รำลึกถึง สืบ(ยศ) นาคะเสถียร ตอนที่ 4 ทางเลือกสุดท้าย คือ ห้วยขาแข้ง (จบ)

รำลึกถึง สืบ(ยศ) นาคะเสถียร ตอนที่ 4 ทางเลือกสุดท้าย คือ ห้วยขาแข้ง (จบ)

สืบ นาคะเสถียร ได้สร้างความประหลาดใจให้กับหลายๆ คน เมื่อตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตอนปลายปี พ.. 2532 อันเป็นช่วงเวลาที่มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรป่าไม้รุนแรงมากเนื่องจากเป็นระยะเวลาต่อเนื่องของการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ (ป่าบก) เมื่อต้นปี พ.. 2532 จากการเกิดอุทกภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในภาคใต้ (กระทูน) ตอนปลายปี พ.. 2531

ในฐานะหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบจึงต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น ทั้งการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ ด้วยกำลังคนและงบประมาณที่จำกัด ต้องรับความกดดันจากรอบด้านทั้งจากทางราชการและผู้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ สืบต้องหาทางออก ด้วยการเลือกห้วยขาแข้งเป็นสถานที่สุดท้ายในการมีชีวิต ด้วยปืนที่ขอคุณพ่อมาใช้ระหว่างการทำงาน ในค่ำคืนของวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2533

เจ้าหน้าที่เขตห้วยขาแข้งไปพบว่าสืบได้เสียชีวิตในบ้านพัก ตอนเช้าของวันที่ 1 กันยายน ทุกคนตกใจจนแทบทำอะไรไม่ถูกแต่ก็สามารถติดต่อแจ้งให้ทางครอบครัวญาติที่จังหวัดปราจีนบุรีและผู้ใกล้ชิดทราบได้และตกลงให้มีการนำร่างสืบไปประกอบพิธีรดน้ำศพและสวดอภิธรรมตามประเพณีที่วัดใหม่จันทรารามในตัวเมืองอุทัยธานีในตอนเย็น

คุณพ่อสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีพร้อมด้วยญาติ เดินทางไปถึงวัด ตอนค่ำของวันเดียวกัน และแจ้งความประสงค์จะนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่ปราจีนบุรีในวันรุ่งขึ้น แต่ทางนายไพโรจน์ สุวรรณกร อธิบดีกรมป่าไม้และอีกหลายๆ คนได้ขอให้จัดพิธีศพที่กรุงเทพฯ จึงได้เจรจาปรึกษาหารือกันจนเช้าวันรุ่งขึ้น คุณพ่อสลับจึงยอมให้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อที่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน 

ข่าวการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กลายเป็นข่าวใหญ่ที่แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว จากการเสนอข่าวทางสื่อมวลชนที่นำเรื่องราวชีวิตการทำงานของสืบมาเสนออย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อมีการนำร่างสืบจากจังหวัดอุทัยธานีเข้ากรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน จึงมีคนในท้องที่ติดตามมาส่งด้วยขบวนรถที่ยาวเหยียด ที่วัดพระศรีฯ ก็มีบุคคลสำคัญในวงการอนุรักษ์ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปรอรับอยู่ที่วัดอย่างล้นหลามและนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ ในการสวดพระอภิธรรมศพในวันที่ 7-8 กันยายน 2533 และพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ 9 กันยายน 2533
.

.
เรื่องราวการทำงานอย่างทุ่มเทและเสียสละของสืบ ทำให้ผู้คนได้ทราบถึงความยากลำบากในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้จำนวนมหาศาลของชาติด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่และทรัพยากรป่าไม้ที่จำเป็นต้องรับผิดชอบ จึงเกิดความเห็นอกเห็นใจและได้ส่งน้ำใจมาช่วยเหลือในช่วงที่มีพิธีศพเป็นจำนวนมาก 

ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สัตว์ป่าในขณะนั้น (ประพัฒน์ แสงสกุล) ต้องเปิดห้องทำงานส่วนตัว ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทำการรวบรวมและจัดทำบัญชีน้ำใจที่หลั่งไหลเข้ามาทางไปรษณีย์ทั้งในรูปธนาณัติและเงินสดที่ใส่มาในซองจดหมายเป็นจำนวนมากเพื่ออุทิศให้กับมรณะกรรมของสืบและหวังจะให้ทางราชการใช้เป็นกองทุนสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ต่อไป เป็นการจุดประกายและก่อให้เกิดมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นหลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพ เพียง 10 วัน
.

คำฝาก… จากสืบ

ในค่ำคืนสุดท้ายที่ห้วยขาแข้ง หลังจากที่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะจบชีวิตตนเอง สืบได้เขียนคำอำลาและคำฝากถึงผู้ร่วมงานหลายๆ คนที่เคยร่วมงานกันมา ให้ช่วยเป็นธุระจัดการในบางสิ่งบางอย่างที่ตนเองไม่สามารถทำได้อีกแล้วต่อไปด้วย และมีอยู่หนึ่งแผ่นตามที่กล่าวในตอนต้นว่าเป็นการฝากคืนสไลด์แก่ผู้เขียนรวมอยู่ด้วย 

ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่กี่วันก็ได้มีผู้นำสไลด์จำนวนหนึ่งมาวางไว้บนโต๊ะทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าเมื่อตรวจดู จึงเห็นว่าเป็นสไลด์เกี่ยวกับภาพกระทิงที่ทุ่งใหญ่ซึ่งเคยมอบให้สืบนำไปใช้ในการจัดทำเอกสารนั่นเอง ทำให้คิดได้อีกนัยหนึ่งว่านอกจากเป็นการฝากคืนแล้ว น่าจะเป็นการฝากให้ช่วยสานต่อเกี่ยวกับการเสนอพื้นที่มรดกโลกของทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งให้สำเร็จต่อไปด้วย 

ซึ่งเรื่องนี้ทางคุณเบลินด้าและทีมงานได้ดำเนินการต่อจนสำเร็จเรียบร้อย เป็นผลให้ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้มีพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก เมื่อปลายปีพ..2534 ภายหลังการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร ประมาณ 1 ปี
.

 


ผู้เขียน นายจิระ จินตนุกูล เกิดเมื่อเดือนมกราคม 2487 และศึกษาระดับประถม / มัธยมที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ปริญญาตรี (วน..) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (..2510)
ปริญญาโท (M.S.) จาก University of Tennessee U.S.A. (..2517)
นักกีฬาโปโลน้ำทีมชาติไทย (..2508 – 2514)
รับราชการ (..2510 – 2547)
หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมเผยแพร่ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า
ผู้อำนวยการส่วนวิจัยสัตว์ป่า สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้
ผู้อำนวยการส่วนวิจัยเศรษฐกิจ และพัฒนาการจัดการป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้