ศาลฎีกา พิพากษาลงโทษจำคุก “เปรมชัย กับพวก” คดีล่าเสือดำ

ศาลฎีกา พิพากษาลงโทษจำคุก “เปรมชัย กับพวก” คดีล่าเสือดำ

ศาลฎีกา พิพากษาลงโทษจำคุก “เปรมชัย กับพวก” คดีล่าเสือดำในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าฯ พร้อมชดใช้เงิน 2 ล้านบาทและดอกเบี้ยแก่กรมอุทยานฯ

.
โดยคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดทองผาภูมิ เป็นโจทก์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ร้อง (ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย)

นายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่ 1
นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2
นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3
นายธานี ทุมมาส จำเลยที่ 4

ความผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุธรณ์ภาค 7 ซึ่งพิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกคนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 20,000 บาท

ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากเสือดำซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 10,000 บาท

ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งซากไก่ฟ้าหลังเทา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 10,000 บาท

ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฐานร่วมกันล่าเสือดำซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุกคนละ 1 ปี

เมื่อรวมกับโทษจำคุก 3 เดือน ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับโทษจำคุก 6 เดือนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต และโทษจำคุก 4 เดือนของจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานพยายามล่ากระรอกซึ่งเป็นสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดทองผาภูมิ) คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 14 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 17 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี 21 เดือน โทษจำคุกจำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาสรุปได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันมีซากเสือดำที่ร่วมกันฆ่าไว้ในครอบครองและสถานที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกรรมเดียว โดยให้การกำหนดโทษเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุธรณ์ภาค 7

ส่วนความผิดฐานร่วมกันรับไว้โดยประการใดๆ ซึ่งซากไก่ฟ้าหลังเทาซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สงนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 55 นั้น ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ ได้มี พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ. เดิม ซึ่งตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไม่ได้บัญญัติการกระทำความผิดตามกฎหมายเดิมในมาตรา 55 นั้น เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยทั้งสี่จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สงนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 55 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง

ดังนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงยังคงมีความผิดฐานร่วมกันมีซากไก่ฟ้าหลังเทาซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ ส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ของฝ่ายจำเลยฟังไม่ขึ้น

ทั้งนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุธรณ์ภาค 7 เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลอุธรณ์ภาค 7

ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสี่ในความผิดตาม พ.ร.บ.สงนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 55

สำหรับค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสี่ต่องร่วมกันรับผิดชดใช้ให้แก่กรมอุทยานฯ ผู้ร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2561 ถึงวันที่ 10 เม.ย. 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

อนึ่ง อัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโโยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ผู้ร้องขอ

นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ ส่งผลในส่วนของคดีอาญามีการลงโทษจำเลยทั้งสี่ ดังนี้

จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 14 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 17 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี 21 เดือน

ที่มา กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม