พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง แหล่งเรียนรู้เรื่องราวผืนป่าใหญ่

พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง แหล่งเรียนรู้เรื่องราวผืนป่าใหญ่

พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง’ แหล่งเรียนรู้เรื่องราวผืนป่าใหญ่

ณ บริเวณทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตรงที่ตั้งของด่านตรวจทุ่งแฝก เราจะพบอาคารสีขาวขนาดใหญ่หลังคาโค้งมนตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ซึ่งเป็นจุดที่ผู้เดินทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะต้องแวะจ่ายค่าธรรมเนียมก่อนเข้าพื้นที่อนุรักษ์

แต่อาคารใหญ่หลังนั้น หาได้เป็นเพียงที่ขายบัตรผ่านทางเพียงอย่างเดียว พื้นที่ภายในยังเป็นที่ตั้งของ ‘พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง’ ที่ซึ่งเป็นห้องเรียนให้เราได้ทำความรู้จักสภาพป่า สิ่งมีชีวิตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพิ่งก่อสร้างเสร็จและเปิดให้เข้าชมเมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

ภายใน ‘พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง’ มีอะไรบ้าง

พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง
พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง

พลันเมื่อเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ ก็จะพบโซนการจัดแสดงเรื่องราวของผืนป่า สัตว์ป่า และงานอนุรักษ์ ต่างๆ เริ่มตั้งแต่โมเดลผืนป่าห้วยขาแข้งขนาดย่อม ที่แสดงให้เห็นว่าจากจุดที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ยังมีผืนป่าเขียวทึบขนาดมหึมาอยู่เบื้องหลัง และชวนผู้ชมไปรู้จักป่าประเภทต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่เขตภูมิศาสตร์ ทั้งเต็งรัง เบญจพรรณ ดิบแล้ง ป่าไผ่

มีมุมมีเรียกว่า ‘แอบฟังเสียงสัตว์’ ซึ่งไม่ได้จัดแสดงรูปสัตว์ตัวนั้นให้เห็น แต่จะให้ผู้เข้าร่วมกดปุ่มเพื่อฟังและลองเดาว่า เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นของสัตว์ชนิดใด เป็นตัวอย่างของกิจกรรมที่จะพบด้านใน

ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีห้องจัดฉายวีดีทัศน์ ซึ่งมีภาพยนตร์อนิเมชันขนาดสั้นว่าด้วยเรื่องความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ฉายให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ในระบบนิเวศให้เข้าใจแบบง่ายๆ และดูสนุก

แต่จุดเด่นๆ ของพิพิธภัณฑ์คงหนีไม่พ้น โครงกระดูกสัตว์ป่า มีทั้งช้าง วัวแดง และควายป่า ตั้งโชว์อยู่ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งในประเทศและในระดับสากล แต่เราก็ยังสามารถพบสัตว์เหล่านี้ได้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยเฉพาะควายป่า ซึ่งฝูงสุดท้ายของประเทศที่มีอยู่ราวๆ 40-50 ตัวสุดท้าย

พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง
พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง

และแน่นอนว่า สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ เรื่องราวของคุณสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง วีรบุรุษแห่งผืนป่ามรดกโลก รวมถึงร้านจำหน่ายของที่ระลึก ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะเสื้อยืดลายต่างๆ ที่ออกแบบไว้อย่างสวยงาม

สำหรับพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง จะประกอบด้วยโซนต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ห้วยขาแข้งต้นแบบมรดกโลก
  • หลากหลายชนิดพันธุ์บ้านแสนสุขของสรรพสัตว์
  • วัฏจักรพึ่งพาสัตว์และป่า
  • รักษ์ป่ากำเนิดต้นน้ำ
  • ฉันมีหน้าตาเป็นอย่างไรกันนะ
  • พิพิธภัณฑ์โครงกระดูก

โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์คอยพาเดินชม และอธิบายเรื่องราวในโซนต่างๆ ให้เราทราบข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนทราบมาว่า ตอนนี้พิพิธภัณฑ์กำลังอยู่ในช่วงการออกแบบและต่อเติมเนื้อหา มีทีมงานเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมออกแบบเนื้อหาและจัดวางแผนผังในการต่อเติมครั้งนี้ด้วย

ซึ่งในอนาคต พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะประกอบด้วยเรื่องราวที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ส่วนจะมีอะไรเพิ่มเติมเข้ามานั้น ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป (เดิมพิพิธภัณฑ์ก่อสร้างเมื่อปีงบประมาณ 2560)

พิพิภัณฑ์ห้วยขาแข้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ให้บริการตั้งแต่เวลา 09:00 – 16:00 น.

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตอนนี้ที่พิพิธภัณฑ์ห้วยขาแข้ง กำลังมีการจัดแสดงนิทรรศการสานศิลป์สืบไพร ประกอบด้วยการแสดงผลงานศิลปะหลายแขนง ทั้งงานจิตรกรรม และประติมากรรม จากศิลปินหลายสิบชีวิต ร่วมกันสร้างงานศิลปะเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า

นิทรรศการสานศิลป์สืบไพร เปิดให้เข้าชมกันยาวๆ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

นอกจากนี้ ผลงานศิลปะที่จัดแสดงทั้งหมดยังเปิดจำหน่ายให้ผู้สนใจสามารถจับจองเป็นของ (มอบให้หลังสิ้นสุดวันแสดงนิทรรศการ) และรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จะมอบให้กับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย สำหรับใช้ในกิจกรรมของโครงการ

รายละเอียดเกี่ยวกับนิทรรศการสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก เต็งรัง ห้วยขาแข้ง หรือโทรสอบถามที่หมายเลข 093-146-9537

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม