รู้จักทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผืนป่าแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ กับเรื่องราวความหลากชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่ป่ามรดกโลก

รู้จักทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผืนป่าแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ กับเรื่องราวความหลากชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่ป่ามรดกโลก

เมื่อกล่าวถึงผืนป่าอันกว้างใหญ่ของประเทศไทย ชื่อของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คงเป็นหนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึง ในฐานะส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ด้วยพื้นที่อันกว้างขวางและสภาพป่าที่ยังคงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ทำให้ที่นี่เป็นเสมือนบ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด รวมถึงระบบนิเวศอันซับซ้อน แต่สงสัยหรือไม่ว่า ภายใต้ผืนป่าแห่งนี้ มีสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่ซุกซ่อน รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพมากมายขนาดไหน

เมื่อไม่นานมานี้ มีงานวิจัยที่จัดทำโดย คุณโดม ประทุมทอง และคุณอมรพงษ์ คล้ายเพชร จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความหลากหลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่ป่ามรดกโลกแห่งนี้ โดยใช้วิธีการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ซึ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของห้วยขาแข้งในฐานะแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญ

ผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งหนึ่งในธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย ได้รับการสำรวจความหลากหลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างละเอียด โดยงานวิจัยนี้ได้ใช้วิธีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ 50 จุดสำรวจ จุดละ 60 วัน รวมระยะเวลาการสำรวจทั้งสิ้น 3,000 วัน

จากการสำรวจได้มีการค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวม 40 ชนิด 34 สกุล 16 วงศ์ จาก 8 อันดับ อันดับที่มีการค้นพบมากที่สุดคือ อันดับสัตว์ผู้ล่าโดยพบถึง 19 ชนิด ซึ่งรวมถึงสัตว์ผู้ล่าที่สำคัญอย่างเสือไฟ, เสือดาวหรือเสือดำ, ชะมดแผงหางปล้อง, อีเห็นเครือ, และหมีหมา รองลงมาคือ อันดับสัตว์กีบคู่ พบ 8 ชนิด เช่น วัวแดง, ควายป่า, กระทิง, เลียงผาเหนือ, และเก้งหม้อ และอันดับสัตว์ฟันแทะ พบ 6 ชนิด รวมถึงกระรอกหลากสี , กระรอกปลายหางดำ, กระรอกท้องแดง, หนูหวาย และ เม่นใหญ่

ซึ่งงานวิวัยยังได้วิเคราะห์ค่าดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่ามีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทุ่งใหญ่ตะวันออกมีค่าดัชนีความหลากหลายสูงที่สุดที่ (2.347) ตามมาด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (1.990) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก (1.138) ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากจำนวนจุดตั้งกล้องในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตกที่มีน้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ

เมื่อดูความชุกชุมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับความชุกชุมมาก พบ 1 ชนิด คือ กวางป่า ระดับความชุกชุมปานกลาง พบ 4 ชนิด ได้แก่ กระทิง, เก้งเหนือ, ช้างป่า, และหมูป่า ระดับความชุกชุมน้อย พบ 4 ชนิด ได้แก่ ชะมดแผงหางปล้อง, วัวแดง, เสือโคร่ว และเสือดาว ส่วนระดับความชุกชุมน้อยมากพบมากถึง 30 ชนิด ซึ่งรวมถึงกระรอกท้องแดง, ควายป่า, และชะมดเช็ด

ส่วนการประเมินสถานภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้ง 40 ชนิดตามบัญชีแดงของ IUCN ปี 2022 พบว่ามีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ช้าง, สมเสร็จ, วัวแดง, ควายป่า, ละองหรือละมั่ง, และเสือโคร่ง

ขณะที่สถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ พบจำนวน 15 ชนิด เช่น กระทิง, กวางป่า, ลิงเสน, ลิงแสม, ลิงกังเหนือ และนากเล็กเล็บสั้น และสถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุด พบจำนวน 19 ชนิด เช่น เก้งเหนือ, หมูป่า, กระแตเหนือ, หมาจิ้งจอก และอีเห็น เป็นต้น

ในส่วนของสถานภาพเชิงการอนุรักษ์ในประเทศไทย ตามรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2560 พบว่ามีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง พบจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ วัวแดง, ควายป่า, ละองหรือละมั่ง และสมเสร็จ สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ พบจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ เสือดาวหรือเสือดำ, เสือโคร่ง, หมีควาย, หมีหมา, ลิงเสน, และกระทิง

โดยการวิจัยเน้นว่าการใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติมีประสิทธิภาพสูงในการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสัตว์ผู้ล่าและสัตว์กีบคู่ ซึ่งเป็นชนิดเหยื่อที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศ กวางป่าซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความชุกชุมมากในพื้นที่ นับเป็นเหยื่อหลักของสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่งและเสือดาว

อย่างไรก็ตามงานวิจัยระบุว่า วิธีนี้อาจไม่ครอบคลุมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กบางชนิด เช่น กระรอกบิน ค้างคาว และหนูผี ดังนั้น อาจต้องมีการให้สำรวจติดตามเพิ่มเติมและประเมินข้อมูลประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยการใช้กล้องดักถ่ายภาพร่วมกับวิธีการสำรวจอื่น ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมและแม่นยำ

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารผู้หลงใหลในธรรมชาติ เชื่อว่าการเล่าเรื่องที่ดีสามารถเปลี่ยนมุมมองและปลุกพลังการอนุรักษ์ได้