหรือทุน ควรได้รับการคุ้มครอง แต่ในความเป็นจริง เสียงเหล่านี้กลับมักเผชิญกับคดีความที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ‘ปิดปาก’ หรือที่ถูกเรียกกันว่า ‘SLAPP’
‘SLAPP’ คืออะไร คำนี้ย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation หมายถึง การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะ เป็นการฟ้องร้องโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ ‘ระงับ’ หรือ ‘ขัดขวาง’ การวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นสาธารณะ หรือเพื่อขัดขวางกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์สำหรับผู้ฟ้องคดี
หรือกล่าวได้ว่า เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการคุกคามหรือข่มขู่ผู้ที่ใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมทางสังคมหรือทางการเมือง
สิ่งที่ตามมาเมื่อมีการฟ้อง SLAPP คือ ‘ภาวะชะงักงัน’ ต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไปจนเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวต่างๆ รวมถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่นๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
โดยทั่วไป ลักษณะของคดีจะเป็นไปในในท่าทีของ ผู้ฟ้องเป็นบุคคลหรือองค์กรที่มีอำนาจหรือทรัพยากร จำเลยมักเป็นประชาชน นักเคลื่อนไหว นักข่าว หรือผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการกระทำเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เช่น การเปิดโปงคอร์รัปชัน การประท้วง การเขียนบทความ หรือการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย
คดีที่ถูกนำมาใช้มักเป็นข้อหา หมิ่นประมาททางอาญาและแพ่ง การละเมิดแพ่ง ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การชุมนุมยั่วยุปลุกปั่น แม้บางครั้งข้อกล่าวหาอาจไม่หนักหนา แต่ผู้ถูกฟ้องจะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และอาจเผชิญความกลัวหรือแรงกดดันจนยอม ‘เงียบ’
ซึ่งคงไม่เกินเลยไปนักถ้าจะกล่าวว่า SLAPP เป็นการฟ้องโดยที่ผู้ฟ้องไม่ได้หวังชนะคดีเป็นหลัก แต่หวังใช้ ‘กระบวนการทางกฎหมาย’ เป็นเครื่องมือข่มขู่ เพื่อให้ผู้ถูกฟ้อง ‘ถอย’ จากการมีส่วนร่วมในการประท้วง โพสต์ข้อความหรือวิจารณ์
ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีการฟ้องในลักษณะ SLAPP ขึ้นหลายครั้ง เช่น บริษัทเหมืองทองรายหนึ่งฟ้องหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายชาวบ้านที่ออกมาร้องเรื่องผลกระทบจากเหมืองทองสูงถึง 50 ล้านบาท นักข่าวพลเมืองที่ยังเป็นเยาวชน เหตุรายงานข่าวเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ
หรือในต่างประเทศ เช่น กรณีบริษัทปาล์มน้ำมันอินโดนีเซียฟ้องนักข่าว ที่รายงานว่าบริษัทใช้แรงงานผิดกฎหมายและมีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น โดยโดนบริษัทฟ้องหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายจำนวนมาก หรือกรณีนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม ช่วยดำเนินคดีให้ชาวบ้านเอกวาดอร์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลของบริษัทน้ำมันรายหนึ่ง แต่ถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องกลับในข้อหาฉ้อโกง และทำให้เขาถูกจำกัดสิทธิหลายด้าน พร้อมๆ กับทำลายความน่าเชื่อถือของคนที่ออกมาปกป้องสิทธิ
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจำต้องยอมถูกจำกัดสิทธิเสมอไป ในอีกด้านหนึ่ง หลายๆ ประเทศได้สร้างกลไกป้องกัน SLAPP ขึ้นมาเช่นกัน เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และบางประเทศในยุโรป มี กฎหมาย Anti-SLAPP เพื่อให้ศาลสามารถยกฟ้องคดีที่มีลักษณะเช่นนี้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่น กฎหมาย Anti-SLAPP Statute ของรัฐแคลิฟอร์เนีย อันมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่า “เพื่อปกป้องบุคคลจากการถูกฟ้องร้องในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เช่น เสรีภาพในการพูด การรวมตัว และการยื่นคำร้องต่อรัฐบาล”
โดยแก่นหลักของกฎหมาย คือการเปิดช่องให้ผู้ถูกฟ้องสามารถยื่นคำร้องพิเศษต่อศาลได้ เพื่อขอให้ยกฟ้องโดยเร็ว ก่อนไปถึงขั้นตอนพิจารณาคดีเต็มรูปแบบ
เป็นต้นว่า หากจำเลยเชื่อว่าตนถูกฟ้องเพื่อปิดปาก (เช่น หมิ่นประมาทจากการวิจารณ์) จำเลยสามารถยื่นคำร้องพิเศษเพื่อขอให้ศาลยกฟ้องคดีได้ตั้งแต่ต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ตนทำ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ และหากโจทก์ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า คดีของตนมีโอกาสชนะโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลสามารถยกฟ้องได้
