ถึงเวลารีเซ็ต พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ เมื่อ EIA กลายเป็นช่องโหว่ ประชาชนไร้การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ถึงเวลารีเซ็ต พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ เมื่อ EIA กลายเป็นช่องโหว่ ประชาชนไร้การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ในยุคที่การพัฒนาถูกขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ บ่อยครั้งที่ธรรมชาติต้องเป็นฝ่ายถอยร่น คำถามที่สำคัญจึงเกิดขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรมี พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับใหม่ ที่รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง บทสนทนากับอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายสิ่งแวดล้อม

เหตุใดจึงต้องมี พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่

อรยุพา ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ชัดเจนในการขอใช้พื้นที่ป่า ที่มักจะเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นร้อยโครงการ ราวกับเป็นแพ็กเกจที่ยากจะรับมือ หากต้องต่อสู้เป็นรายโครงการ สังคมแทบจะไม่มีทางหยุดยั้งได้ ปัญหาหลักอยู่ที่ กระบวนการรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งควรจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลับกลายเป็นช่องโหว่ให้โครงการขนาดใหญ่ผ่านการพิจารณาได้โดยง่าย รายงาน EIA หลายฉบับมีการศึกษาที่ไม่ครอบคลุม ใช้ข้อมูลเดิม คัดลอกเนื้อหาจากโครงการอื่น และที่น่ากังวลที่สุดคือ การที่เจ้าของโครงการสามารถว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาได้เอง ทำให้การศึกษาขาดความเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง

ความล้มเหลวของ EIA ทำให้เกิดความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายตั้งแต่รากฐาน แม้จะมีการปรับปรุงร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2561 แต่ประเด็นสำคัญอย่างการมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล และความรับผิดของเจ้าของโครงการที่ก่อผลกระทบก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ช่องโหว่ในระบบ EIA ที่ต้องแก้ไข

ปัญหาเชิงระบบที่เกิดขึ้นในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายมิติ ตั้งแต่การศึกษาที่ไม่ละเอียดถี่ถ้วน นำไปสู่ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้คุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ถูกลดทอนลงไปจนถึงการที่ผู้จัดทำรายงานเป็นบริษัทที่เจ้าของโครงการว่าจ้างมาเอง ซึ่งทำให้การประเมินมีลักษณะเลือกทางเลือกที่ถูกใจโครงการ โดยไม่มีมาตรการยุติการพิจารณาหากพบว่าโครงการไม่เหมาะสม มีเพียงแต่ให้กลับไปแก้ไขตัวรายงาน

รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มักเป็นเอกสารทางเทคนิคที่ซับซ้อน และเข้าใจยาก ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงและทำความเข้าใจข้อมูลได้ยาก ทำให้การมีส่วนร่วมในภายหลังเป็นเพียงสัญลักษณ์ เนื่องจากความคิดเห็นของประชาชนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของโครงการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้ 

แม้ว่าพระราชบัญญัติจะเน้นย้ำถึงรายงานการติดตามผลที่บังคับและกำหนดบทลงโทษสำหรับการไม่ส่งรายงาน แต่ระบบการติดตามผลหลังโครงการเสร็จโดยรวมมักไม่ได้รับการบังคับใช้อย่างเข้มงวดหรือพิจารณาอย่างจริงจัง ความหย่อนยานในการกำกับดูแลนี้มีส่วนสำคัญต่อการขาดความเชื่อมั่นของประชาชน

แนวคิด (ร่าง) พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่

อรยุพาระบุว่า กระบวนการฟังความคิดเห็นรายงานผลกระทบสื่งแวดล้อมไม่เพียงแต่การจัดการประชุม แต่ควรต้องเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ให้ประชาชนสามารถติดตาม ตรวจสอบ และโต้แย้งได้อย่างเป็นทางการ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อผืนป่าถูกตัดเฉือน ระบบนิเวศถูกรบกวน เราไม่อาจสร้างธรรมชาติให้กลับมาได้เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อยู่ระหว่างการปรับแก้ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงเวลาที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต้องได้รับการปฏิรูปใหม่ เพื่อให้การพัฒนารับฟังเสียงของประชาชนเป็นไปอย่างรอบด้าน  สร้างระบบที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

คงต้องจับตาดูว่าหลังการแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่ ประชาชนทุกคนซึ่งล้วนเป็นเจ้าของทรัพยากรเหล่านี้ต้องติดตาม

หมายเหตุ 

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารผู้หลงใหลในธรรมชาติ เชื่อว่าการเล่าเรื่องที่ดีสามารถเปลี่ยนมุมมองและปลุกพลังการอนุรักษ์ได้