รวมถึงเรื่องที่ว่าจำเลยมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่พูดหรือกระทำ เช่น การประท้วง การพูดในที่สาธารณะ หรือการยื่นร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐ ถูกคุ้มครองในฐานะสิทธิพลเมือง
สำหรับประเทศไทย คำว่า SLAPP เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากคดีความจำนวนมากที่เกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้าน หรือสื่อที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ก็เริ่มมีการวางกรอบการป้องกัน SLAPP ขึ้นโดยอาศัย มาตรา 161/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อนุญาตให้ศาลยกฟ้องคดีความหากความปรากฏต่อศาลว่าโจทก์ (ในคดีราษฎรเป็นโตทก์) “ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือโดยบิดเยือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ
และมาตรา 165/2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อนุญาตให้จำเลยในขั้นไต่สวนมูลฟ้องยื่นหรือแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘คดีไม่มีมูล’
หรืออธิบายได้ว่า ศาลจะมีขั้นตอนหนึ่งในการตรวจสอบเบื้องต้นว่า คดีนี้มีเหตุอันควรสงสัยจริงไหม มีหลักฐานเพียงพอไหม หรือฟ้องมั่วๆ มาแค่เพื่อรังแก เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยชี้แจงกับศาลตั้งแต่ต้น ว่าคดีที่ถูกฟ้องนั้น ‘ไม่มีมูล’ หรือ ‘โดนกลั่นแกล้ง’ ซึ่งศาลสามารถยกฟ้องได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาสืบพยานจนถึงศาลเต็มคดี
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้มีความเห็นจากฟากสื่อมวลชนมองว่า มาตราการทางกฎหมายดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ด้วยเหตุหลายประการ ได้แก่ เพราะไม่มีการให้คำจำกัดความที่ชัดเจนของคำว่าไม่สุจริตหรือขาดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ โดยชัดแจ้ง ผู้พิพากษาจึงยังสามารถสั่งึดีได้โดนคู่ความอาจไม่มีโอกาสได้โต้แย้ง รวมทั้งยังจำกัดเฉพาะคดีอาญาที่มีราษฎรเป็นโจทก์เท่านั้น แต่ไม่สามารถใช้กับคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ได้
ซึ่งผ่านมา องค์กรสื่อ อาทิ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ไทยพีบีเอส Decode เคยเสนอวิธีการจัดการ SLAPP ระบุประเด็นสำคัญไว้ 4 ข้อ ประกอบด้วย
1. รัฐสภาและรัฐบาลควรออกกฏหมายและนโยบายต่อต้านการฟ้องคดี SLAPP รวมถึง ทำการทบทวนและสร้างความเข้มแข็งต่อกรอบกฎหมาย การป้องกันคดี SLAPP ในปัจจุบัน โดยกฎหมายดังกล่าวควรป้องกันบุคคลต่างๆ จากการถูกฟ้อง SLAPP ตั้งแต่แรกอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดช่องให้ศาลวินิจฉัย เรียก และยกฟ้องคดีได้โดยเร็วนับตั้งแต่มีการฟ้องคดี พร้อมทั้งประกันกระบวนการโดยชอบธรรมแก่ทั้งฝ่ายผู้ฟ้อง และผู้ถูกฟ้องคดี
2. รัฐสภาและรัฐบาลควรดำเนินการจำกัดประเภทของการกระทำซึ่งเป็นพื้นฐานของ SLAPP โดยรวมถึงการยกเลิกและแก้ไขบทปัญญัติกฎหมาย ที่เอื้อต่อการดำเนินคดีอาญาหรือจำากัดสิทธิเสรีภาพแห่งการแสดงออกหรือเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างไม่เหมาะสม
3. คู่ความควรสามารถเข้าถึงกระบวนการระงับข้อพิพาทในรูปแบบอื่น นอกเหนือจากการดำเนินคดีแบบเดิมได้ เช่น กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การระงับข้อพิพาท ทั้งในและนอกศาล โดยกระบวนการทางเลือกดังกล่าวจะต้องดำเนินการผ่านตัวแทนที่มีความเป็นอิสระ รวมถึงประกันหลักสิทธิมนุษยชนของคู่กรณี และรับประกันว่าคู่กรณีจะสามารถสู้คดีความและเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน
4. รัฐบาลควรดำเนินการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการ SLAPP ความอันตรายและแนวทางการป้องกัน ทั้งแก่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมและประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจไม่ได้รับทราบข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เป็นอันตรายนี้
ประเด็นของ SLAPP ไม่ใช่แค่คดีความธรรมดา แต่เป็นเครื่องมือทางอำนาจที่บั่นทอนประชาธิปไตยจากรากฐาน การป้องกันต้องอาศัยทั้งกฎหมายเฉพาะ ที่เปิดช่องให้ยกฟ้องอย่างรวดเร็ว ทัศนคติของศาลและสังคม ที่ตระหนักถึงเจตนาของการใช้คดีเป็นเครื่องมือกดดัน และ ความกล้าที่ไม่ยอมจำนน
อ้างอิง
- SLAPPs: The Greatest Free Expression Threat You’ve Never Heard Of?
- การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในประเทศไทย (SLAPP)
- Chevron’s pursuit of US lawyer Steven Donziger
- ‘คดีซุ้มประตู 50 ล้าน’ ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับเหมืองทอง เรียกค่าเสียหาย 1.7 ล้าน
- บริษัททุ่งคำฟ้องนักข่าวเยาวชนและไทยพีบีเอส
- Code of Civil Procedure – CCP
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม